ด้วยกระแสสุขภาพมาแรง คนไทยหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ “ฟิตเนส” ยังสนใจของผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เป็นเชนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก ทั้งฟิตเนสเปิด 24 ชั่วโมง และฟิตเนสคอนเซ็ปต์ใหม่
ก่อนหน้านี้จะมีหลายแบรนด์ดังเข้ามาทำตลาดแล้วก็ต้องปิดฉากไป ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แคลิฟอร์เนีย ว้าว หรือ ทรูฟิตเนส แต่เกิดปัญหาการบริหารงานภายในองค์กร ไม่ได้เกิดจากสภาพธุรกิจตลาดรวม
ผู้ประกอบการที่ยังคงมีบทบาทในตลาดฟิตเนสในไทยที่เป็นเชนรายใหญ่เช่นฟิตเนสเฟิร์สท เวอร์จิ้นแอคทีฟ วีฟิตเนส เอ็มฟิตเนส รวมถึงฟิตเนสรายย่อยที่เปิดตัวขึ้นมากมาย
ล่าสุด เชนฟิตเนสต่างประเทศ เข้ามาเปิดบริการในไทยในเวลาใกล้เคียงกันถึง 3 แบรนด์ เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง จากออสเตรเลีย ฟิตเนส 24SEVEN จากสวีเดน และที่กำลังเข้ามาคือ เซเลบริตี้ ฟิตเนส จากสิงคโปร์ของเครือฟิตเนสเฟิร์สทที่เพิ่งไปซื้อกิจการมา
ศึกฟิตเนส 24 ชั่วโมง
จุดขายสำคัญของ เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง จากออสเตรเลีย ฟิตเนส 24SEVEN จากสวีเดน คือการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง
ไมเคิล เดวิด แลมบ์ กรรมการผู้จัดการ Jetts 24 hour fitness-Asia มองว่า ตลาดฟิตเนสในไทยกำลังเติบโตและมีช่องว่างอีกมากที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม โดยมีคนไทยเพียง 5-6% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่ออกไปใช้แฟซิลิตี้ต่างๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ในคอมเมอร์เชียล แอเรีย เมื่อเทียบกับออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 18% และ 20% ตามลำดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิตเนสที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้บริการฟิตเนส แต่ไม่มีฟิตเนสที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงรองรับมากเพียงพอ
“จริงๆ แล้ว ยังมีกลุ่มคนอีกหลายอาชีพ ที่ทำงานเป็นกะ หรือเป็นเวลาที่ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น อาชีพ หมอ พยาบาล ตำรวจ หรือพวกทำฟรีแลนซ์ต่างๆ ซึ่งคนเหล่านี้ ก็ยังมีความต้องการที่จะเล่นฟิตเนสเหมือนกันในช่วงกลางคืน และต้องการได้รับบริการและอุปกรณ์เช่นเดียวกับฟิตเนสปกติ ในราคาที่เข้าถึงได้”
โดยราคาของเจ็ทส์ ฟิตเนสจะถูกกว่าคู่แข่งที่เป็นเชนอินเตอร์ในตลาดราว 25-30% เพื่อต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่า จึงตัดแฟซิลิตี้ไม่จำเป็นออกไป เช่น ซาวน่า และห้องอบสตรีม รวมถึงพื้นที่พักผ่อน (Recreation Area) ออกไป เหลือเพียงแค่พื้นที่ฟิตเนสเพียงอย่างเดียว
ไมเคิล บอกว่า ขนาดของพื้นที่ 500-1,000 ตร.ม. ทำให้มีความยืดหยุ่น และคล่องตัวในการเปิดสาขามากกว่าคู่แข่ง โดยจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 30 ล้านบาท ปีนี้จะใช้งบในการขยายสาขา 360 ล้านบาท
ดังนั้น แทนที่จะเปิดทีละสาขา เจ็ทส์ ฟิตเนสจึงเปิด 4 สาขาพร้อมกัน ได้แก่ สเตเดียม วัน ใกล้กับสนามกีฬาแห่งชาติ, เดอะ สตรีท รัชดา, เดอะฟิล อ่อนนุช และสีลม คอนเนค ช่องนนทรี พร้อมกับวางแผนเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา
โดยเลือกทำเลที่เข้าถึงง่าย ใกล้รถไฟฟ้า บีทีเอส และเอ็มอาร์ที รวมถึงมีพื้นที่ในการจอดรถสะดวก ถ้าไม่อยู่ใจกลางเมือง ก็จะอยู่ใกล้กับชุมชนที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น
จากนั้นจะขยายไปสู่ตลาดต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้เจ็ทส์มีสาขาทั่วประเทศทะลุ 100 สาขา ภายใน 5 ปี
เช่นเดียวกับ “ฟิตเนส24เซเว่น (Fitness24Seven) เชนฟิตเนส จากสวีเดน ที่มองว่าตลาดฟิตเนสในเมืองไทยยังมีโอกาสอยู่มาก เพราะคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จนเรื่องการออกกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ไลฟ์สไตล์” ในชีวิตไปแล้ว
เมื่อดูจากตลาดฟิตเนสในเอเชีย ยังพบว่าไทยมีการเติบโตสูง มูลค่าตลาดปี 2559 มีมากกว่า 9,000 ล้านบาท ตัวเลขมหาศาล แต่เมื่อเทียบอัตราการออกกำลังกายในฟิตเนส (Penetration) ของคนไทยยังต่ำ เพียง 3% เท่านั้น
ทำให้เจ้าของฟิตเนสจากยุโรปรายนี้จึงตัดสินใจเข้ามาลงทุน เปิดสาขาแรก เนื้อที่ 996 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในคอมมูนิตี้มอลล์ซัมเมอร์ฮิลล์ ย่านพระโขนงแห่งแรกในไทยและภูมิภาคเอเชีย จากนั้นจะขยายอีก 10 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และภายใน 2 ปีจะขยายไปยังเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต
โดยใช้กลยุทธ์ใกล้เคียงกัน คือ การเปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพราะมองว่า ยังมีช่องว่างการตลาดอยู่ โดยใช้คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ “Fitness on Your Term” ที่เชื่อว่าการออกกำลังกายนั้น ผู้บริโภคจะไปเวลาไหน สถานที่ใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เน้นเปิดสาขาในทำเลใกล้กับรถไฟฟ้า เพื่อให้เดินทางสะดวก ในราคาคุ้มค่า 1,299 บาทต่อเดือน เก็บค่าบริการแรกเข้า 999 บาท ซึ่งจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวสำหรับการใช้บริการ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่า 2 รายใหญ่ อย่าง ฟิตเนสเฟิร์สท กับ เวอร์จิ้นแอคทีฟ ที่มีค่าบริการเฉลี่ย 2,000 บาทขึ้นไป
นอกจาก Jetts Fitness และฟิตเนส24เซเว่น ยังมีธุรกิจฟิตเนสอีกหลายรายที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เช่น Muscle Lab Gym, Fitwhey Gym
*** “ฟิตเนส เฟิรส์ท” รับมือด้วยแบรนด์ใหม่ “เซเลบริตี้”
ทางด้านผู้ประกอบการเดิมอย่าง “ฟิตเนสเฟิร์ส” ขยับลงทุนทุ่มงบ 450 ล้านบาท เปิดแบรนด์ใหม่ “เซเลบริตี้ ฟิตเนส” เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 20 ปีขึ้นไป ราคาค่าสมาชิกเซเลบริตี้ ฟิตเนส จะถูกกว่าฟิตเนสเฟิรส์ท
เซเลบริตี้ ฟิตเนส ให้บริการในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวม 52 สาขา โดยเป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Evolution Wellness ซึ่งก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากการควบรวมกิจการของ ฟิตเนส เฟิรส์ท เอเชีย (บริษัทแม่ของฟิตเนส เฟิรส์ท ประเทศไทย) และเซเลบริตี้ ฟิตเนส
ในไทยนั้นจะเปิด 4 สาขารวดในปีนี้ สาขาเซ็นทรัล พลาซา พระราม 2 เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, Central World (คอนเซ็ปต์ใหม่ สไตล์บูติก ฟิตเนส, เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ และ คลับ ไอคอน ที่ไอคอน สยาม (สาขาในรูปแบบที่หรูหราที่สุด เปิดให้บริการปลายปีนี้) ทำให้ฟิตเนส เฟิรส์ท มีทั้งสิ้น 32 สาขา ทั่วประเทศ
มาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) มาร์คบอกว่าตลาดฟิตเนสในเมืองไทยยังไปได้อีกไกล เพราะปัจจุบันนี้เฉพาะในกรุงเทพฯ มีคนที่ใช้บริการฟิตเนสไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
“ฟิตเนสก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ ต้องมี segmentation ฟิตเนส เฟิรส์ท มีเป้าหมายที่จะตอบสนองความต้องการของทุกเซ็กเมนต์์ให้ได้ โดยคอนเซ็ปต์คลับที่แตกต่างจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างประสบการณ์การให้บริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง”
‘เซเลบริตี้ ฟิตเนส‘ จะมาเติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่ได้ โดยมุ่งจับกลุ่มเป้าหมายอายุ 20+ เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย, คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มคนที่เห็นว่าฟิตเนสในรูปแบบปัจจุบันดูเป็นทางการเกินไป ทำให้พวกเขามองว่าการออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องสนุก จึงใช้เรื่องของ Social Place หรือพื้นที่ในการสังสรรค์มาเป็นส่วนผสมให้กับเซเลบริตี้ฟิตเนสมีความแตกต่างจากฟิตเนสที่เปิดมาก่อนหน้านี้
ส่วนการเปิดบริการฟิตเนส 24 ชั่วโมงนั้น ผู้บริหารฟิตเนส เฟิร์สให้ความเห็นว่าเป็นอีกเซ็กเมนต์ที่น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งฟิตเนสเฟิร์สทก็อยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ทั้งในแง่ของตลาด ความต้องการ และความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะเริ่มได้ในบางสาขา คงไม่ได้ทำทุกสาขา หรือในบางสาขาอาจจะเลื่อนเวลาเปิดปิดเพื่อเปิดบริการให้มากขึ้น
ถ้าหากฟิตเนสเฟิร์สทลงสู่สมรภูมิ ฟิตเนส 24 ชั่วโมงเมื่อไร เมื่อนั้นตลาดคงแข่งขันกันสนุกแน่นอน อย่างไรก็ตาม 2 เชนใหญ่ต่างก็มีแผนชัดเจนในการรุกธุรกิจฟิตเนส 24 ชั่วโมงนี้แล้วเช่นกัน
*** “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ยกเลิกค่าแรกเข้า
ส่วนรายใหญ่อีกราย แม้ว่าจะยังไม่มีแผนเปิดบริการ 24 ชั่วโมงทุกสาขาบ้างก็ตาม แต่ก็มีฟิตเนสโซนบริการให้กับเด็กด้วย และล่าสุด เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ ตัดสินใจยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับสมาชิกใหม่ ซึ่งถือเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับวงการฟิตเนสในไทยไม่น้อย เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงนี้
โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้า คือค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้บริการฟิตเนสจะเรียกเก็บล่วงหน้า เมื่อสมาชิกสมัครใช้บริการเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจราคาสูงกว่าหรือเทียบเท่าค่าบริการรายเดือน เมื่อคำนวณรวมกับค่าบริการรายเดือนจึงถือว่าเป็นเงินจำนวนมากที่สมาชิกจะต้องจ่าย เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ฟิตเนสจึงต้องปรับตัวและพัฒนาการให้บริการ หรือลดค่าบริการเพื่อรักษาฐานลูกค้า
นอกจากนี้ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ ได้เตรียมลงทุนหลายร้อยล้าน เปิดสาขาใหม่ ที่โครงการมิกซ์ยูส วิซดอท วัน-โอ-วัน ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวลอปเม้นท์ คอร์เปอเรชั่น (MQDC) โดยจะเป็นสาขาใหญ่ที่สุดในไทย
ปัจจุบัน Virgin Active มี Club เปิดให้บริการทั้งสิ้น 7 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 6 แห่งคือ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เอ็มไพร์ทาวเวอร์, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เอ็มควอเทียร์ , เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เวสต์เกต, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ สยามดิสคัฟเวอรี่, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ อีสต์วิลล์ , เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ ถนนวิทยุ และ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เชียงใหม่ ตามแผนงานระยะยาวแล้ว เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จะเปิดสาขาให้ครบ 20 แห่งภายในปี 2565.