Netflix จากร้านเช่าเกือบเจ๊งสู่เจ้าพ่อหนังออนไลน์ “ฆ่า” หรือ “อนาคต” วงการภาพยนตร์

Netflix รูปแบบใหม่ของการชมภาพยนตร์ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างจริงจัง ว่าสุดท้ายแล้วส่งผล “ดี” หรือ “ร้าย” แต่วงการภาพยตร์กันแน่

จากธุรกิจให้เช่าหนังส่งทางไปรษณีย์ 

เมื่อมองไปถึงความสำเร็จ อิทธิพล และผลกระทบของ Netflix ต่อวงการภาพยนตร์ ดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อไม่น้อย ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ Netflix ที่เริ่มต้นทำธุรกิจให้เช่าแผ่น DVD และอยู่ในภาวะ “ลูกผีลูกคน” อยู่หลายปี

Netflix เริ่มต้นกิจการในปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการดูหนังผ่านแผ่น DVD กับการประกอบกิจการให้บริการเช่าแผ่นหนังแบบส่งทางไปรษณีย์ และอนุญาตให้ผู้เช่าหนังสามารถเก็บหนังไว้ดูนานแค่ไหนก็ได้ จนกว่าจะเช่าเรื่องใหม่ ก็ค่อยส่งหนังเรื่องเก่าที่เช่ากลับคืนไป โดย รีด เฮสติ้ง ผู้ก่อตั้ง Netflix บอกว่าเขาเริ่มธุรกิจนี้ก็เพราะเบื่อหน่ายกับการเช่าม้วน VDO หรือแผ่น DVD ที่ส่วนใหญ่จะมีกำหนดระยะเวลา และถ้าไม่ส่งคืนตรงเวลาก็จะโดนปรับ จนเขาเคยถูกร้านเช่าหนัง Blockbuster ปรับเงินเพราะไม่ส่งหนังเรื่อง Apollo 13 คืนตรงเวลาถึง 40 เหรียญฯ มาแล้ว

จนเมื่อดำเนินธุรกิจได้ 2 ปี Netflix จึงเริ่มขยายกิจการด้วยการลองเปิดให้คนเช่าหนังผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเจ้าแรก โดยมีหนังให้เลือก 925 เรื่อง ตามจำนวนแผ่น DVD หนังที่เพิ่งจะเริ่มมีจำหน่ายมาได้ไม่กี่ปีในตอนนั้น

ปฏิเสธข้อเสนอ 50 ล้านเหรียญฯ จาก Blockbuster 

Netflix เริ่มต้นจากการให้เช่าหนังเรื่องต่อเรื่อง จนเปลี่ยนเป็นการสมัครสมาชิกรายเดือน จนในปี 2000 สามารถหาสมาชิกได้ถึง 300,000 คน แต่ในแง่ธุรกิจแล้ว Netflix กลับประสบภาวะขาดทุน จนเครือร้านเช่าวิดีโอยักษ์ใหญ่ในยุคนั้นอย่าง Blockbuster ได้ยื่นข้อเสนอ 50 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อ Netflix โดยทาง Blockbuster มีข้อเสนอว่าจะให้ Netflix ดูแลเรื่องงานเช่าหนังทางออนไลน์ ส่วน Blockbuster ที่มีสาขาอยู่ทั่วสหรัฐฯ จะเป็นผู้ส่งหนังให้กับลูกค้าเอง แทนที่จะแบบเดิมจะใช้การส่งผ่านไปรษณีย์ ซึ่งน่าจะลดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่สุดท้ายทาง Netflix เลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป

น่าเหลือเชื่อว่าในระยะเวลาอีก 10 กว่าปีต่อมา Blockbuster กลับต้องเลิกกิจการไป เพราะหมดยุคสมัยของแผ่น DVD แต่ Netflix กลับผงาดขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจภาพยนตร์ที่ว่ากันว่ากำลังจะเปลี่ยนแปลงวงการหนังไปตลอดกาล

ครั้งหนึ่ง Netflix เคยประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนต้องให้พนักงานหลายร้อยคนออกจากงาน จนในกลางยุค 2000s Netflix ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการขยายกิจการให้เช่าหนังด้วยการให้ลูกค้าดาวน์โหลดหนังไปดูที่บ้านผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต จนกระทั่ง Youtube เริ่มประสบความสำเร็จขึ้นมา Netflix ให้ไปให้บริการเผยแพร่หนังผ่านระบบสตรีมมิงแทน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจโฮมวิดีโอมาจนถึงปัจจุบัน

เปลี่ยนวิถีการดู “ทีวี” 

ถึงปัจจุบัน Netflix มีสมาชิกถึง 125 ล้านคนใน 190 ประเทศทั่วโลก และนอกจากจะเผยแพร่หนังฮอลลีวูดรวมถึงหนังจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว Netflix ก็ยังกลายมาเป็นผู้ผลิตเนื้อหาเจ้าสำคัญของวงการหนังไปเรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่ Netflix ได้เข้ามาแทนที่ “ร้าน และแผ่น DVD” แต่ตอนนี้ Netflix กำลังจะกลายเป็นยิ่งกว่านั้น

ผู้บริหารเชื่อว่า Netflix จะ “กลายเป็นโทรทัศน์” ในรูปแบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2025 Netflix เปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างในวงการ อย่างการนำเสนอซีรีส์จากเดิมที่จะฉายประจำทุกสัปดาห์ในเวลาเดียวกันครั้งละ 30 ถึง 60 นาที Netflix ก็เลือกที่จะปล่อยซีรีส์ออกมา “ครบทุกตอนทั้งซีซัน” ในคราวเดียว โดยไม่จำกัดระยะเวลาของตอน แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ผลิตเอง จนทำให้ผู้สร้างสามารถยืดหยุ่นเนื้อหาของผลงานได้ตามชอบใจ ซีรีส์แต่ละเรื่องไม่ต้องมาเสียเวลากับ “ส่วนย้อนความ” เหมือนซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไป

และที่สำคัญที่สุดซีรีส์ของ Netflix ยังฉายแบบไม่ต้องมีโฆษณา ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องกังวลกับความกดดันในเรื่องเรตติ้ง และยังสร้างโอกาสให้ซีรีส์แต่ละเรื่องค่อย ๆ สร้างฐานผู้ชมไปเรื่อย ๆ จนช่วยไม่ให้ซีรีส์ถูก “ยกเลิก” หรือ “แคนเซิล” ง่ายเกินไปเหมือนซีรีส์ทางโทรทัศน์ด้วย

เขย่าวงการภาพยนตร์ 

นอกจากซีรีส์แล้ว Netflix ก็ยังเข้ามาเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของโลกไปแล้วด้วย แน่นอนว่าก่อนหน้านี้สถานีโทรทัศน์เคเบิลอย่าง HBO หรือ Showtime ก็สร้างภาพยนตร์ของตัวเองด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งที่ Netflix กลับสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการภาพยนตร์มากกว่า เพราะ Netflix ไม่ได้เน้นสร้างหนัง “เฉพาะกลุ่ม” หรือหนังที่เหมาะสำหรับฉายทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังลงทุนระดับ 100 ล้านเหรียญฯ สร้างหนังฟอร์ม “บล็อกบาสเตอร์” เพื่อเผยแพร่ทาง Netflix โดยเฉพาะ

จาก Bright หนังแฟนตาซีของ วิล สมิธ ที่ลงทุนระดับ 90 ล้านเหรียญฯ ในปีหน้า Netfilx จะมีผลงานใหม่ของ มาร์ติน สกอร์เซซี อย่าง The Irishman ที่ได้ โรเบิร์ต เดอ เนโร, อัล ปาชิโน และ โจ เพซี กลับมาร่วมกันกันอีกครั้งออกเผยแพร่ด้วยทุนสร้างถึง 140 ล้านเหรียญฯ และด้วยชื่อชั้นของดารากับผู้กำกับก็น่าจะเป็นหนังที่ได้ลุ้นรางวัลสำคัญ ๆ ของวงการภาพยนตร์ในปีหน้าได้เลย

แต่สุดท้ายแล้ว The Irishman อาจจะไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไรเลยก็ได้ เพราะคนในวงการเริ่มจะ “กันท่า” หนังของ Netfilx อย่างออกนอกหน้ากันมาเรื่อย ๆ

เวทีประกวดหนัง “ไม่ต้อนรับ” Netflix 

แม้แต่ “พ่อมดฮอลลีวูด” สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็ยังแสดงความเห็นแบบตรง ๆ ว่า หนังจาก Netflix ไม่สมควรจะมีสิทธิเข้าชิงรางวัลออสการ์ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เหมือนหนังทั่ว ๆ ไป “เมื่อใดที่คุณเน้นไปที่การฉายทางโทรทัศน์ หนังของคุณก็คือ หนังทีวี ถ้าเป็นผลงานที่มีคุณภาพดี ก็สมควรที่จะได้ชิงรางวัลเอมมี แต่ไม่ใช่ออสการ์ ผมไม่เชื่อว่าหนังที่เข้าฉายแค่ 2-3 โรง ในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ควรจะมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลของสถาบันศิลปะวิทยาการภาพยนตร์” สตีเวน สปีลเบิร์ก กล่าว

สปีลเบิร์ก เองยอมรับว่า ปัจจุบันนี้ หนังทีวี “มีคุณภาพยอดเยี่ยมกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของวงการโทรทัศน์” โดยเฉพาะผลงานของ HBO, Netflix และ Amazon ที่เน้นเผยแพร่ผลงานทางสตรีมมิง ที่ต่างทุ่มเงิน และดึงคนทำหนังระดับแถวหน้ามาสร้างหนังเพื่อฉายให้ผู้ชมดูกันที่บ้าน แต่สปีลเบิร์ก ยังคงเชื่อว่า เราควรจะแยกหนังโรง กับหนังที่ผลิตเพื่อดูที่บ้าน ให้ออกจากกันโดยสิ้นเชิง

เมื่อปีก่อน ผลงานของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บองจุนโฮ เรื่อง Okja ก็เคยถูกโห่ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แม้หนังจะได้รับเสียงชมว่ามีคุณภาพดีก็ตาม แต่หนังเรื่องนี้ก็ถูกต่อต้าน เพราะเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ทาง Netflix เป็นหลักนั่นเอง ซึ่งคนที่เมืองคานส์ เชื่อว่าไม่ควรให้หนังทีวีมาลุ้นรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่แห่งนี้ จนทำให้ในปีนี้เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้ตัดสินใจตัดสิทธิหนังที่เน้นฉายทาง Netflix ไม่ให้เข้าชิงรางวัลในสายประกวดของคานส์ไปเรียบร้อย ด้วยการอ้างกฎหมายของฝรั่งเศสที่กำหนดว่าสื่อที่จะเป็น “ภาพยนตร์” จะต้องไม่เผยแพร่ในรูปแบบ “โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์” หลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป

Netflix “ฆ่า” โรงภาพยนตร์ หรือ คืออนาคตของวงการหนัง 

ปัญหาของ Netflix ในสายตาคนทำหนังจำนวนหนึ่งก็คือนโยบายที่ Netflix ยืนกรานอย่างหนักแน่นอนว่าจะเผยแพร่หนังทางช่องทางของตัวเอง “ทันที” โดยไม่ผ่านโรงภาพยนตร์ และ Netflix ก็ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการฉายหนัง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎของเวทีประกวดต่าง ๆ และยังบอกว่าการตัดสินใจของคานส์นั้น “ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของเทศกาลภาพยนตร์โดยสิ้นเชิง” 

ยังคงเป็นคำถามที่มีการถกเถียงมากมายว่าสุดท้ายแล้ว Netflix “ดีต่อวงการภาพยนตร์หรือไม่?” มีความกังวลว่า Netflix จะทำลายธุรกิจโรงภาพยตร์ คนทำหนังอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ขึ้นชื่อว่าชื่นชอบการถ่ายหนังในโรงภาพยนตร์ เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า Netflix คือการปฏิวัติวงการที่น่ายกย่อง แต่เขาก็ยืนยันว่าคงจะไม่ไปทำหนังกับ Netflix เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายส่งหนังตรงถึงผู้ชมโดยตรงแบบไม่ผ่านโรงภาพยนตร์ของทาง Netflix “นั่นเป็นนโยบายที่ขาดความใยดี และเป็นรูปแบบที่ไม่ได้เกื้อหนุนการฉายหนังในโรงภาพยนตร์ … คุณก็เห็นที่ Amazon ยินดีที่จะเอาหนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ก่อน … ระยะห่าง 90 วันระหว่างหนังฉายในโรงภาพยนตร์เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว”

แต่ในเวลาเดียวกับข้อมูลของ Variety กลับระบุว่าสิ่งที่มีส่วนให้ยอดขายตั๋วหนังลดลงในปัจจุบัน ไม่ได้มาจากความสำเร็จของ Netflix (และบริการประเภทเดียวกันอื่น ๆ) แต่อย่างใด แต่มาจากค่าตั๋วที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มโรงพิเศษประเภท IMAX และ 3D ให้มากขึ้นเกินความต้องการของคนดู … สุดท้ายแล้ว Netflix น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีทีเดียวว่า สำหรับคนดูในยุคปัจจุบันแล้ว “ขนาดจอ” อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่างที่คิด 

และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม Netflix หรือการเผยแพร่หนังผ่านทางสตรีมมิงคือ “อนาคต” ของวงการหนังอย่างแน่นอน.

Source