บทความโดย : ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
เป็นอีกฉากที่แฟนละคร บุพเพสันนิวาสรอคอย กับฉาก “โล้สำเภา” เมื่อคุณพี่หมื่น ชวนแม่หญิงการะเกดเข้าหอ ทำเอาคำว่า โล้สำเภา กลายเป็นกระแส ชวนฟินจิกหมอนกันทั่วโซเชียล แถมยังมีคนทำการ์ดแต่งงานของทั้งคู่ออกมาเสร็จสรรพ
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกูรูด้านการตลาด ที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจ และเจ้าของเพจ Marketing is all around ได้ให้ข้อคิดว่า ก่อนที่ทั้งคู่จะครองรักกันได้นั้น คุณพี่หมื่นเองก็เคยเกลียดชังการะเกด แต่ในภายหลังเมื่อเปลี่ยนใจมารักอย่างท่วมท้น มาจากมนต์เสน่ห์ทั้ง 7 ของแม่การะเกด ที่ทุกคนสามารถนำมาปรับในชีวิตจริง แบบไม่ต้องพึ่งมนต์กฤษณะกาลีเลย
“ลูกเกลียดนาง ชังน้ำหน้ายิ่งกว่าอะไร มูลสัตว์แปดเปื้อนลูกก็ยังไม่รังเกียจเท่ากับเนื้อตัวของนางคนนี้ ลูกมิอาจตบแต่งกับนางคนนี้ได้เป็นอันขาดขอรับ” (Ep.1)
“ถ้าแม่การะเกดของลูกมิกลับมา หรือนางฟื้นคืนแต่ไม่ใช่แม่นางการะเกดของลูก แต่เป็นแม่นางการะเกดคนเก่า ลูกก็จะขอบวชตลอดชีวิต มิขอมีคู่ครองตลอดไปขอรับ” (Ep.13)
ผ่านไปหลายเพลาท่านหมื่นเปลี่ยนใจได้ถึงเพียงนี้ ตัวละครการะเกดในละครบุพเพสันนิวาสมีความสามารถมากในการสร้างเสน่ห์มัดใจชาย และยังเปลี่ยนใจคนรอบข้างให้มาหลงรักนางไปตามๆ กัน ในมุมมองของละครที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนสามารถจะขีดเขียนอย่างไรก็ได้ แต่ในชีวิตจริงที่พบเห็นก็คล้ายคลึงกันก็คล้ายกับละครที่ว่านี้ คนที่รักมากอาจกลายเป็นเกลียดมาก คนที่เคยเกลียดมากอาจกลายเป็นรักมากก็เป็นได้
การสร้างเสน่ห์ภายในเพื่อทำให้คนที่ไม่ชอบกลับมาชอบได้นั้น เป็นเทคนิคการโน้มน้าวใจที่เรียกกันว่า Ingratiation Techniques (อ่านว่า อิน-เกร-ติ-เอ-ชั่น ถ้าไม่ถนัดภาษาฝาหรั่ง ข้ามศัพท์นี้ไปเลยนะขอรับ) ของทางการตลาดเชิงจิตวิทยา (Psychological Marketing) ที่สรุปเอาง่ายว่าคือ “เทคนิคการทำให้ได้ใจ การเอาใจหรือเทคนิคการปรนเปรอ” เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบและสามารถจูงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะว่าไปแม่นางการะเกดมีอยู่ในตัวพร้อมแทบทุกประการ ใครอยากสร้างเสน่ห์มัดใจชาย มัดใจหญิง หรือแม้กระทั่งมัดใจลูกค้า เจ้านายหรือลูกน้อง หรือบ่าวไพร่เพื่อสร้างเสน่ห์เองบ้างก็ลองทำได้
เสน่ห์ที่หนึ่ง “ปกป้อง”
อยากให้ใครรักจงแสดงพฤติกรรมให้รับทราบว่าเราเป็นพวกเดียวกันและจงปกป้องเขาเมื่ออยู่ในอันตราย (Protective Ingratiation) การกระทำหรือคำพูดที่ยืนยันและสนับสนุนอีกฝ่ายว่าเราเป็นพรรคพวกเดียวกันนั้นจะเปลี่ยนใจให้เขาหันมามองเรามากขึ้น
เทคนิคอันนี้ได้ผลชะงัดนัก ขนาดอีปริกที่เกลียดการะเกดมากแค่ไหนเมื่อได้รับการปกป้องก็เปลี่ยนจาก “หน้ามือเป็นหลังมือตามที่คุณหญิงจำปาได้กล่าวไว้”
ออเจ้านายทั้งหลายจงฟังไว้ว่า เมื่อมีปัญหาต้องปกป้องลูกน้อง ไม่ใช่โยนขี้ไปที่ลูกน้องนั้นหาได้ไม่
เสน่ห์ที่สอง “ปรนเปรอ”
การให้ของหรือของขวัญตามแต่โอกาสนั้น คนทั่วไปชอบคิดกันว่าเป็นธรรมเนียม แต่แท้จริงแล้วเป็นการทำเพื่อให้ผู้รับรู้สึกว่าเป็นคนมีค่าในสายตาของผู้ให้ และต้องให้ผู้รับรู้สึกถึงความปรารถนาดีจากการได้ของ อันนี้รวมไปถึงการทำอาหารให้คนรักที่เรียกว่าเสน่ห์ปลายจวัก
แต่ถ้าจะให้ได้ผลชะงัดต้องรู้จักถึงอินไซต์ที่มีฐานข้อมูลว่าอีกฝ่ายชอบอะไรหรืออยากได้อะไรจริงๆ และถ้าเป็นการตลาดหนึ่งต่อหนึ่งที่มีชื่อของผู้รับ เฉพาะพิเศษสำหรับเธอคนเดียวก็จะเจ๋งสุดๆ ตามที่การะเกดบอกไว้ ดังนั้นของฝากจึงไม่ใช่เป็นแค่สมุดแต่เป็นสมุดที่มีเรื่องราวของท่านหมื่นที่ต้องการสื่อความเฉพาะนาง
ในทางธุรกิจการให้ของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ กับลูกค้าหรือในวันเกิด จึงไม่ควรที่จะให้แต่กระเช้าผลไม้หรือของโหลๆ การใช้กลยุทธ์การตลาดหนึ่งต่อหนึ่งจะทำให้ผู้รับรู้สึกดีและเปลี่ยนทัศนคติเป็นบวกได้
การให้ของแบบนี้หลายคนบอกว่าไม่ถนัด มองเป็นเรื่องของการประจบประแจง อยากให้ลองตีความเสียใหม่ว่าถ้าของขวัญนั้นไม่ได้ให้เพราะอยากได้ผลตอบแทนกลับ แต่เป็นความปรารถนาดี ความระลึกถึงจริงๆ ดังนั้นอินไซต์ขณะเดินทางไปต่างประเทศ ถ้ากลับมามีของฝากแปลว่าฉันนึกถึงเธอในขณะที่ฉันอยู่ที่ต่างประเทศนะขอรับ
เส่น่ห์ที่สาม “ปรากฏ”
ความพยายามที่จะไปไหนได้ด้วยทุกที่ ให้เห็นกันบ่อยๆ ประเภทเช้าถึงเย็นถึง ทำอย่างต่อเนื่อง ไปรับส่งอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่ขาดหายไปจะทำให้รู้สึกถึงความสำคัญ (Ingratiation by self-presentation)
เทคนิคนี้คือ การตื้อเท่านั้นที่ครองโลกตามที่การะเกดได้แนะนำขุนเรืองให้ใช้กับแม่นางจันทร์วาด แต่การพบปะอย่างต่อเนื่องต้องพูดเรื่องราวทั่วไปไปก่อนในครั้งแรกจนอีกฝ่ายตายใจจึงจะเข้าเรื่องได้ การรวบรัดเร็วเกินไปจะถูกถามว่า “เหตุใดออเจ้าจึงต้องยื่นจมูกเข้ามาในเรื่องที่มิใช่ของออเจ้า” ซึ่งแปลได้ความในปี พ.ศ.นี้ว่า “เผือก”
เสน่ห์ที่สี่ “ชมเชย”
ความเป็นคนช่างสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอีกฝ่ายและเอ่ยคำชมด้านบวกเมื่อเจอกัน (Ingratiation by complimentary other-enhancement) การกล่าวคำชมจากใจจริงจะได้ผลในการเปลี่ยนทัศนคติทางบวกไม่น้อย ถ้าลองได้กล่าวว่าคุณพี่ขาวขึ้นนะเจ้าคะ ก็จะได้คำตอบว่า เจ้านี้ช่างดูอวบอิ่ม
เสน่ห์ที่ห้า “ขำขัน”
เสน่ห์ของอารมณ์ที่ทำคนคนต้องมนต์ได้คือความสนุกสนาน อารมณ์ขัน เพราะทำให้คนที่อยู่ด้วยมีความสุข การใส่อารมณ์ขันมีความสนุกสนานจะทำให้ไม่น่าเบื่อ อยากอยู่ด้วยตลอด และชอบมากขึ้น ความขำขันเกิดจากทั้งท่าทีสนุกสนานของการเชียร์เรือหรือแม้เป็นคำพูดของนางที่ว่า ถ้าได้ขุนเรืองมาครอง คุ้มสุดๆ เสน่ห์แบบนี้ในสมัยนี้คงบอกว่า สวยมักนกตลกมักได้ (Expression of humor)
เสน่ห์ที่หก “สำคัญ”
การแสดงออกว่าเธอเป็นคนสำคัญ ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเธอ (Ingratiation by instrumental dependency) คำพูดหรือการแสดงออกถึงการพึ่งพาทางจิตใจว่าชีวิตที่มีหรือไม่มีแตกต่างอย่างไร แม่นางคงเคลิ้มไม่น้อยเมื่อท่านขุนกล่าวว่า “หาไม่คงจะแน่นอก จนทำให้เจ้าของหัวอกนั้นมีชีวิตอยู่ต่อไปมิได้”
ในทางธุรกิจการชมเชยว่า “หากไม่มีลูกค้าหรือคนให้ความสนับสนุนคงอยู่ไม่ได้และเติบโตมาขนาดนี้“
เสน่ห์ที่เจ็ด “ปัญญา”
เสน่ห์สำคัญที่ทำให้หลายคนหลงใหลคือความมีปัญญาและฉลาดในการสรรค์สร้างสิ่งของใหม่ๆ ทั้งเครื่องกรองน้ำ กระทะ อาหาร หรือความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา เป็นเสน่ห์สำคัญมากที่สุดในการมัดใจผู้คนและเปลี่ยนทัศนคติอีกฝ่ายได้อย่างอยู่หมัด
ด้วยเสน่ห์ทั้งเจ็ดของแม่นางการะเกดจึงกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่รุนแรงมากกว่ามนต์กฤษณะกาลีที่มัดใจไม่เพียงแต่หมื่นสุนทรเทวาและบ่าวไพร่ แต่รวมไปถึงเราท่านที่ดูละครเองก็ต่างหลงเสน่ห์ของแม่นาง ฟังเสน่ห์ทั้งเจ็ดของนางทั้ง “ปกป้อง ปรนเปรอ ปรากฏ ชมเชย สำคัญ ขำขัน และปัญญา” แล้วลองเช็กดูว่าออเจ้ามีเสน่ห์อันไหนบ้าง แล้วลองเพิ่ม ปรับไปใช้กับกับลูกค้า กับเจ้านาย กับลูกน้อง กับผู้คนต่างๆ ที่สำคัญลองโปรยเสน่ห์แบบนี้กับคนที่เจ้าหมายปอง
และเพิ่มการชม้อยชม้ายชายตา อีกนิด จะทำให้ออเจ้าทั้งหลายได้เป็นจิงโจ้ ได้ “โล้สำเภา” เป็นแน่แท้.