“ซับเวย์” เปลี่ยนสู่มือ “พีทีจี” ตั้งเป้าขยาย 500 สาขาใน 10 ปี เปิดโมเดล “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี

ซับเวย์
  • “ซับเวย์” (Subway) ในไทยเปลี่ยนมืออีกครั้งหลัง “โกลัค” ได้สิทธิบริหารมาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างยักษ์พลังงาน “พีทีจี” กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง”​ ผู้บริหารมือเก๋าในวงการ QSR
  • ปัจจุบันซับเวย์ในไทยมีอยู่ 148 สาขา โกลัคจะลงทุนเพิ่มปีละ 50 สาขา รวม 10 ปี 500 สาขา และจะเป็น Top 3 ในธุรกิจ QSR เมืองไทยภายใน 3 ปี
  • โมเดลร้านแบบใหม่จะเปิดร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี ภายในไตรมาส 4

“บริษัท โกลัค จำกัด” ประกาศได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียวของแบรนด์ร้าน “ซับเวย์” (Subway) ในไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทร่วมทุนของยักษ์ใหญ่พลังงานอย่าง “บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี” (PTG) ถือหุ้น 70% กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง” ถือหุ้น 30% (รวมทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)

(ซ้าย) “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี และ (ขวา) “เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด

“พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าวว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) คือ 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่บริษัทจะเข้าลงทุนตามแผนการกระจายพอร์ตโฟลิโอ (Diversify) โดยพีทีจีมี F&B ที่เป็นเรือธงอยู่แล้วอย่าง “กาแฟพันธุ์ไทย” ที่ขยายไปกว่า 800 สาขาทั่วประเทศ การได้สิทธิร้าน “ซับเวย์” เข้ามาในพอร์ตจะเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงในการขยายพอร์ตธุรกิจนี้ให้กว้างขึ้น โดยจะใช้โกลัคเป็นบริษัทที่คว้าสิทธิการบริหาร F&B แบรนด์อื่นๆ เข้ามาอีกในอนาคต

ปัจจุบันธุรกิจกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ในรายได้รวมของพีทีจี พิทักษ์กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะทำให้สัดส่วนกลุ่มนี้ขึ้นไปแตะ 40-50% ภายในปี 2570

 

โหมขยาย 500 สาขา “ซับเวย์” ภายใน 10 ปี

“เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด กล่าวต่อถึงเป้าหมายของ “ซับเวย์” ในไทยภายใต้การบริหารของโกลัค จะมีการขยายสาขารวม 500 สาขาภายใน 10 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 50 สาขา โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4-5 ล้านบาท

จากเป้าหมายดังกล่าว เชื่อว่าซับเวย์จะได้ขึ้นเป็น Top 3 ร้านอาหารประเภทจานด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยภายใน 3 ปี โดยวัดทั้งจากด้านรายได้และจำนวนสาขา

หากวัดจากจำนวนสาขา Positioning พบว่าถ้าซับเวย์ขยายได้ตามเป้า อนาคตจะเป็นรองแค่เพียง “KFC” ที่เปิดไปมากกว่า 1,000 สาขา (*รวมสิทธิแฟรนไชส์ของทุกบริษัท) และ “แมคโดนัลด์” ซึ่งมีกว่า 220 สาขาในปัจจุบัน

ซับเวย์
ตัวอย่างเมนูแซนด์วิชของซับเวย์

เพชรัตน์กล่าวต่อว่า แผนการเปิดสาขาจะมีการขยายไปทุกจุดที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงพยาบาล สนามบิน ตึกสำนักงาน และสถานีน้ำมัน ซึ่งกรณีสาขาในปั๊มน้ำมันจะไม่มีการจำกัดโอกาสเรื่องที่ตั้ง สามารถเปิดในปั๊มน้ำมันได้ทุกแบรนด์

นอกจากสถานที่ตั้งแล้ว เพชรัตน์มองว่าซับเวย์จะต้องเจาะตลาดต่างจังหวัดให้มากกว่าเดิม โดยวางเป้าจะบุกตลาดเมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองการศึกษาเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่

ซับเวย์ ภายใต้โกลัคจะเริ่มเปิดสาขาแรกเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีโมเดลใหม่เกิดขึ้นช่วงไตรมาส 4 เป็นร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ครั้งแรกในไทยของซับเวย์ ซึ่งจะเปิดทำการที่ “ปั๊มพีที นครชัยศรี”

สำหรับสาขาเดิมของซับเวย์ในไทยมีทั้งหมด 148 สาขา ซึ่งโกลัคจะได้สิทธิเฉพาะการเก็บค่าบริหารแฟรนไชส์ ขณะที่รายได้เต็มจากยอดขายอาหารจะมาจากสาขาใหม่ที่โกลัคเป็นผู้ลงทุนเปิดเองเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อสาขา (*สำหรับสาขาขนาดมาตรฐาน 50 ตร.ม.)

 

อยู่มานาน 2 ทศวรรษแต่ยังไม่ปัง

ประวัติการโลดแล่นของ “ซับเวย์” ในประเทศไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงมามาก เพราะแบรนด์นี้เข้ามาเปิดในไทยตั้งแต่ปี 2546 แต่ช่วงเริ่มต้น Subway International บริษัทแม่ของซับเวย์ในสหรัฐฯ เลือกบริหารโดยให้สิทธิแฟรนไชส์ในไทยแยกเป็นหลายบริษัท รวมแล้วเคยมีผู้ได้รับสิทธิพร้อมกันกว่า 20 บริษัท ต่างคนต่างบริหารสาขาในมือตามเขตที่ได้รับสิทธิมา

ด้วยเหตุที่เคยมีหลายบริษัทถือสิทธิ ซับเวย์จึงไม่ค่อยได้ทำการตลาดเพราะไม่มี ‘เจ้ามือ’ ที่แน่ชัด ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักมักจะเป็นชาวต่างชาติที่รู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้วมากกว่าคนไทย

จนกระทั่งปี 2562 มี “บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด” ที่ร้องขอจนได้รับโอกาสจากบริษัทแม่ให้ถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย ทำให้ซับเวย์มีการทำการตลาดถึงคนไทยมากขึ้น และมีการขยายสาขาเข้าพื้นที่คนไทย เช่น ปั๊มน้ำมัน

แต่เมื่อต้นปี 2567 นี้เอง “เพชรัตน์” ระบุว่า ทาง Subway International มีการเปิดเฟ้นหาผู้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์รายใหม่ในไทย จึงทำให้ “โกลัค” เห็นโอกาสเข้าไปเสนอแผนและสิทธิได้เปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มพีทีจี

 

ยังต้องแก้โจทย์เดิมคือ “สั่งยาก” – “ราคาสูง”

เพชรัตน์มองว่า ที่จริงแล้วซับเวย์มีจุดแข็งที่ชัดเจน คือการเป็น QSR ที่เหมาะกับ “สุขภาพ” มากที่สุด ด้วยเมนูอาหารมีผักสดให้เลือกหลากหลาย และใช้ขนมปังอบสดใหม่ในร้าน

ซับเวย์

เพียงแต่ว่าจุดอ่อนก็มีไม่น้อย จากการวิจัยผู้บริโภคพบว่าส่วนใหญ่รู้สึกว่าร้านซับเวย์ “สั่งยาก” จากการที่ต้องเลือกทั้งชนิดขนมปัง เลือกไส้ เลือกผัก เลือกซอส รวมถึงผู้บริโภคมองว่า “ราคา” ยังแพงกว่าถ้าเทียบกับ QSR แบรนด์อื่น

ทั้งหมดคือโจทย์ที่ซับเวย์ในไทยจะต้องแก้โจทย์ต่อไป โดยเพชรัตน์วางแผนแก้ไขเรื่องการสั่งอาหารด้วยการจัด “เมนูยอดฮิต” ให้ลูกค้าสั่งได้โดยไม่ต้องเลือกส่วนประกอบต่างๆ เพราะซับเวย์จัดไว้ให้แล้ว รวมถึงจะเริ่มลงระบบ “สั่งอาหารด้วยตนเอง” (Self-Order) ไม่ว่าจะสั่งผ่าน Kiosk หรือผ่าน QR CODE บนมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสบายใจขึ้นในการใช้เวลาเลือกและไม่ต้องห่วงว่าจะอ่านออกเสียงชื่อเมนูหรือซอสต่างๆ ผิด

ส่วนปัญหา “ราคา” เพชรัตน์กล่าวว่าจะแก้โจทย์นี้แน่นอน ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางต่างๆ เช่น ลดไซส์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาชิมง่ายขึ้น หรือ พัฒนาเมนูที่ต้นทุนต่ำลง เพื่อทำราคาให้แข่งขันกับ QSR อื่นได้

การเปลี่ยนมือครั้งนี้ของสิทธิแฟรนไชส์ “ซับเวย์” เป็นการย้ายเข้ามาอยู่ใต้ร่มหลังคาบ้านขนาดใหญ่ จากเครือข่ายของพีทีจีที่มีสมาชิกบัตร PT Max Card มากกว่า 21 ล้านสมาชิก และมีเครือข่ายสถานีน้ำมันมากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ น่าจะช่วยให้ซับเวย์มีแต้มต่อมากขึ้นในการเป็น QSR ในดวงใจของคนไทย