แจ็กพอต Lazada เลือกแบรนด์แอมบาสเดอร์ดังได้จังหวะ ชู “ออเจ้าเบลล่า” ชวนช้อปกระจายฉลองครบ 6 ปี

ครบรอบ 6 ปีลาซาด้า (Lazada) ท่าจะเฮง มีทั้งนายใหญ่แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทลาซาด้า เดินทางมาไทยเซ็นสัญญาโครงการใหญ่มูลค่า 11,000 ล้านบาทกับรัฐบาล แถมตอนกลับไปก็ยังโชว์ผลงานขายทุเรียนไทยลูกละ199 หยวน (ประมาณเกือบ 1,000 บาท) ได้ถึง 8,000 ลูกภายใน 1 นาทีผ่านเว็บไซต์ Tmall ในจีน

เท่านั้นยังไม่พอ ความโชคดีของลาซาด้า ยังได้แบรนด์แอมบาสเดอร์อย่าง เบลล่า ราณี แคมเปญ หรือ ออเจ้าการะเกด จากบุพเพสันนิวาส ละครฮิตแห่งปี ซึ่งบังเอิญอยู่ในช่วงพีคสุด ๆ ขึ้นเป็นตัวท็อปพรีเซ็นเตอร์ของแผ่นดินสยาม ทั้งที่เซ็นสัญญาจ้างงานกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน สำหรับเป็นดารารับเชิญในงานถ่ายทอดสดเทศกาลลดกระหน่ำในวัดคนโสด 11.11 (วันที่ 11 เดือน 11) ที่สามารถนำกลับมาเรียกนักช้อปได้อีกครั้งในโอกาสฉลองครบรอบ 6 ปี

จังหวะที่ลงตัวของลาซาด้า ทำเอาคู่แข่งอย่างช้อปปี้ (Shopee) ถึงกับต้องโต้กลับด้วยการดึงกลุ่มเซเลบริตี้พร้อมกันทีเดียว 10 คน มาสร้างกระแสกระตุ้นนักช้อปแพลตฟอร์มของตัวเองในช่วงเวลาไล่ ๆ กัน จากที่ก่อนหน้านี้ใช้คู่พระนางดังอย่าง ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นพรีเซ็นเตอร์ทั้งที่ช้อปปี้เพิ่งจะเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในไทยมาได้เพียง 2 ปี

การเลือกแบรนด์แอมบาสเดอร์ได้ดีมีอนาคตของลาซาด้า เลยเข้าตำรา มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม บทบาทของแบรนด์แอมบาสเดอร์สำหรับลาซาด้า ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากไปกว่า การเป็นแนะนำแพลตฟอร์มว่ามีส่วนลดและมีสินค้ามากมายแค่ไหน กับการมาร่วมในงานฉลองและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น โดยไม่ได้มีการนำเสนออะไรที่แปลกแตกต่างไปจากการใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ทั่วไป

อเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด ธนิดา ซุยวัฒนา เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินและการบัญชี บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด พร้อมทั้ง เบลล่า ราณี แคมเปน แบรนด์แอมบาสเดอร์ของลาซาด้าประเทศไทย และลิลลี่ อภิชญา ทองคำ นักแสดงนำจากโฆษณาตัวใหม่ของลาซาด้า มาร่วมเฉลิมฉลองเป่าเทียนวันเกิดครบรอบ 6 ปีของลาซาด้า

แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่าความเคลื่อนไหวเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีของลาซาด้าส่งสัญญาณอะไรใหม่ ๆ ให้กับอีคอมเมิร์ซไทยบ้าง

ความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนไป แต่เป็นความต้องการของลาซาด้าที่จะทำให้ใหญ่ขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้มากขึ้น ควบคู่กับการช้อปปิ้งออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่ทำให้คนเลือกช้อปเป็นแห่งแรกด้วยจำนวนร้านค้าและผู้ขายที่มากกว่า บวกกับโค้ดส่วนลดที่มีให้ตลอดเวลา เพื่อให้นักช้อปคอยติดตาม คือการที่ลาซาด้าหันมาให้ความสำคัญกับการทำซีเอสอาร์ (CSR) เพิ่มขึ้นในปีนี้

โดยจากเดิมนั้น แม้จะมีกิจกรรมซีเอสอาร์อยู่บ้างก็เป็นเรื่องที่ทำกันเองภายในบริษัท แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ลาซาด้าเลือกที่จะจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเป็นครั้งแรก ในกิจกรรมวิ่งการกุศล Born to Run ที่เพิ่งจัดไป โดยได้แรงบันดาลใจมากจากโครงการก้าวคนละก้าวของตูนบอดี้สแลม ที่วิ่งเพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งลาซาด้านำรายได้จากงานนี้เข้าไปสมทบทุนในโครงการเดียวกัน

โครงการนี้เป็นการอาศัยกระแสในสังคมไทย ที่ลาซาด้ามองว่าสามารถเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่ากลมกลืนมากขึ้น ในเรื่องที่สังคมเห็นดีและมีแต่บวก

ส่วนกิจกรรมหลักในการเพิ่มยอดขายเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี ยังคงหนีไม่พ้นมุกที่นักช้อปชอบมากที่สุดนั่นคือโปรโมชั่นลดราคา โดยลาซาด้า เปิดตัว ลาซาด้าเบิร์ธเดย์ เฟสติวัล มหกรรมฉลองครอบรอบ 6 ปี กระตุ้นนักช้อปด้วยโปรโมชั่นในช่วงวันที่ 25-27 เมษายนนี้ ประกอบด้วย

  • ส่วนลดสูงสุดถึง 90% เอาใจทั้งขาช้อปเจ้าประจำและดึงดูดนักช้อปใหม่
  • ยังคงใช้กลยุทธ์แฟลชเซลส์ ในกลุ่มสินค้ายอดนิยมมากกว่า 600 ชิ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการช้อปที่มากขึ้นในช่วงการฉลองครบรอบนี้
  • โค้ดส่วนลดสูงสุดกว่า 2,000 โค้ด ที่ลาซาด้าบอกว่าแค่เข้าแอปลาซาด้าก็มีสิทธิ์ได้รับโค้ดไปช้อป

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในแอปและเว็บไซต์เพื่อให้นักช้อปสะดวกและตัดสินใจง่ายขึ้น เช่น เพิ่ม Instant Message ให้ผู้ซื้อสอบถามกับผู้ขายได้โดยตรง เพิ่มกิมมิกเขย่ามือถือรับโค้ดส่วนลด (Shakin’s Deal) ฯลฯ

ไม่ใช่แค่อยากเพิ่มนักช้อป แต่ลาซาด้าอยากเพิ่มผู้ขายด้วย

นอกเหนือจากการเอาใจคนไทยที่รักการช้อปออนไลน์แล้ว ลาซาด้าตระหนักดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แพลตฟอร์มของลาซาด้าจะไม่น่าสนใจในสายตานักช้อปเลย ถ้าไม่มีความหลากหลายและปริมาณสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการนักช้อปได้มากพอ ดังนั้นภารกิจการเพิ่มผู้ค้าในแพลตฟอร์มของลาซาด้า จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นไปพร้อม ๆ กันกับการเพิ่มปริมาณนักช้อปและยอดขาย

ในส่วนบริการสำหรับผู้ค้าหรือผู้ขาย ลาซาด้ามีการพัฒนาและเปิดให้บริการแอปพลิเคชั่นการขายออนไลน์ Lazada Seller Center เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฝั่งผู้ขายเช่นกัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีในปีนี้

นอกจากนี้ยังมีกติกาเพื่อสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ค้าผู้ขายในลาซาด้าที่ปรับปรุงใหม่ในปีนี้ เช่น การแนะนำ Seller Rewards เป็นโครงการใหม่ที่จะนำเสนอในรูปแบบของรางวัลให้กับผู้ขายที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูง มีการปรับปรุงโครงสร้างการจำกัดจำนวนคำสั่งซื้อ (OVL) และการจำกัดจำนวนคำสั่งคงค้าง (POL) รวมทั้งยกเลิกค่าปรับและอัพเดตหัวข้อการละเมิดนโยบายของลาซาด้าให้เป็นมิตรกับผู้ค้าผู้ขายมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ลาซาด้าจะแจกส่วนลดจัดโปรโมชั่นมากมาย แต่โดยรวมถึงวันนี้ บริษัทก็ยังไม่ได้มีกำไรจากการทำธุรกิจ เหมือน ๆ กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ที่เข้ามาลุยตลาดไทย ทั้งช้อปปี้ อีเลฟเว่นสตรีท หรือแม้แต่ JD.com ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเซ็นทรัล เพราะแต่ละรายก็ยังมีแต่ตัวเลขขาดทุนจากการลงทุนหนักในช่วงต้น และมียอดขายทุนเพิ่มขึ้นทุกปี

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ เพราะแต่ละรายล้วนแต่หวังถึงการเติบโตแบบซูเปอร์สปริงบอร์ด เมื่อนักช้อป ผู้ขาย และอินฟราสตรัคเจอร์ มีความพร้อมยิ่งขึ้น การขยายตัวก็จะเร็วและแรงยิ่งกว่าจนปรับตัวเลขจากจ่ายเป็นรับแทบไม่ทัน

ใครคิดภาพไม่ออก ก็ลองดูการขายทุเรียนผ่าน Tmall ของแจ็ค หม่า ที่สำแดงให้คนไทยได้เห็นล่าสุดดู ก็คงจะพอจินตนาการได้ถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซว่าจะโตได้อีกมากแค่ไหนในตลาดไทย.