เมื่อเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ยังหวงความเป็นส่วนตัว แล้วทำไมผู้ใช้ถึงกล้าเปิดเผยทุกอย่างในเฟซบุ๊ก

บางคนอาจจะตั้งคำถามต่อประโยคข้างบนให้ชัดขึ้นว่า แล้วจะทำอย่างไรถ้า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊ก ไม่สามารถรักความปลอดภัยให้กับข้อมูลทุกอย่างที่พวกเขาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไปแล้ว เพราะแม้กระทั่งรูปถ่ายที่เคยโพสต์ต่อให้ลบทิ้ง เฟซบุ๊กก็ยังมีเก็บไว้อยู่ในระบบ แล้วถ้ามันเป็นรูปถ่ายที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่อยากให้ใครเห็น เขาจะต้องกังวลไปตลอดชีวิตหรือเปล่า 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยมีต้นตอมาจากกรณีที่มีข้อมูลผู้ใช้ Facebook กว่า 87 ล้านคนรั่วไหลออกไป ซึ่ง มาร์ค ต้องมาเคลียร์ด้วยการตอบคำถามของเหล่าวุฒิสมาชิก

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่หยิบมาเถียงกันได้ไม่จบจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่าได้คิดจะไปหาความผิดจากใครเลย เพราะถ้าทุกอย่างมันหลุดไปแล้ว มาช่วยกันมาตรการที่จะเดินกันต่อไปข้างหน้าให้อยู่กันอย่างปลอดภัยในโลกดิจิทัลมาขึ้นดีกว่า

ประเด็นนี้คือความพยายามสะท้อนความหมายจากคำถามง่ายๆ ของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ (US Senator) Dick Durbin ที่ตั้งคำถามกับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กว่า

Dick Durbin : คุณสะดวกที่จะบอกชื่อโรงแรมที่คุณพักเมื่อคืนได้ไหม

Mark Zuckerberg : อึ่ม เอิ่มไม่ครับ

Dick Durbin : ถ้าคุณส่งข้อความหาใครในสัปดาห์นี้ คุณบอกชื่อคนที่คุณส่งข้อความกับเราได้ไหม

Mark Zuckerberg : เรียนท่านวุฒิสมาชิก ไม่ ผมคิดว่าผมไม่ควรบอกกล่าวในที่สาธารณะแบบนี้

ลองเปิดใจกลางๆ สะท้อนมุมมองจากคำถามคำตอบง่ายๆ นี้จะพบว่าสามารถบอกอินไซต์ของผู้บริโภคและความต้องการของนักการตลาดในยุคนี้อย่างแท้จริง

นักการตลาดมักจะอยากรู้ทุกเรื่องทุกความคิดของผู้บริโภค ยิ่งรู้มากเท่าไรก็ยิ่งทำให้พวกเขาเดินหน้ากลยุทธ์การตลาดได้ตามเป้าหมายมากขึ้น เห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้น

ขณะที่ผู้บริโภคแม้จะเห็นประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้าแต่ด้วยความไม่วางใจก็มักจะเลือกที่จะไม่เปิดใจ และไม่ยินยอมที่จะบอกข้อมูลทั้งหมดในทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนตัว

สิ่งที่วุฒิสมาชิกต้องการจากคำถามนี้ ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ตระหนักถึงความรู้สึกสะดวกใจ กับความไม่สบายใจในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นประเด็นที่มาของการถามตอบกันในครั้งนี้ และแน่นอนไม่ว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอย่างมาร์คจะได้กี่คะแนนจากคำถามชุดนี้แต่เชื่อแน่ว่า มีสิ่งที่ทำให้เขาต้องเก็บเอากลับไปคิดสำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊กต่อจากนี้อีกมาก

เพราะฉะนั้นนอกจากถูกผิดที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องไปตัดสินกันเอา แต่ในฐานะผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมืองหลวงของเฟซบุ๊กอย่างกรุงเทพฯ ของเราๆ ท่านๆ ในประเทศไทย อย่าได้โต้เถียงหาฝ่ายแพ้ชนะให้เหนื่อยเลย เพราะแค่คอมเมนต์ระหว่างถ่ายทอดสดการตอบคำถามในแต่ละสื่อและอีกมากมายผ่านเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ก็ชวนให้หาความสงบไม่ได้แล้ว

โดยเฉพาะกับประเด็นที่ว่า คนที่ต่อว่าเฟซบุ๊กอย่างนั้นอย่างนี้ที่หนักคือเรื่องความเป็นส่วนตัว การเปิดเผยข้อมูล การขายข้อมูล การรักษาข้อมูลผู้ใช้ของเฟซบุ๊กเอง รวมไปถึงคนที่นำข้อมูลของเฟซบุ๊กไปใช้ต่อจะเป็นเช่นไร สุดท้ายปลายทางที่ชี้ออกไปไม่ว่าจะเป็นคมดาบ ลูกศร หอก หรือแม้แต่ปลายนิ้วที่จิ้มไปที่คนอื่น ต่างย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้หรือผู้พูดเองแทบทั้งสิ้น ในฐานะเป็นคนที่ยินยอมให้ข้อมูลเพื่อแลกกับการใช้ รวมไปถึงสร้างสรรค์เนื้อหารูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นด้วยการโพสต์แชร์แสดงความคิดเห็นไว้บนเฟซบุ๊กเองทั้งสิ้น

ที่เจ็บที่สุด ก็คือประโยคโต้กลับเป็นระยะๆ ในระหว่างถ่ายทอดสด ที่เหมือนเตือนสติคนที่ว่าเฟซบุ๊กและมาร์ค ว่าอย่าลืมสิว่า (คนที่ว่าน่ะ) คุณกำลังใช้เฟซบุ๊กอยู่ไม่ใช่เหรอ

บางคำถามก็เป็นเรื่องน่าสงสัยจริงๆ ตามการเมาท์มอยของผู้ฟัง เช่น ประเด็นที่ว่า วุฒิสมาชิกบางรายอาจจะตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่เข้าใจธุรกิจและบริการอย่างเฟซบุ๊ก เช่น คำถามคำตอบที่ว่า

Orrin Hatch : คุณทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้อย่างไรโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

Mark Zuckerberg : ท่านวุฒิสมาชิกครับเราขายโฆษณา

(ปล. ผู้ฟัง : อมยิ้มแล้วจบกับประเด็นนี้ไปเงียบๆ)

ขณะที่คำถามบางคำถาม ที่ใครคิดว่าวุฒิสมาชิกตามไม่ทันโลดิจิทัล ก็ต้องทบทวนกันใหม่กับคำถามนี้ ทั้งนี้เพราะคำถามนี้ลึกซึ้ง สะท้อนไกลไปถึงเรื่องของอินเทอร์เน็ตออฟธิงก์ (IOTs) ที่อุปกรณ์แต่ละชนิดสื่อสารกันได้และอาจจะดูดข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งมาได้ด้วยอย่างนั้นเลย ซึ่งไม่รู้ว่ามาร์คงงกับคำถามจริงๆ หรือกำลังคิดอยู่แต่ไม่คิดว่าใครจะคิดทันด้วย (อ่ะ..ล้อเล่นขำๆ สำหรับประเด็นนี้) แต่คิดเผื่อไว้ไม่มีอะไรเสียหาย

Roy Blunt : คุณได้ติดตามอุปกรณ์ที่เป็นส่วนตัวต่างๆ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีการต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ในการเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กแต่ไม่จำเป็นต้องต่อเชื่อมกับเฟซบุ๊กหรือไม่

Mark Zuckerberg : ผมไม่ค่อยมั่นใจกับคำตอบสำหรับคำถามนั้น

Roy Blunt : จริงดิ

Mark Zuckerberg : ครับ

นักวิชาการไทย แนะสังคมดิจิทัลให้ตระหนักถึง Digital Social Responsibility

จะว่าไป ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คือสิ่งที่ผู้รู้หลายคนทำนายไว้ล่วงหน้าแล้ว ถึงอันตรายจากการแชร์ข้อมูลในเฟซบุ๊ก รวมถึงในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นมากมายที่เราใช้กันที่บริการฟรีๆ มักต้องเอาข้อมูลส่วนตัวที่เราคิดว่าเก็บไว้อย่างปลอดภัยในมือถือถูกดูดไปใช้งานเพื่อแลกกับความสนุกหรือประโยชน์จากการใช้บริการต่างๆ

กว่าที่โลกดิจิทัลจะค่อยๆ พัฒนามาพูดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมบนโลกดิจิทัล หรือ Digital Social Responsibility ซึ่งเป็นคำที่ ผศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดขึ้น ข้อมูลจำนวนมากของผู้ใช้งานดิจิทัลก็กลายเป็นตัวประกันอยู่ในเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่นต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

การที่มาร์คถูกเรียกไปตอบคำถามต่อสมาชิกวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ในครั้งนี้ หากมองในด้านดีที่สุดที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจของเฟซบุ๊ก ก็คือประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ที่จะได้เกิดความตระหนักเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูลที่กลายเป็นทรัพย์สินมีค่าของธุรกิจต่างๆ เพื่อร่วมกันหามาตรการป้องกันความเสียหายในอนาคตที่อาจจะใหญ่ขึ้น จากการถูกดูดนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างความถูกต้องจากความยินยอมของผู้ใช้ที่ไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ไปใช้ให้สร้างประโยชน์ต่อธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยไม่ละอาย โดยคิดแค่ว่า การจ่ายเงินแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นมาก็ถือว่าถูกต้องแล้ว

จะว่าไปแล้ว จริงๆ คนไทยน่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องตระหนักและเรียกร้องการป้องกันในเรื่องนี้มากที่สุดประเทศหนึ่ง

เพราะไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้บริโภค จากการซื้อขายข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้มานาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการต่างๆ เช่น ประกันสังคม สาธารณสุข หรือจากธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น บริษัทประกันภัย บัตรเครดิต ธนาคาร ฯลฯ ซึ่งเคยเกิดปัญหาเป็นประเด็นมาแล้วทั้งสิ้น ที่อยู่ๆ ผู้บริโภคก็ต้องรับมือกับการขาย การตลาดแบบจู่โจมถึงตัว ผ่านข้อความ โทรศัพท์ อีเมล ที่ไม่พึงปรารถนา เพราะธุรกิจเหล่านั้นมีช่องทางซื้อข้อมูลส่วนตัวด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่ถูกต้องที่หลุดมาจากหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวให้เห็นมากมายในอดีต แม้ในปัจจุบัน

ความเป็นส่วนตัว ความไว้ใจ ความปลอดภัย ในโลกดิจิทัลต่อจากนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องตระหนัก ซึ่งถ้าผู้บริโภคพร้อมใจกันทำให้แสดงพลังที่จะไม่ยอมจำนน ต่อเงื่อนไขของผู้ให้บริการที่จะต้องให้แลกบริการฟรีกับข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ผู้ให้บริการดิจิทัลเหล่านี้ค้นหาวิธีอื่นที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้นได้เช่นกัน.