Netflix เปิดศึก คานส์ การรุกคืบของสตรีมมิ่งสู่ “หนังโรง”

มีนาคมเมษายน ถือเป็น 2 เดือนที่ Netflix มีข่าวคราวร้อนแรงหลายแง่มุม ชัดเจนที่สุดคือปลายมีนาคมเมื่อตัวแทนงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าภาพยนตร์ทั้งหมดที่ผลิตโดย Netflix จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประกวดชิงรางวัลใดๆ

กระทั่งเมษายนก่อนสงกรานต์ Netflix ประกาศผ่านสื่อว่าจะถอนตัวเต็มรูปแบบ ไม่ส่งภาพยนตร์ไปฉายในงานเพราะรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น ไม่นาน มีรายงานว่า Netflix เริ่มเจรจาเพื่อซื้อโรงภาพยนตร์ไว้ฉายผลงานของตัวเอง แก้ปัญหาเรื่องผิดเกณฑ์การประกวดรางวัลได้แบบสไตล์คนมีตังค์

ล่าสุด Netflix ยังแสดงจุดยืนอัดฉีดอุตสาหกรรมคนทำหนังยุโรป ประกาศว่าได้วางแผนเงินลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตเนื้อหาสัญชาติยุโรปในปีนี้ ถือเป็นการบุกหนักที่ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับกรณีชนคานส์ครั้งนี้หรือเปล่า

ในภาพรวม ไม่ว่า Netflix จะได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัลจากคานส์ แต่ Netflix สามารถโกยฐานลูกค้าไปได้มหาศาลบนผลประกอบการงดงาม จุดนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 3 ไทม์ไลน์กรณี “Netflix ชนคานส์ที่ควรติดตาม

*** ทำไม Netflix ไม่มีสิทธิ

อธิบายให้สั้นคือ Netflix ถูกห้ามส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ เนื่องจาก Netflix มีนโยบายฉายภาพยนตร์บนบริการสตรีมมิ่งพร้อมกับโรงภาพยนตร์

อธิบายให้ลึก คือปัญหาทั้งหมดเกิดจากวิธีเผยแพร่ภาพยนตร์ของ Netflix ที่ต้องการให้ภาพยนตร์ออกฉายพร้อมกันทั้งในโรงฯ และบนบริการ Netflix แต่แนวทางของคานส์ ต้องการให้ภาพยนตร์ฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ก่อน (อย่างน้อย 1 สัปดาห์) จากนั้น Netflix จะนำไปฉายในบริการสตรีมมิ่งก็ได้

ความขัดแย้งนี้ นักสังเกตการณ์วงนอกเข้าใจเพียงว่า คานส์ต้องการแยกหนังโรงกับหนังทีวีออกจากกัน แต่ในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ การไม่ฉายพร้อมกัน หรือแม้แต่ล่าช้าไปสัปดาห์เดียว คอหนังอาจจะโดนสปอยจนอาจทำให้ไม่รู้สึกอยากดูก็ได้

เหตุผลในมุมคานส์ยังถูกวิเคราะห์ไว้หลายทาง มีบางเสียงวิเคราะห์ว่าคานส์ต้องการเน้นให้โลกเห็นความสำคัญของคุณภาพเสียงและภาพจากโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีทางได้รับจากคอมพิวเตอร์และชุดหูฟัง โดยเป็นไปได้น้อยมากที่ชุดหูฟังจะมีคุณภาพเสียงดีกว่าโรงภาพยนตร์สำหรับองค์ประกอบของภาพยนตร์ ที่ต้องใช้แชนแนลบนเพดานหรือการมิกซ์เสียงข้ามไปมาหลายลำโพงสุดซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม เรื่องจอภาพนั้นไม่ได้อยู่ที่ความคมชัด แต่ประเด็นหลักคือขนาดภาพ ซึ่งมีประเด็นว่าคนทำหนังประสบการณ์สูงมักออกแบบโฟกัสของคนชมภาพยนตร์ในโรง ที่มองไปยังจอยักษ์ของโรงภาพยนตร์ด้วย การออกแบบนี้คือจิตวิทยาด้านองค์ประกอบภาพ ซึ่งจะไม่มีทางให้อารมณ์เทียบเท่าบนจอขนาดเล็กที่บ้าน

ที่สุดแล้ว Theirry Fremaux หัวหน้าฝ่ายจัดงานเทศภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส สรุปว่าแนวทางที่ Netflix ยึดมั่นนั้นเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ที่ผสมระหว่างโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคนละพื้นที่กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตามเกณฑ์ของคานส์

เกณฑ์นี้ถือเป็นเกณฑ์ใหม่ที่มีความชัดเจนมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่ง Netflix ได้สิทธิส่งภาพยนตร์ร่วมชิงรางวัลสองเรื่องคือ Okja และ The Meyerowitz Stories รายงานระบุว่าในเวลานั้น คณะกรรมการคานส์เชื่อว่า Netflix จะยอมเลื่อนการฉายบนบริการสตรีมมิ่งไป 1 สัปดาห์หลังฉายในโรงภาพยนตร์ เหมือนที่ Amazon Prime ปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่ปรากฏว่า Netflix ไม่ทำตาม เสียงทักท้วงในกลุ่มคณะกรรมการจึงเกิดขึ้นและนำไปสู่การเพิ่มกฎกติกาให้ชัดเจน ส่งผลให้ Netflix ไม่สามารถส่งภาพยนตร์ชิงรางวัลได้ในปีนี้

Amazon ยอมปฏิบัติตามกฏด้วยการส่งภาพยนตร์ Manchester by the Sea ไปฉายในโรงภาพยนตร์ก่อนแล้วจึงฉายบนสตรีมมิ่งในเวลาถัดมา ทำให้ภาพยนตร์นี้ได้รับรางวัลออสการ์ 2 รางวัล

*** ทำไมถึงรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น

Ted Sarandos หัวหน้าฝ่ายเนื้อหาของ Netflix ใช้คำว่า disrespectfully คือการไม่เคารพ ที่อาจเกิดกับภาพยนตร์หรือผู้สร้างภาพยนตร์ซึ่ง Netflix เลือกไปฉายที่คานส์ ดังนั้น Netflix จึงเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ส่งภาพยนตร์ใดไปฉายในงานเทศกาลคานส์ที่จะจัดขึ้นในพฤษภาคมนี้

การไม่เคารพนี้ไม่แน่ชัดว่าเป็นการตีความของ Netflix ต่อความเห็นของคณะกรรมการคานส์หรือไม่ โดย Fremaux หัวหน้าทีมงานคานส์ไม่ใช่คนเดียวที่เห็นสมควรว่าต้องตัดสิทธิ์เนื้อหาของ Netflix แต่ Steven Spielberg ผู้กำกับดังก็เคยให้ความเห็นผ่านสื่อ ว่าภาพยนตร์ของ Netflix มีรูปแบบรายการโทรทัศน์ พร้อมกับสรุปว่าควรตัดสิทธิ์ภาพยนตร์ของ Netflix จากการได้รับรางวัล Academy Award ด้วย

ความเห็นนี้แสดงว่า คนทำหนังไม่ได้มองว่า Netflix สามารถ disrupt อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ เหมือนที่ disrupt วงการทีวีได้สำเร็จ ความจริงนี้ทำให้ Netflix อาจรับไม่ได้

*** ทำไมต้องคิดซื้อโรงภาพยนตร์

ก่อนหน้านี้ Netflix เป็นข่าวว่าพยายามหาทางออกเรื่องนี้ด้วยการเสนอขอฉายภาพยนตร์ในโรงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎของผู้จัดเทศกาลคานส์ แต่ติดที่กฎหมายฝรั่งเศสบัญญัติเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไว้ว่า ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์จะไม่สามารถแสดงบนบริการสตรีมมิ่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจากหนังชนโรง

วิธีนี้ไม่ตอบโจทย์ Netflix แน่นอน รายงานระบุว่า Netflix กำลังหันไปหารางวัลในฮอลลีวูดแทน โดย Netflix อาจจะคิดแก้ปัญหาแบบคนมีเงิน คือซื้อโรงภาพยนตร์เพื่อทำธุรกิจโรงภาพยนตร์พันธุ์ใหม่ด้วยตัวเอง

นอกจากแผนจุดพลุ original movie หรือภาพยนตร์ต้นฉบับของ Netflix เองจำนวนกว่า 80 เรื่องในปีนี้ มีรายงานว่า Netflix คิดลงทุนซื้อโรงภาพยนตร์บางแห่งตามรายงานของ LA Times แหล่งข่าวชี้ว่า Netflix เลือกเจรจากับเครือโรงภาพยนตร์ Landmark Theaters ในสหรัฐฯ เพื่อให้การนำภาพยนตร์ที่ผลิตเองออกฉายได้สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือเข้าเกณฑ์การประกวดรางวัล Academy Award ของฝั่งฮอลลีวูดด้วย

ข่าวนี้ไม่มีการยืนยัน แต่มีสื่อหลักชี้ว่าการเจรจายังไม่ลงตัวเรื่องราคาซื้อขาย ทั้งหมดนี้นักลงทุนไม่หวั่นใจ ทำให้หุ้น Netflix โตกระฉูดต่อเนื่องตั้งแต่ประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุด

ตลอดมกราคมมีนาคมที่ผ่านมา Netflix มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (8.33 ล้านราย) ถือว่าชะลอตัวลงเล็กน้อยจากช่วง 3 เดือนก่อนที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 7.4 ล้านราย (จำนวนนี้ 1.96 ล้านคนเป็นผู้ชมในสหรัฐฯ) ผลคือฐานสมาชิก Netflix มีจำนวนทะลุ 125 ล้านรายทั่วโลก

ตัวเลขสวยงามนี้ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ The Cloverfield Paradox ที่ Netflix ใช้วิธีลงโฆษณาในการแข่งขัน Super Bowl Sunday ให้ผู้ชมคลิกชมได้ทันทีหลังการแข่งขันจบลง แม้ว่า The Cloverfield Paradox จะถูกนักวิจารณ์สับเละ แต่ Netflix ยังภูมิใจ และบอกว่าการโฆษณาบน Super Bowl Sunday เป็นการแสดงให้เห็นว่าสตูดิโอภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ก็สามารถทำตลาดและส่งมอบผลงานให้กับผู้ชมได้ทันทีทั่วโลก โดยไม่ต้องรอให้มีโฆษณาบนโรงภาพยนตร์ก่อน

แน่นอนว่าความภูมิใจนี้สะท้อนว่า Netflix มีจุดยืนปฏิวัติวงการภาพยนตร์ ไม่ใช่วงการทีวีที่ทำสำเร็จมาแล้ว ซึ่งการปฏิวัตินี้จำเป็นต้องได้รับการยอมรับ เป็นเหตุผลว่าทำไม Netflix จึงอยากได้รางวัลจากจักรวาลคนทำหนังนัก.