แซนด์วิชไม่ฮิต? Subway เล็งปิดร้าน 500 แห่ง

เชนร้านจำหน่ายแซนด์วิชฟาสต์ฟู้ด Subway คาดว่าจะปิดร้านสาขากว่า 500 แห่งในอเมริกาเหนือภายในปีนี้ แต่ประเมินว่าจะสามารถเปิดร้านใหม่ได้มากถึง 1,000 แห่งในต่างประเทศนอกสหรัฐฯ แทน

วันนี้ Subway มีร้านค้ามากกว่า 44,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งถือว่ามากกว่าแบรนด์ค้าปลีกรายใด โดยสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ National Retail Federation บันทึกว่า Subway มีร้านค้าในสหรัฐอเมริการาว 27,000 แห่งในปี 2016 น้อยกว่า 17,500 แห่งของ Yum Brands ที่ดำเนินธุรกิจ Pizza Hut, Taco Bell และ KFC รวมถึง 14,000 แห่งของ McDonald’s 

ล่าสุด Subway ประกาศเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทจะปิดร้านค้าบางส่วนเนื่องจากแผนปรับปรุงร้านที่บริษัทประกาศในช่วงฤดูร้อน โดยแผนนี้ต้องการให้เจ้าของแฟรนไชส์ Subway เทเงินลงทุนมากขึ้นในการดำเนินงานของทุกร้าน

ปัจจุบัน ร้านค้าปลีกของ Subway ทั้งหมดเป็นเจ้าของโดยแฟรนไชส์ ไม่ได้เป็นของบริษัทเอง แผนการปรับปรุงร้านนั้นได้แก่ การเพิ่มจุดให้บริการตัวเอง เก้าอี้ที่นั่งที่สะดวกสบายมากขึ้น มีระบบอินเทอร์เน็ต Wi-Fi และมีพอร์ตชาร์จ USB ให้ลูกค้าได้ใช้งาน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Subway ได้ประกาศแผนงานหลายด้าน เพื่อหวังชนะใจลูกค้าและกู้วิกฤติยอดขายลดลง

การปิดร้านสาขาถือเป็นนิมิตใหม่ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับ Subway ที่ผ่านมา มีรายงานว่าร้านค้า Subway มากกว่า 350 แห่งในสหรัฐฯ นั้นขาดทุนในปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทที่หันมาควบคุมร้านมากกว่าการเพิ่มจำนวนร้านค้า อย่างไรก็ตาม Subway ไม่มีการเปิดเผยจำนวนสาขาที่แน่ชัดในปี 2017 แต่มีรายงานวงในว่ามีการปิดสาขาหลายร้อยแห่งแล้ว

ทั้งหมดนี้ Subway เพิ่งยอมรับครั้งแรกเรื่องการปิดสาขา โดยแถลงการณ์ระบุว่าบริษัทหวังว่าจะมีตัวตนที่เล็กกว่า แต่มีผลกำไรที่มากกว่าในช่วงทศวรรษหน้า โดยเชื่อว่าผลกำไรที่มากขึ้นจะชัดเจนทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือ 

แต่ในภูมิภาคอื่นของโลก Subway ชี้ว่าบริษัทจะขยายฐานตลาดให้ใหญ่ขึ้น เบื้องต้น มีการประเมินว่า Subway สามารถขยายสาขาตามที่ประกาศไว้ได้ เนื่องจากที่ตั้งร้านของ Subway นั้นใช้พื้นที่น้อยกว่าคู่แข่งรายอื่น ทำให้เป็นเหตุผลหลักที่ Subway สามารถขายแฟรนไชส์ในราคาไม่แพงมาก ส่งให้มีการเปิดร้าน Subway หลายจุดมากกว่าที่จะเป็นร้าน McDonald’s หรือ Burger King

อีกเหตุผลที่บีบให้ร้าน Subway ในสหรัฐฯ กำลังจะหายไปอีกหลายจุด คือภาวะร้านค้าและห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ นั้นทยอยปิดตัวลงต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่กรณีของ Subway อาหารจานด่วนไม่มีคู่แข่งบนสังเวียนออนไลน์ก็จริง แต่เมื่อผู้คนเดินทางมาห้างน้อยลง ร้านค้า Subway ก็ให้บริการลูกค้าน้อยลงตามไปด้วย

สำหรับ Subway นักวิเคราะห์ประเมินว่าเจ้าพ่อแซนด์วิชได้รับผลกระทบทางอ้อมเหมือนร้านค้าอาหารจานด่วนรายอื่น ที่ต้องเจ็บปวดกับจำนวนลูกค้าเข้าร้านที่ลดลงตามจำนวนคนเดินห้าง นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ฟาสต์ฟู้ดอย่าง Subway ถูกมองข้ามไป

ผลกระทบจากจำนวนคนเดินห้างในสหรัฐฯ ที่น้อยลง ยังส่งถึงแบรนด์อื่นด้วย โดยล่าสุดมีข่าวว่าเชนร้านวิตามินดังอย่าง GNC ก็กำลังปิดร้านสาขากว่า 200 แห่งในสหรัฐฯ ทำให้ GNC Holdings ถูกมองว่าเป็นอีกรายล่าสุดที่ร่วมขบวนพาเหรดปิดร้านสาขาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและกู้วิกฤติ

กรณีของ GNC แบรนด์ค้าปลีกวิตามินแจ้งในเอกสารถึงหน่วยงานสหรัฐฯ ว่าจะปิดร้าน 200 สาขาในปีนี้ ปัจจุบัน GNC มีร้านมากกว่า 3,385 แห่งในแดนลุงแซมและแคนาดา.