หนุ่มผู้บอกตัวเองว่า ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร ทำให้เขาบุกเบิกธุรกิจร่วมกับเพื่อนสมัยเรียน จากร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เล็กๆ หลังห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าที่แทบไม่มีใครเดินผ่าน มาเป็นเจ้าของช็อปขายอุปกรณ์ไอทีระดับพันล้าน
“คนเรียนทางด้านการตลาดส่วนใหญ่ก็อยากเป็นเจ้าของกิจการกันทุกคน” กฤชวัฒน์ วรวานิช หุ้นส่วนผู้ร่วมบุกเบิกบริษัท Com7 International องค์กรไอทีที่มียอดขายหลายพันล้านบาท เล่าย้อนให้ฟังถึงความใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาด้านการตลาด ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)
แม้สมัยเรียนเขาจะรู้สึกขยาดกับสินค้าไอที เพราะร่ำเรียนมาแต่ Case Study ที่เกี่ยวกับ Consumer Product แต่เส้นทางชีวิตจริงของกฤชวัฒน์กลับต้องสัมผัสกับสินค้าไอทีมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว
โดยกิจการแรกที่เขาร่วมหุ้นกับเพื่อนหลังจบปริญญาตรีมาเพียงสองปี คือ Fast Communication ขายปลีกโทรศัทพ์มือถือตั้งแต่รุ่นแรกๆ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่นานนัก ต่อมาจึงขยับขยายไปเปิดบริษัท Media Telecom ทำเป็นช็อปขายโทรศัพท์มือถือ Telewiz ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น และไม่นานก็จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้กับบริษัท New Technology (NTL) ซึ่งเป็นผู้ขายส่งโทรศัทพ์มือถือรายใหญ่
“ตอนนั้นกิจการของ Telewiz กำลังไปได้ดีเลย แต่บังเอิญมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาปรึกษาผมเรื่องแผนธุรกิจขายส่งโทรศัพท์มือถือ แล้วผมเผลอไปรับปากว่าจะช่วย ผมจึงต้องขายหุ้นที่ Media Telecom เพื่อไปช่วยงานที่บริษัท NTL”
แต่แล้ววันหนึ่งกฤชวัฒน์ก็ตัดสินใจกลับมาเป็น Entrepreneur อีกครั้งตามคำชักชวนของ “สุระ คณิตทวีกุล” เพื่อนเก่าที่เคยร่วมงานกันมาที่บริษัท UPS ตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ๆ ให้มาร่วมกันบุกเบิกบริษัท Com7 ที่สุระเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนัก
“ที่ NTL เป็นเหมือนบ่อทองที่เติบโตมหาศาล แต่ปกติผมไม่ชอบเป็นมนุษย์เงินเดือน ผมชอบมีกิจการเป็นของตัวเอง จึงตัดสินใจเข้ามาร่วมจอยกับคุณสุระในที่สุด”
กฤชวัฒน์ย้อนอดีตคอมเซเว่นฯ ให้ฟังว่า กว่าที่จะมาเป็นองค์กรไอทีพันล้านนั้น ต้องผ่านการปรับโมเดลมาแล้วถึง 4 ยุค
เริ่มต้นจากยุคแรกที่เป็นเพียงร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เล็กๆ ในทำเลหลังห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าที่ “แทบไม่มีใครเดินผ่าน” แต่อยู่ได้เพราะเน้นการทำตลาด Corporate ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ต่อมาไม่นานจึงปรับโมเดลเข้าสู่ยุคที่สอง ด้วยการทดลองบุกตลาดขายส่งซึ่งขณะนั้นมีผู้เล่นอยู่ในตลาดไม่ถึง 10 ราย จึงทำให้การแข่งขันต่ำและได้มาร์จิ้นสูง แต่ในที่สุดก็ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่นำมาสู่การปรับกลยุทธ์ขององค์กรอีกครั้ง
“ช่วงนั้นรัฐบาลทำโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ส่งผลให้ร้านคอมพิวเตอร์ต้องลดราคาขายปลีกลงมาแข่งขันทำตลาด จนมาร์จิ้นที่เคยได้ถึงเครื่องละ 3,000 บาท ลดลงมาเหลือเครื่องละไม่ถึง 500 บาท ประกอบกับการแข่งขันของ Supplier เริ่มรุนแรงจนมีการปล่อยเครดิตอย่างไม่มีเหตุผล ส่งผลให้เกิดสภาพฟองสบู่แตกจนทำให้ Supplier และ Dealer ต้องล้มหายตายจากกันไปหลายราย”
ด้วยเหตุนี้ Com7 จึงต้องปรับพอร์ตเข้าสู่ยุคที่สามโดยการใช้กลยุทธ์สู้ศึกปลายน้ำ จากเดิมที่เน้นแต่การค้าส่งก็หันกลับมาเน้นการค้าปลีกซึ่งเป็นรากกำเนิดของบริษัท ด้วยการผุดร้านค้าปลีกขึ้นตามห้างไอทีต่างๆ เพื่อบาลานซ์พอร์ตให้สมดุล
ยิ่งสภาวะของตลาดค้าส่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มประสบภาวะอิ่มตัว บวกกับทิศทางของตลาดคอนซูเมอร์ในภาพรวมที่เติบโตจนครองมาร์เก็ตแชร์เกินครึ่งของตลาด ยิ่งทำให้ Com7 เร่งปรับตัวก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 ด้วยการใส่เกียร์เดินหน้ารุกตลาดค้าปลีกโดยการเร่งเปิด Retail shop เพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายจาก 45% ให้เป็น 70% เมื่อเทียบกับยอดค้าส่ง และทยอยรีแบรนด์ร้านค้าปลีกของตัวเองให้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น
จากเดิมที่เคยมีเกือบ 20 ซับแบรนด์ ด้วยเหตุผลที่ห้างสรรพสินค้าไอทีต่างๆ มักห้ามไม่ให้เปิดหน้าร้านเกินกว่า 1 แห่งต่อหนึ่งบริษัท ส่งผลให้บริษัทไอทีต่างๆ ต้องใช้กลยุทธ์การเปิดซับแบรนด์เพื่อให้มีหน้าร้านครอบคลุมทำเลทองต่างๆ ภายในห้าง
แต่ในเมื่อกฎระเบียบดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายลงในปัจจุบัน กฤชวัฒน์จึงเตรียมรีแบรนด์ร้านค้าปลีกในเครือทั้งหมดให้เหลือแบรนด์หลักๆ เพียงแค่ 5 แบรนด์ โดยแบ่งย่อยตามเซ็กเมนต์ คือ
ร้าน Banana IT เจาะกลุ่ม Beginner ถึง Medium ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบเทคโนโลยีแต่ไม่ชอบความซีเรียส โดยใช้คอนเซ็ปต์ Emotional และ Lifestyle เน้นให้พนักงานตอบคำถามด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นกันเอง และหลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยภาษาเชิงเทคนิคที่เข้าใจยาก
ร้าน Big IT เน้นคอนเซ็ปต์ Functional เจาะกลุ่ม Medium ถึง Professional ที่มีความรู้ความเข้าใจในเชิงเทคนิค ร้าน Net Now เจาะกลุ่มลูกค้า Network และร้าน i beat กับ i studio by Com7 ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ Apple
แม้วันนี้เศรษฐกิจจะไม่ดูไม่สดใสนัก แต่กฤชวัฒน์กลับมองว่า ยิ่งเป็นโอกาสสำหรับคอมเซเว่นฯ ในการเฟ้นหาโลเคชั่นดีๆ มาสร้างช็อปในราคาที่ไม่แพง เขาจึงวางแผนขยายร้านค้าปลีกไปอีก 30 สาขาในปีนี้ จากเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 80 สาขา
และแม้ว่าการขยายสาขาจะยิ่งเพิ่มความเหน็ดเหนื่อยในการทำงานเพียงใด แต่กฤชวัฒน์ก็มีความสุขได้ด้วยการถือโอกาสไปเดินช้อปปิ้งในวันว่างเพื่อเยี่ยมชมสาขาต่างๆ ไปในตัว หากวันไหนไปตรวจสาขาตามต่างจังหวัดก็จะถือโอกาสแวะเวียนไปกินลมตามชายทะเล คั่นด้วยการดูหนัง หรือฟังเพลงของพี่เบิร์ดและอัสนี วสันต์
นอกจากนี้เขายังนัดสังสรรค์กับเพื่อนฝูงอยู่เสมอโดยเฉพาะเพื่อนๆ ชาวเอแบคในชมรม PEER และ ชมรม AIESEC CLUB ที่เขาร่วมก่อตั้งมากับมือ เพื่อเติมเต็มชีวิต Entrepreneur ที่เขาเคยวาดฝันไว้ตั้งแต่สมัยวัยเรียนให้มีความสุขสดชื่นอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าความฝันนั้นจะถูกเขาพิชิตไปนานแล้วก็ตามที
Profile
Name : กฤชวัฒน์ วรวานิช Age : 41 ปี
Education :
– ประถม-มัธยม โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
– ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ เอกการตลาด มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
Career Highlights : 2542-ปัจจุบัน Vice President บริษัท Com7 International
– 2537-2542 Marketing Manager บริษัท NTL และ NTL INFO
– 2536-2537 Managing Director บริษัท Media Technology
– 2534-2535 Managing Director บริษัท Fast Communication
– 2532-2534 Account Executive บริษัท United Parcel Services (UPS)
Lifestyle : ดูภาพยนตร์แนว Adventure ฟังเพลงเบิร์ดธงชัย และอัสนี วสันต์ เดินช้อปปิ้งตามห้างไอที เที่ยวชายทะเล สังสรรค์กับเพื่อนฝูง