“แมคโดนัลด์” กับรายได้นิวไฮในประวัติศาสตร์  7.2 พันล้าน อานิสงส์เปิดร้านในสุวรรณภูมิ

แมคโดนัลด์ ประเทศไทย ปิดปี 2566 กวาดรายได้รวม 7,200 ล้านบาท เติบโต 31% ทุบสถิติรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากที่ทำตลาดในไทยมา 38 ปี ได้อานิสงส์ส่วนหนึ่งจากเมนูชุดสุดคุ้ม 99 บาท และการเปิดร้านในสนามบินสุวรรณภูมิได้สำเร็จ ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 15% และขยายสาขาเพิ่ม 20 แห่ง

ทุบสถิติรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์

ตลาดร้านอาหารมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอย่างสดใส หลังจากได้ผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 มาแล้ว มีการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารกลับมาทำการตลาด รวมถึงลงทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ทั้งการขยายสาขา และทำโปรโมชั่นต่างๆ 

“แมคโดนัลด์” หนึ่งในผู้เล่นใหญ่ในตลาด QSR หรือร้านอาหารจานด่วน ได้ฝ่ามรสุมช่วง COVID-19 มาอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ผู้เล่นรายอื่นในตลาด จากการปรับโจทย์ และปรับทัพองค์กรใหม่ ทำให้มีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2565 สามารถกลับมาทำกำไรได้ในรอบ 4 ปี อีกทั้งในปี 2566 ยังมียอดขายสูงสุดในประวัติการณ์

ในปี 2566 ที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ ประเทศไทยมียอดขาย 7,213 ล้านบาท นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งแมคโดนัลด์ ประเทศไทย มาเป็นระยะเวลากว่า 38 ปี ตั้งแต่ปี 2528 โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 31% จากปี 2565 ที่มียอดขายรวม 5,504 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิก็ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่เช่นกันอยู่ที่ 315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 168% จากปีก่อนหน้า

ในด้านของบุคลากร แมคโดนัลด์ได้แต่งตั้ง “กิตติวรรณ อนุเวชสกุล” ขึ้นเป็น CEO หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2565 ซึ่งกิตติวรรณเป็นลูกหม้อเก่าของแมคโดนัลด์มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียเมนูโลคอลต่างๆ หลังจากกิตติวรรณเข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ ทั้งในด้านของการสร้างแบรนด์ และขยายสาขา

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกิตติวรรณหลังจากขึ้นตำแหน่ง CEO แล้วนั้น ก็คือ การพาแมคโดนัลด์เข้าเปิดสาขาที่สนามบินสุวรรณภูมิได้สำเร็จ ได้เปิดให้บริการไปเมื่อต้นปี 2565 หลายคนอาจจะมองว่าแค่การเปิดร้านในสนามบิน ดูไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่สุดหินมากๆ เลยทีเดียว

เพราะพื้นที่ในสนามบินจะไม่เหมือนการเปิดร้านที่ศูนย์การค้า ที่ร้านค้าสามารถเลือกพื้นที่ และเช่าพื้นที่ได้ตามปกติ แต่สนามบินจะใช้ระบบประมูล เพื่อแข่งขันสรรหาพื้นที่ ร้านค้าแต่ละแบรนด์จึงต้องประมูลแข่งขันกัน

การที่เปิดสาขาในสนามบินที่มีทราฟฟิกทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติหมุนเวียนหลายสิบล้านคน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งกิตติวรรณบอกว่าการเปิดร้านในสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เติบโต แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนที่มีนัยสำคัญอยู่ไม่น้อย 

ดึงคนรุ่นใหม่ด้วย K-Pop และเมนูสุดคุ้ม

อีกหนึ่งโจทย์สำคัญของแมคโดนัลด์ในยุคนี้ก็คือ การดึงดูดลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น หมัดเด็ดสำคัญคือการจับกระแส K-Pop เป็นโกลบอลแคมเปญในการคอลแลปกับวงบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ้ปจากประเทศเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้านี้ได้เคยคอลแลปกับวง BTS มาแล้ว และในปี 2566 ได้คอลแลปกับวง NewJeans ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากพอสมควร

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นฮีโร่ช่วยสร้างยอดขายให้แมคโดนัลด์นั่นก็คือ “ชุดสุดคุ้ม” หรือเรียกว่า Flagship Value Platform ช่วยตอบโจทย์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า มีชุด EVM (Everyday Value Meals) เป็นตัวชูโรง ในราคา 99 บาท มีทั้งชุดเมนูเบอร์เกอร์ ชุดเมนูไก่ทอดแมค พร้อมเครื่องดื่ม รวมไปถึงชุด McSavers 1+1 ในราคา 55 บาท ให้เลือกจับคู่เมนูของว่าง และของหวาน โดยในปีที่ผ่านมา ชุด EVM มีอัตราการเติบโต 47.8% ในขณะที่ชุด McSavers 1+1 มีอัตราการเติบโต 12%

เหตุผลที่ชุด EVM ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี เพราะว่ามีราคาที่จับต้องได้ เป็นราคาที่ไม่เกิน 100 บาท สามารถทานได้ทั้งเบอร์เกอร์ให้เลือกทั้งหมู เนื้อ ไก่ และปลา รวมไปถึงไก่ทอด ซึ่งคนไทยให้การตอบรับกับโปรโมชั่นเมนูที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าอยู่แล้ว 

ในปี 2566 ได้มีการขยับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่ม “เบอร์เกอร์” ด้วยเช่นกัน ได้เปิดตัวแคมเปญ Next Gen Burger ด้วยการปรับสูตรครั้งใหญ่ ตามคอนเซ็ปต์ Hotter, Juicier, Tastier เพื่อเป็นการดันตลาดเบอร์เกอร์มากขึ้น เพราะเบอร์เกอร์มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดของแมคโดนัลด์ที่ 50% รองลงมาคือไก่ทอด 20% และอื่นๆ 30%

ขยายเพิ่มอีก 20 สาขา ผุดโมเดลใหม่อีก 2 แบบ    

ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีสาขารวม 230 แห่งทั่วประเทศ โดยที่สามารถแบ่งสัดส่วนรายได้เป็นทานในร้าน 63%, เดลิเวอรี่ 27% และไดรฟ์ทรู 10%  

โดยในนี้ได้ใช้งบลงทุนรวม 600 บาท ในการขยายสาขา และลงทุนด้านไอที คาดว่าจะขยายสาขาเพิ่ม 20 สาขา และรีโนเวตร้านใหม่อีก 25 สาขา ในปี 2566 แมคโดนัลด์ได้เปิดตัวร้านดีไซน์ใหม่ 2 สาขา คือ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และ บางแค ด้วยคอนเซ็ปต์ Geometry โมเดิร์น ทันสมัย ตกแต่งด้วยลวดลายเฉพาะตัวในสีสันสดใส 

คอนเซ็ปต์ CUBE

ในปีนี้แมคโดนัลด์มีแผนที่จะใช้ดีไซน์ร้านด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่อีก 2 คอนเซ็ปต์ ได้แก่ คอนเซ็ปต์ CUBE ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความสุขในการแกะกล่อง Happy Meal มาผสานองค์ประกอบการออกแบบเพื่อเปลี่ยนโฉมความทรงจำในวัยเด็กสู่พื้นที่จริง และคอนเซ็ปต์ Essential Ingredients 2.0 หยิบเอาเอกลักษณ์ของแมคโดนัลด์ ในรูปทรงแบบไดนามิก และสีสันต่างๆ มาถ่ายทอดในรูปแบบของศิลปะป๊อปอาร์ต

คอนเซ็ปต์ Essential Ingredients 2.0

พร้อมกับรับเทรนด์ ESG ด้วยสาขาต้นแบบที่มีการตกแต่งบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกร้านด้วยวัสดุรีไซเคิล สร้างบรรยากาศอันร่มรื่นด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในไตรมาส ที่ 2 ของปี 2567

สำหรับปี 2567 แมคโดนัลด์ได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 15% พร้อมกับคงความเป็นผู้นำในตลาดเบอร์เกอร์