สู้ศึกยักษ์ข้ามชาติ! กระทรวงดิจิทัล ดัน “ไปรษณีย์ไทย” หัวหอกยกระดับ “อีคอมเมิร์ซชุมชน” ครบวงจร

ภายในงานสัมมนา “START UP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” จัดโดย  positioningmag.com และองค์กรพันธมิตร ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. โดยมี พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ถ่ายทอดแนวคิดในการผลักดันสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั่วของไทยให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางกระแสการแข่งขันด้านอีคอมเมิร์ซ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จากคู่แข่งต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในไทย

ในส่วนของรัฐบาลเองก็มีโครงการต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ คือการส่งเสริมให้สินค้าชุมชนมีระบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งกระทรวงดีอีได้มอบหมายให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับร้านค้าชุมชน ใช้ระบบการบริหารงาน ณ จุดขาย หรือ POS (Point of Sale : POS)

ระบบการบริหารงาน ณ จุดขาย จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ร้านค้าชุมชนทำการสต๊อกสินค้า จำหน่ายสินค้า ตลอดจนการลงทะเบียนสมาชิก รวมถึงสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายผ่านระบบได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระและลดต้นทุนในการจัดเก็บสต๊อกสินค้าของร้านค้าชุมชน

ช่วงแรกนำร่องที่บ้านสระบัวก่ำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ในการติดตั้งระบบ POS e-Commerce ชุมชน ที่มีจุดเด่นเรื่องของผ้าทอพื้นเมืองลายโบราณได้ประสบความสำเร็จแล้วเพราะเน้นให้ชาวบ้านใช้งานง่าย มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่างก็ใช้งานได้แล้ว

“กระทรวงดิจิทัลได้ให้ทางไปรษณีย์ไทยขับเคลื่อนโครงการ POS หรืออีคอมเมิร์ซ เวลานี้กำลังทดสอบสังคมอยู่ เราได้ไปทำการทดสอบระบบแล้ว 60-70% เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว”

สำหรับการดำเนินโครงการนี้ จะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560 ทำการคัดเลือกและพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ POS จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ระยะที่ 2 ปี 2561 ติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน POS จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และ ระยะที่ 3 ช่วงเวลา 5 ปี 2562 – 2564  พัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืน โดยจะขยายผลการติดตั้งระบบงานให้ครบ 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ

โดยชุมชนเป้าหมายสามารถหาซื้ออุปกรณ์ POS ได้กับทางไปรษณีย์ไทยโดยมีตั้งแต่อุปกรณ์ชุดใหญ่ อุปกรณ์ขนาดย่อม และอุปกรณ์แบบโมบายล์

ส่วนกรณีที่คนในสังคมแสดงความเป็นห่วงว่า ทุนต่างชาติจะเข้ามาครอบงำระบบการค้า และอีคอมเมิร์ซนั้น ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และพยายามผลักดันไปรษณีย์ไทย ซึ่งระบบขนส่ง-โลจิสติกส์หลักของประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือสูง มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ อี-คอมเมิร์ซ ชุมชนระดับประเทศ รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และไปรษณีย์ไทย 4.0 ซึ่งจะเห็นผลภายในปี 2562 โดยมีการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ

ส่วนแรก e-Marketplace & Platform : 

โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน อี-คอมเมิร์ซ โดยผ่านแอปพลิเคชั่นระบบบริหารงาน ณ จุดขาย (POS) สำหรับร้านค้าสมาชิก มีระบบการชำระเงินและการขนส่งให้แก่ร้านค้าชุมชนที่มีผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานให้เป็นจุดติดตั้งระบบงานและอุปกรณ์ POS เพื่อให้บริการแก่สมาชิกชุมชนประชาชนในชุมชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการของตนเอง จะต้องดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายสินค้า และจัดทำข้อมูลสินค้า ได้แก่ รูปภาพสินค้า ประเภทสินค้า ราคาจำหน่าย ข้อมูลของสินค้า เช่น ส่วนผสม คุณประโยชน์ วิธีการใช้หรือรับประทาน วิธีการเก็บรักษา เป็นต้น

เมื่อลงทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายสินค้าและนำรายการสินค้าเข้าสู่ระบบแล้ว สินค้าดังกล่าวจะถูกจัดเก็บไว้เป็นคลังของข้อมูลส่วนกลางในรูปแบบ e-Catalog ที่พร้อมจะเชื่อมโยงไปยังร้านจำหน่ายสินค้าออนไลน์อื่นๆ ได้

ระบบ POS ยังมีระบบควบคุมสต๊อกสินค้า การจำหน่ายประจำวัน ระบบสมาชิก รายงานทางบัญชีการเงิน และระบบสต๊อกสินค้าเสมือน (Virtual SKU) จึงไม่ต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ที่ร้านค้าชุมชน ช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บ และบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนา Marketplace ออนไลน์ ให้ร้านค้าชุมชนในโครงการสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์  www.thailandpostmart.com ให้มีรูปแบบให้ทันสมัย รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และสามารถนำมาฝากขาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้

ส่วนที่สอง e-Payment : 

พัฒนาระบบชำระเงิน ครอบคลุมทุกความต้องการ เช่น ชำระทั้งบัตรเดบิต เครดิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หักผ่านบัญชีธนาคาร เครื่อง ATM รวมทั้งการชำระเงินในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ณ ที่อยู่ผู้รับด้วยเงินสดบัตรเดบิต/เครดิต เงินอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนที่สาม e-Logistics : 

ระบบตรวจสอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ผู้รับสินค้ารู้สถานะของสินค้า กำหนดสถานที่ในการจัดส่ง วิธีการรับสินค้าว่าจะให้มาส่ง ณ จุดใด หรือให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ออกไปรับฝากนอกสถานที่ในกรณีที่มีปริมาณงานจำนวนมาก.