นับเป็นการเปลี่บนแปลงเกมการตลาดครั้งใหญ่! ของ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถและโบรกกอร์ประกันวินาศภัยในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ต้องลงมือ “รีแบรนด์” ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ ตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ให้เหลือเพียง “เงินติดล้อ” เท่านั้น
สาเหตุของการลุกมารีแบรนด์ครั้งใหญ่ เกิดจากผู้บริโภค “มีความสับสนในแบรนด์” ของศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ และเข้าใจผิด กับบริษัทอีกแห่งที่ให้บริการสินเชื่อบ้าน รถที่ดินแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ”
ที่มาของเรื่องนี้ มาจากธนาคารกรุงศรีฯ เข้าซื้อกิจการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จากกลุ่มบริษัท “เอไอจี” หรือ อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน และธุรกิจเข้ามาอยู่ในอาณาจักรแบงก์เมื่อปี 2554
แต่จากการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างผู้ใช้สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศจำนวน 57% พบว่า ยังมีเข้าใจผิดคิดว่าเงินติดล้อมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นบริษัทเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายอื่นที่ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของบริษัทฯ
หลังจากนั้นในปี 2560 บริษัท เงินติดล้อทุ่มงบประมาณด้านการสื่อสาร เพื่อทำการปรับโฉมแบรนด์ (Rebranding) ปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ของแบรนด์เงินติดล้อ ลดขนาดคำว่า “ศรีสวัสดิ์ให้เล็กลง” เปลี่ยนตำแหน่ง “โลโก้” ให้อยู่ด้านล่าง เพิ่ม “ไอคอนใหม่” มาจากรูปแบบธนบัตร 2 ใบกำลังหมุน สื่อถึงแนวคิด ความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว และโปร่งใส เป็นแสงแห่งความหวังที่ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า พร้อมกับสโลแกนใหม่ “ชีวิตหมุนต่อได้”
แต่ก็ยังสร้าง “ความสับสน” ให้กับลูกค้าและประชาชนส่วนใหญ่เรียกแบรนด์เงินติดล้อว่า “ศรีสวัสดิ์” เห็นได้จากผลสำรวจในปี 2560 พบผู้ใช้สินเชื่อทะเบียนรถถึง 24% ยังมีความเข้าใจผิดด้านแบรนด์ และจากสถิติยังพบว่ามี “กลุ่มลูกค้า” ของ “บริษัทสินเชื่อรายอื่น” ที่ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของบริษัทฯ เข้าใจผิดติดต่อเข้ามาที่ Call Center เงินติดล้อ จำนวน 400-500 คนต่อเดือน และยังมีผู้เข้าใจผิดเข้ามาติดต่อที่เงินติดล้อเฉลี่ยทุกสาขาทั่วประเทศมากกว่า 1,000 คนต่อเดือน
จึงเป็นที่มาของการปรับแบรนด์ครั้งใหญ่ (Rebranding) ครั้งใหญ่ โดยตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกจากแบรนด์ โดยปรับโลโก้เหลือเพียงคำว่าเงินติดล้อ และไอคอนสัญลักษณ์รูปเงินหมุน พร้อมกับออกแคมเปญภาพยนตร์โฆษณาชุด “ขอโทษ” เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มลูกค้าพร้อมกับตอกย้ำสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ “เงินติดล้อ” อีกด้วย
ที่ผ่านมา บริษัทฯ ต้องควักงบการตลาดไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ใช้สื่อสารการตลาด (Marketing Communications) เพื่อสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ (Brand Awareness) ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อป้ายโฆษณากลางแจ้ง กิจกรรมส่งเสริมการตลาด สื่อสาขา และ ไลน์ และยังต้องมีหน้าเว็บไซต์ไว้ปัญหาแก้ความสับสนด้านแบรนด์มากมาย พร้อมตั้มรายการให้ค้นหา “อย่าสับสน” เรียงคู่กับสินค้าและบริการทางการเงินด้วย
กิจกรรมเหล่านั้นส่งผลให้การรับรู้ด้านแบรนด์เงินติดล้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิม 20% เพิ่มขึ้นเป็น 95% และจากการสำรวจกลุ่มลูกค้าและผู้ใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ พบว่าแบรนด์ “เงินติดล้อ” เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วย
ถึงแม้จะตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออกจากแบรนด์แล้วก็ตาม แต่ยังคงเป็นเจ้าของและสามารถใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้แบรนด์ “เงินติดล้อ” เป็นประโยชน์ที่กลุ่มลูกค้าจะได้รับความสะดวกในการพิจารณาเลือกรับบริการสินเชื่อทะเบียนรถทุกประเภท หรือผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยจากบริษัทชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่มาของความสับสนชื่อแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เกิดจาก “ผู้บุกเบิกแบรนด์คือตระกูล “แก้วบุญตา” โดยมี “เสี่ยฉัตรชัย แก้วบุญตา” เจ้าของธุรกิจอู่ซ่อมรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีเครือข่าย “ลูกค้า” ในมือที่นำรถยนต์มาใช้บริการที่อู่ประจำ และมักเจอปัญหาการขอกู้เงินจากธนาคาร จึงเห็นโอกาสและเปิดธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน
ส่วนแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เสี่ยฉัตรชัยได้มานั้น ชื่อมารดา “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุญตา” มาตั้ง พร้อมขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดสินเชื่อรถแลกเงิน
เมื่อธุรกิจโตจนเตะตา! ธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่าง “เอไอจี” หรือ อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป ในเครือของเอไอเอ มาขอเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มศรีสวัสดิ์และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด สร้างแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำตลาดทั่วประเทศ
กระทั่งปี 2552 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส กระทบธุรกิจเอไอจีจนขาดสภาพคล่อง จึงต้องตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business ออกไป รวมถึง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” และธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ขณะนั้นกลุ่ม “จีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งคอร์ปอเรชั่น” (GECIH) ถือหุ้นใหญ่เข้ามาซื้อกิจการต่อ 100% ตระกูล “แก้วบุญตา” พยายามเจรจาซื้อธุรกิจและแบรนด์กลับคืนจากเอไอจีเช่นกัน แต่ไม่สำเร็จ
เมื่อซื้อคืนไม่ได้ ก็สร้างเองซะเลย! ด้วยการตั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 เข้ามาทำธุรกิจรับจ้างเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่ง “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” มีสโลแกน “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” เพื่อเข้าแข่งและทวงคืนฐานลูกค้า สร้างอาณาจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การใช้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นตัวเดินเกมเช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีฯ จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน! และกลายเป็นชนวนเหตุแห่งการฟ้องร้องกันในที่สุด เมื่อกลุ่มจีอีฯ ยื่นฟ้องต่อศาลบังคับให้บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ ยกเลิกการใช้แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” ทำตลาด ทว่าสุดท้าย ศาลไม่ได้มีคำสั่งตามคำร้องขอของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นชื่อทั่วไปที่สามารถนำมาจดจัดตั้งบริษัทได้ ขณะที่ตัวแบรนด์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ ไม่ได้หยิบคำว่า “ศรีสวัสดิ์” เข้ามาอยู่ในโลโก้และแบรนด์
ปัจจุบัน “เงินติดล้อ” มีสาขาให้บริการสินค้าและประกันวินาศภัยกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” มีสาขาให้บริการกว่า 2,400 สาขาทั่วประเทศ ในปี 2559 เงินติดล้อมีรายได้รวมกว่า 4,700 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มศรีสวัสด์มีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท.