รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – ผลสำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯ และเยอรมนีที่นำออกเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (25 มี.ค.) ชี้ว่าคนส่วนใหญ่กำลังไม่เชื่อถือไว้วางใจ เฟซบุ๊ก ในเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ขณะที่บริษัทเองก็เร่งเดินหน้าแก้เกม โดยเข้าซื้อหน้าโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ในอังกฤษและอเมริกา เพื่อขออภัยผู้ใช้
เฟซบุ๊กกำลังต้องเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงในเรื่องการได้รับความเชื่อถือลดน้อยลง ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันไม่ถึงครึ่ง ที่เชื่อถือไว้วางใจว่า เฟซบุ๊ก เคารพปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจของ รอยเตอร์/อิปซอส ที่นำออกเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (25)
ขณะเดียวกันโพลที่เผยแพร่ทาง บิลด์ อัม ซอนน์ทาก หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ที่ขายดีที่สุดของเยอรมนีก็พบว่า 60% ของคนเยอรมันกลัวว่า เฟซบุ๊ก และเครือข่ายสื่อสังคมอื่น ๆ กำลังสร้างผลกระทบในทางลบต่อระบอบประชาธิปไตย
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาขออภัย “การทำลายความเชื่อถือไว้วางใจ” ในโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ออปเซอร์เวอร์, ซันเดย์ เทเลกราฟ ในอังกฤษ และนิวยอร์กไทมส์, วอชิงตันโพสต์, วอลล์สตรีทเจอร์นัล ในสหรัฐฯ
“เรามีความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้องคุ้มครองข้อมูลของพวกคุณ ถ้าเราไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่สมควรได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ” นี่เป็นข้อความส่วนหนึ่งของโฆษณา ซึ่งเป็นข้อความเรียบ ๆ บนหน้ากระดาษสีขาว และมีโลโก้ของเฟซบุ๊กรูปเล็ก ๆ
ในโฆษณานี้ ซัคเคอร์เบิร์กยอมรับว่า แอปฯ ตัวหนึ่งที่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยผู้หนึ่งจัดทำขึ้นได้ “ทำให้ข้อมูลเฟซบุ๊กของผู้คนจำนวนนับล้าน ๆ คนเกิดการรั่วไหลในปี 2014”
“นี่เป็นการทำลายความเชื่อถือไว้วางใจกัน และผมเสียใจที่เราไม่ได้ทำอะไรให้มากกว่านี้ในตอนนั้น” ซัคเคอร์เบิร์กกล่าว ซึ่งเป็นการย้ำการขอโทษขอโพยผู้ใช้ที่เขาพูดเป็นครั้งแรกระหว่างการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นบริษัทสื่อสังคมรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังพยายามกอบกู้ชื่อเสียงทั้งในหมู่ผู้ใช้, ผู้ลงโฆษณา, สมาชิกรัฐสภา, ตลอดจนนักลงทุน จากความบกพร่องผิดพลาดที่ปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้ 50 ล้านคนหลุดไปอยู่ในมือของ เคมบริดจ์ อนาลิติกา บริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กตกลงไปถึง 14% นั่นคือจากที่ยืนอยู่ระดับ 176.80 ดอลลาร์ต่อหุ้นในวันจันทร์ (19) ก็หล่นฮวบลงเหลือราว ๆ 159.30 ดอลลาร์ในคืนวันศุกร์ (23) เท่ากับมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นตัวนี้สูญหายไปมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันแฮชแทก #DeleteFacebook ที่รณรงค์เรียกร้องให้เลิกใช้เฟซบุ๊ก กำลังมีการเผยแพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ ส่วน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท ถูกบีบคั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ไปให้ปากคำในการไต่สวนสาธารณะของรัฐสภา
ซัคเคอร์เบิร์ก และ เชอรีล แซนเบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊ก แถลงในสัปดาห์ที่แล้วว่า การฟื้นฟูความเชื่อถือไว้วางใจขึ้นมาใหม่คือเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดของพวกเขา “พวกเราทราบดีว่านี่คือประเด็นปัญหาความเชื่อถือไว้วางใจ เราทราบดีว่านี่คือชั่วขณะอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับบริษัทของเรา” แซนเบิร์กกล่าวเช่นนี้กับโทรทัศน์ ซีเอ็นบีซี ในวันพฤหัสบดี (22)
โพลชี้อเมริกันเชื่อถือ “เฟซบุ๊ก” น้อยกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ
ผลโพลของรอยเตอร์/อิปซอส ซึ่งจัดทำระหว่างวันพุธ (21) จนถึงวันศุกร์ (23) ยังค้นพบว่า ชาวอเมริกันที่บอกว่าเชื่อถือไว้วางใจ เฟซบุ๊ก นั้น มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ไว้วางใจบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ซึ่งก็เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล อิงค์, กูเกิล ของ อัลฟาเบต อิงค์, แอมะซอน อิงค์ ดอทคอม, ไมโครซอฟท์ คอร์ป, และ ยาฮู
กล่าวคือ มีชาวอเมริกันราว 41% ที่บอกว่าเชื่อถือไว้วางใจว่า เฟซบุ๊ก เคารพปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่มุ่งพิทักษ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เปรียบเทียบกับจำนวน 66% ที่ระบุว่าเชื่อใจแอมะซอน, 62% ที่ไว้วางใจกูเกิล, 60% สำหรับไมโครซอฟท์ และ 47% สำหรับยาฮู
การสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์/อิปซอสครั้งนี้ กระทำทางออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษ ในพื้นที่ตลอดทั่วทั้งสหรัฐฯ โดยที่มีผู้ตอบแบบสำรวจกลับมา 2,237 คน และมีค่าช่วงแห่งความเชื่อมั่น (credibility interval) อยู่ที่ 2%
สำหรับโพลของเยอรมันที่ตีพิมพ์โดยบิลด์ จัดทำโดย แคนทาร์ เอมนิด (Kantar EMNID) กิจการหนึ่งในเครือ ดับเบิลยูพีพี บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีกิจการโฆษณาระดับโลก ผลสำรวจออกมาว่า มีผู้ตอบคำถามเพียง 33% ที่เห็นว่าสื่อสังคมมีผลในทางบวกต่อประชาธิปไตย ขณะที่ 60% เป็นผู้ที่เชื่อว่ามันมีผลในทางลบ
ผู้ใช้จะพากันตีจาก “เฟซบุ๊ก” ไหม?
เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดฟันธงลงไปได้ว่าความไม่ไว้วางใจนี้จะทำให้ผู้คนพากันยกเลิกพากันตีจากเฟซบุ๊กหรือไม่
เดบรา วิลเลียมสัน นักวิเคราะห์แห่งบริษัท อีมาร์เก็ตเตอร์ กล่าวให้ความเห็น พร้อมกับยกตัวอย่างว่า พวกลูกค้าของแบงก์หรือของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าจะตัดสินใจถอนตัวเลิกใช้บริการหรือสินค้าของธนาคารหรือบริษัทนั้น ๆ เสมอไป หลังจากสูญเสียความศรัทธาเชื่อถือแล้ว
“มันยังเป็นเรื่องยากลำบากมากกว่าด้วยซ้ำในเชิงจิตวิทยา ที่จะเลิกราตีจากแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่แฝงฝังเข้าไปในชีวิตของผู้คนเป็นอย่างดีเสียแล้ว” เธอบอก
เหตุผลประการหนึ่งที่เฟซบุ๊กและบริษัทอินเทอร์เน็ตรายอื่น ๆ พากันเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้ ก็คือ เพื่อส่งให้แก่พวกผู้ลงโฆษณา สำหรับป้อนโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ไปถึงผู้คนซึ่งน่าจะต้องการใช้มากที่สุด
เฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ใช้ที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ (active users) เดือนละกว่า 2 ,000 ล้านรายนั้น รายรับที่บริษัททำได้ 40,600 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว แทบทั้งหมดมาจากค่าลงโฆษณา
ผลโพลครั้งนี้พบว่า ผู้คนจำนวนมากมีทัศนะในทางลบต่อการโฆษณา “แบบมีเป้าหมายชัดเจน” เหล่านี้
ประมาณ 63% บอกว่า ในอนาคต พวกเขาปรารถนาที่จะเห็น “การโฆษณาแบบมีเป้าหมายชัดเจน ลดน้อยลงไป” ขณะที่ 9% ตอบว่าต้องการที่จะเห็นมากขึ้น เมื่อถูกถามโดยให้เปรียบเทียบโฆษณาแบบนี้กับรูปแบบการโฆษณาแบบเดิมๆ 41% กล่าวว่า โฆษณาแบบมีเป้าหมายชัดเจนเป็นสิ่งที่ “เลวกว่า” แต่ก็มี 21% ตอบว่า “ดีกว่า”
“ฉันคิดว่าพวกเขามีข้อสมมุติฐานมากมายเลยซึ่งมันไม่จริงไม่ถูกต้อง” เป็นคำกล่าวของผู้ตอบแบบสอบถามนี้คนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า มาเรีย เคอร์แรน วัย 56 ปี พำนักอยู่ใกล้ ๆ เมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์เพื่อติดตามผล
“อย่างเช่นถ้าฉันแสดงความสนใจในการรับประทานสิ่งที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ฉับพลันนั้นเองโฆษณาทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย หรือวิธีลดน้ำหนัก ฉันรู้สึกว่ามันท่วมท้นไปหมดจนอึดอัด” เธอบอก
เคอร์แรนกล่าวว่า เธอทราบดีว่า แอมะซอน กิจการขายปลีกออนไลน์ ก็รวบรวมข้อมูลของเธอเพื่อทำการตลาดแบบมีเป้าหมายชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่แอมะซอนทำให้รู้สึกถูกรบกวนน้อยกว่าเนื่องจากมันเป็นเว็บไซต์สำหรับการช้อปปิ้ง ไม่ใช่สถานที่สำหรับการสนทนาอย่างเป็นการส่วนตัว
ตรงกันข้ามกับผู้ตอบแบบสอบถามอีกคนหนึ่งที่ชื่อ คามาล กรีน วัย 26 ปี ซึ่งบอกว่าเขาชอบโฆษณาแบบมีเป้าหมายชัดเจนมากกว่าโฆษณาแบบเดิม ๆ เนื่องจากโฆษณาแบบนี้ให้บริการประการหนึ่ง ได้แก่การนำเขาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เขาต้องการ
“ก่อนหน้านี้สักพักนึงมาแล้ว ผมกำลังมองหาถุงมือชนิดพิเศษสำหรับการทำงานของผม” กรีนบอก เขาเป็นพนักงานดับเพลิงที่เมืองดีทรอยต์
“ผมใส่เรื่องนี้เอาไว้ในคาร์ต แอมะซอนของผมแล้วก็ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่แล้วในเวลาต่อมา มีโฆษณาป็อปอัปขึ้นมาบน … เฟซบุ๊ก และผมก็รู้สึกแบบ ‘เจ๋งจริง ๆ’ มันทำให้ผมนึกได้ ผมก็คลิกมันและซื้อมัน”
ผู้ใหญ่ที่ตอบคำถามส่วนใหญ่แล้วกล่าวว่า พวกเขาอยากให้รัฐบาลแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำกับตรวจสอบอุตสาหกรรมนี้เกี่ยวกับการจัดการกับข้อมูลของผู้ใช้ โดยผลโพลคราวนี้ออกมาว่า 46% ของคนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขาต้องการเห็นกฎหมายกฎกติกาต่าง ๆ จากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ 17% บอกว่าต้องการให้มีน้อยลง อีก 20% คิดว่าไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงจากสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ และอีก 18% ตอบว่าพวกเขาไม่ทราบ.
ที่มา : mgronline.com/around/detail/9610000029755