กอล์ฟเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์ระดับอินเตอร์ทุกสัปดาห์ หรือกล่าวได้ว่าตลอด 52 สัปดาห์ใน 1 ปี ไม่มีว่างเว้น จาก World Golf Federation รายงานว่า 365 วัน มีรายการกอล์ฟถูกจัดขึ้นเกือบ 400 รายการ
เพราะการเป็น Sponsorship ให้กับรายการกอล์ฟ หรือนักกีฬาชื่อดัง ให้ประโยชน์หลายด้านมากกว่าการทุ่มงบโฆษณาเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การเป็น Sponsorship รายการกอล์ฟโดยเฉพาะ Naming Sponsor หรือ Title Sponsor (การเป็นสปอนเซอร์ที่มีชื่อแบรนด์ในรายการแข่งขันด้วย) แล้วได้มากกว่าเสีย เพราะ “Media Exposer” สูง และคุ้มค่า โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์หัวสีทุกฉบับที่ไม่เคยพลาดการรายงานการแข่งขันกอล์ฟ ขณะที่ “คนดู” ในสนามที่มีจำนวนมากโดยเฉพาะรายการใหญ่ๆ ประเภทรวมดาวดัง ก็ยิ่งทำให้แบรนด์ยิ้มร่า เพราะคาดหวังว่ามีโอกาสจะเกิด Brand Awareness สูง
ตัวอย่างเช่น กอล์ฟรายการ HONDA LPGA Thailand 2009 ชิงเงินรางวัล 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 50.75 ล้านบาท ได้ช่อง 7 ซึ่งให้ความสำคัญกับกีฬากอล์ฟมายาวนานถ่ายทอดสดรายการนี้ ซึ่งก่อนหน้าก็อัดสปอตโปรโมทแบบถี่ยิบ ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เพราะอย่างที่รู้กันว่าช่อง 7 แมสและเรตติ้งดีเพียงใด เป็นต้น
รายงานสถิติจากผู้จัดการแข่งขัน สรุปจำนวนผู้เข้าชมในสนามทั้ง 4 วัน ว่า มีประมาณ 35,000 คน เฉพาะวันสุดท้ายมีผู้เข้าชมถึง 16,400 คน ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์กับรายการ LPGA Tour ในไทย
แต่เนื่องจากกอล์ฟเป็นรายการแข่งขันที่มีเงินรางวัลสูง ทำให้สปอนเซอร์ของรายการกอล์ฟล้วนเป็นแบรนด์ใหญ่เงินหนาด้วยกันทั้งนั้น ตัวอย่างของสปอนเซอร์รายการนี้ซึ่งจัดขึ้นที่พัทยาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นบิ๊กแบรนด์ เช่น ปตท. สิงห์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โซนี่ เอส แอนด์ พี และโรเล็กซ์ เป็นต้น
นอกจากนี้กอล์ฟยังเป็นกีฬาที่ Local brand ของทุกประเทศจะใช้เป็นช่องทางในการสร้าง Brand Awareness ให้กับแบรนด์ของตนในระดับโลก ด้วยการสนับสนุนนักกีฬาประเทศของตนเอง หรือให้การสนับสนุนซูเปอร์สตาร์ เช่น สิงห์เคยสนับสนุนวีเจ ซิงห์ ขณะเดียวกันก็ยังสนับสนุนประหยัด มากแสง และธงชัย ใจดี รวมถึงนักกอล์ฟดาวรุ่งอีกหลายคนซึ่งอยู่ในเอเชี่ยน ทัวร์ด้วย เนื่องจากกอล์ฟเป็นกีฬาที่มีคนไทยแข่งขันในระดับอินเตอร์มากที่สุด
ตัวอย่างแบรนด์/ตัวอย่างรายการที่สนับสนุน
HONDA / HONDA LPGA Thailand ,HONDA Amateur Tournament ,HONDA Junior Golf Championship
Accenture/Accenture Match Play Championship
Corona/Corona Championship
Mercedes-Benz/Mercedes-Benz Championship
ตัวอย่างแบรนด์/ ตัวอย่างนักกอล์ฟที่สนับสนุน
NIKE GOLF/Tiger Woods, Paul Kasey, Anthony Kim, Susan Petterson, Michelle Wie
adidas Golf/Sergio Garcia, Natalie Gulbis,Paula Creamer
สำรวจ “เงินรางวัล” PGA Tour และ LPGA Tour ประจำปี 2552
LPGA Tour จัดแข่งขัน 33 รายการทั่วโลก รวมเงินรางวัลกว่า 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว 1,750 ล้านบาท
ขณะที่ PGA Tour ให้เงินรางวัลรวมเฉลี่ย 4-5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อรายการ เนื่องจากเป็นปกติของรายการแข่งขันกีฬาที่มักจะให้เงินรางวัลนักกีฬาชายมากกว่านักกีฬาหญิง
โดยเฉลี่ยแล้วแชมป์จะได้เงินรางวัลประมาณ 18% ของเงินรางวัลรวมแต่ละรายการ ขณะที่อันดับ 2 จะได้ประมาณ 10% และอันดับ 2 ประมาณ 7%
วิกฤตการเงินโลกดับฝันรายการกอล์ฟ ไม่เว้นแม้แต่ Tiger Woods
UBS แบงค์อันดับ 2 ของสวิสเซอร์แลนด์ ยุติการต่อสัญญาเป็นสปอนเซอร์ให้กับรายการ Hong Kong Open ด้วยจำนวนเงินกว่า 2.5 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ หรือราวเกือบ 90 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตและต้องขอรับความช่วยเหลือด้านเม็ดเงินจากรัฐบาล
HSBC สิ้นสุดสัญญา 5 ปี กับ LPGA และอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ หลังจากยื่นคำขอสนับสนุนเม็ดเงิน 17.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดย HSBC ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของ LPGA
อย่างไรก็ตามไม่ว่าข้อตกลงของ HSBC และ LPGA จะเป็นอย่างไร แต่ LPGA ก็ได้งดการแข่งขันไปแล้ว 3 รายการ
GM ค่ายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่จะทำให้คนทั้งโลกช็อคด้วยภาวะระส่ำระสายทางการเงินที่เข้าขั้นย่ำแย่ แต่ยังทำให้ Tiger Woods ช็อคอีกด้วย เพราะ GM ประกาศปิดดีลกับนักกอล์ฟอันดับ 1 ของโลกเมื่อสิ้นปี 2551 ที่ผ่านมา เพื่อลดภาระการจ่ายเงินค่าสปอนเซอร์ให้กับดาวดังคนนี้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (350 ล้านบาท)
สัญญาที่มีต่อกันยาวนาน 10 ปีจึงปิดฉากลง แต่กระนั้น Tiger Woods แชมป์ Major Championship 14 รายการคนนี้ ยังคงแช่มชื่นกับพันธมิตรที่รักยังไม่จืดจางอย่าง Accenture, Electronic Art,Gatorade,Gillette และ Nike เป็นต้น
Did you know?
จากผลสำรวจของนิตยสาร Forbes รายงาน 2 อันดับแรกของนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกของโลกประจำปี 2551 คือ นักกอล์ฟ ตามด้วย David Beckham นักฟุตบอลชื่อดัง โดยทั้งหมดเป็นนักกีฬาชาย
Tiger Woods 91 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (3,185 ล้านบาท)
Phi Mickelson 49.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (1,732 ล้านบาท)