“เทพนักงาน-คู่ค้า” ปมร้อน กรณีศึกษา “สื่อสารล้มเหลว” หลังดีล Grab-Uber มีแต่ข่าวลบ

ภายหลังจากข่าว Grab เข้าซื้อกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Uber ถูกประกาศ ปรากฏ Uber ถูกมองว่ากำลังอยู่ใน น้ำร้อน” เพราะรายงานหลายฉบับระบุถึงพนักงานและคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการ สะท้อนว่า Uber กำลังอ่วมพิษ “การสื่อสารภายในองค์กรที่ผิดพลาด” ซึ่งอาจจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากสำหรับวงการพีอาร์องค์กร

รายงานจากหลายสื่อชี้ว่า พนักงานของ Uber ได้รับคำสั่งให้ย้ายสิ่งของออกไปและรอดำเนินการเรื่องเงินชดเชย โดยวิดีโอภาพพนักงาน Uber กำลังเคลื่อนย้ายสิ่งของ เกิดรั่วไหลแพร่กระจายสู่โลกออนไลน์ แม้ว่าแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ โฆษกของ Uber จะปฏิเสธว่าไม่มีการลอยแพพนักงาน และเสริมว่า Uber รวมถึง Grab พยายามมุ่งมั่นทำให้พนักงานของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

โฆษกของ Grab เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าพนักงาน Uber รวมทั้งผู้บริหารในสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับการเสนอให้ทำงานต่อที่ Grab ในขณะที่พนักงานของ Uber ที่ทำงานในสำนักงานนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยังคงทำงานใน Uber ต่อไป 

หลังจากมีรายงานข่าวนี้ Grab ชี้แจงว่าพนักงานของ Uber หลายรายไม่ได้รับการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากบริษัทไม่มีข้อมูลการติดต่อ

ชะตากรรมของพนักงาน Uber ยังเป็นข่าวให้ตื่นเต้นได้อีก เมื่อมีรายงานหลายฉบับระบุว่าหลายบริษัทแห่ติดต่อพนักงาน Uber ในช่องทางดิจิทัล และเสนอโอกาสในการทำงานในบริษัทใหม่ โดยล่าสุดพบโพสต์บนเครือข่ายสังคมคนทำงาน LinkedIn มีการสร้างทางลัดหรือ shoutout ให้ผู้สนใจสามารถติดต่อกับพนักงาน Uber เพื่อเสนองานใหม่ได้เร็วขึ้น

ไม่แค่พนักงาน หลายรายงานยังแสดงผลกระทบแง่ลบเรื่องพันธมิตรด้วย เช่น รายงานของสื่อสิงคโปร์ที่ระบุว่าพันธมิตรของ Uber กำลังได้รับผลกระทบจากข่าวการควบรวมกิจการ เช่น พันธมิตรรถเช่า Lion City Rentals (LCR) ที่ประกาศในสื่อสังคมออนไลน์ว่าบริษัทและ UberHUB จะถูกปิดจนกว่าจะมีข้อมูลประสานงานเพิ่มเติม โดย LCR เป็นบริษัทในเครือของ Uber ซึ่งบริษัทรถแท็กซี่ ComfortDelGro มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 51%

บริษัทรถเช่า LCR เปิดเผยว่า ยังคงต้องการความชัดเจนมากขึ้นจากการควบรวม Grab และ Uber ซึ่งคำชี้แจงนี้สะท้อนว่าทั้ง Uber และ Grab ไม่มีการสื่อสารภายในที่ชัดเจน

การควบรวมกิจการนี้ยังส่งผลกระทบถึงพันธมิตรบริการ UberEATS จากโครงการเอาใจลูกค้า LiveUp ของ Lazada ซึ่งลูกค้าจะได้รับส่วนลดจากบริการ เช่น Lazada, RedMart, Netflix, Taobao Collection, Uber และ Uber Eats แต่เมื่อการควบรวมกิจการเกิดขึ้น จึงยังไม่มีความชัดเจนใดถูกสื่อสารออกมาในขณะนี้

ยังมีบริษัท F&B พันธมิตรผู้ร่วมมือกับ UberEATS ได้แสดงความกังวลเรื่องการควบกิจการ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของสัญญา รายละเอียดค่าคอมมิชชั่น และรูปแบบขอบเขตการจัดส่งใหม่ 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพราะนักการตลาดนั้นมองว่า Uber และ Grab นั้นควรสื่อสารกับพนักงานและคู่ค้าให้ดี แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนในการควบรวมกิจการก็ตาม

ในขณะที่รายละเอียดของการซื้อกิจการควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด Uber ควรร่วมมือกับผู้บริหารอาวุโสที่เป็นที่เชื่อถือ ให้คนกลุ่มนี้สื่อสารกับทีมของตัวเอง Lina Marican กรรมการผู้จัดการ บริษัท Mutant Communications ให้ความเห็น

ด้าน Lars Voedisch ที่ปรึกษาหลักและ MD ของ PRecious Communications มองในแง่ร้ายกว่านั้น โดยวิเคราะห์ว่าการสื่อสารเรื่องการควบรวมกิจการครั้งนี้ถูกจัดภาพให้มีลักษณะรีบร้อน เนื่องจากการควบรวมกิจการหรือการเข้าถือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มักมีแผนการสื่อสารที่เตรียมพร้อมสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลหลายช่องทาง ซึ่งภาพงานเร่งด่วน” จะทำให้ได้รับความเห็นอกเห็นใจ แถมยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน พนักงาน กลุ่มผู้ขับ และผู้โดยสาร 

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Uber กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะ “bad PR” ขณะที่การสื่อสารยังถูกมองว่าเย็นชา และขาดความเอาใจใส่ แม้จะมีข้อความยืนยันว่า จะดูแลให้การสื่อสารกับพนักงานทำได้อย่างเหมาะสมต่อไป

อีกจุดน่าสนใจ คือ การตอบสนองต่อข่าวลือในเชิงลบของ Grab ซึ่งพยายามแสดงจุดยืนในโหมดปกป้องตัวเอง โดย Grab ย้ำว่าไม่มีสิทธิ์ในการสื่อสารกับพนักงานของ Uber อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่แบรนด์ควรป้องกัน ไม่ให้พนักงานสับสน โกรธ และประกาศความไม่พอใจของตัวเองบนสื่อสังคมออนไลน์.

ที่มา : marketing-interactive.com/grab-uber-merger-did-internal-communications-fall-short/