เทคนิคเล่า Harry Potter ไม่รู้จบแบบ J.K. Rowling

กว่า เจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K. Rowling) จะหาสำนักพิมพ์ยอมซื้อแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ไปตีพิมพ์ได้ ชีวิตก็ต้องผ่านความลำบากยากเข็ญมานาน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องเล่าที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียน ที่ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก จนไม่มีใครไม่รู้จักว่า ช่วงชีวิตหนึ่งของ เจ.เค. กว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านอะไรมาบ้าง

เมื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกตีพิมพ์ และวางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1997 และถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 73 ภาษาทั่วโลก มียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเล่ม และกลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเป็นแบรนด์ต้องมีชีวิต นอกจากแฟนคลับรุ่นเก่าที่มีเรื่องราว ความทรงจำ ให้นึกถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์อยู่เสมอ ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพิ่มอีก และเชื่อว่าอีกไม่นานภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีโอกาสที่จะถูกนำกลับมาทำซ้ำใหม่อีกครั้งตามสไตล์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกเหนือจากที่มีการแตกรายละเอียดบางช่วงบางตอนจากผลงานเขียนของเจ.เค.ที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมาทำเป็นภาพยนตร์บ้างแล้ว

ความติดตราตรึงใจจากเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เพียงทำให้แบรนด์แฮร์รี่ พอตเตอร์เท่านั้นที่มีมูลค่าและคงอยู่ แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้เป็นเครดิตในการสร้างผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปได้ด้วย เช่น ล่าสุดภาพยนตร์ I Kill Giant ก็โฆษณาว่าเป็นผลงานของผู้สร้างภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฯลฯ

ขณะที่ เจ.เค. ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน และถือเป็นอีกแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมหนังสือและภาพยนตร์ และกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่มีแฟน ๆ ติดตามความเคลื่อนไหว ความคิด และผลงานของเธออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นเป็นข้อดีที่ทำให้เธอหล่อเลี้ยงให้แฟนคลับนึกถึงเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

ไม่ใช่ว่าทุกวันเธอจะต้องสื่อสารถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์ตลอดเวลา หรือโฆษณาผลงานชิ้นใหม่ เพราะแบบนั้นคงไม่แยบยลพอสำหรับนักเขียนระดับโลก แต่เพียงแค่เธอพูดถึงตัวละครบางตัว ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทเล็กใหญ่ หรือมีกลุ่มแฟนแค่ไหน ก็ทำให้แฟนคลับหวนกลับไปถึงบรรยากาศของโลกพ่อมดในแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ในทันที

เป็นเทคนิคที่ดูไม่ยาก แต่ก็ต้องมีความสร้างสรรค์ในตัว โดยเฉพาะการผสมผสานโลกในจินตนาการเข้ากับโลกแห่งความจริงของแฟนคลับ ที่ทำให้กลมกลืนกันสนิท ประหนึ่งเรื่องราวแห่งจินตนาการเป็นความทรงจำที่แท้จริงส่วนหนึ่งของชีวิต

หนึ่งในวิธีการของเจ.เค. คือการสร้างประเพณีประจำปี เพื่อระลึกถึงตัวละครในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเธอจะออกมาทวีตขอโทษแฟน ๆ ที่ต้องเขียนบทให้ตัวละครใดตัวหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นที่รักของแฟนคลับที่ชื่นชอบตัวละครตัวนั้นเป็นพิเศษ หรือผู้ชื่นชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องเศร้าใจกับการจากไปของตัวละครตัวนั้นในเรื่อง

โดยทุกปี เจ.เค.จะเลือกวันที่ 2 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบ the Battle of Hogwarts ที่เกิดขึ้นในปี 1998 ตามท้องเรื่อง และปีนี้ เธอเลือกที่จะแสดงความอาลัยให้กับการจากไปของ ด็อบบี้ เอล์ฟ ประจำบ้าน (Dobby the House elf) ด้วยข้อความว่า

“It’s that anniversary again, This year, I apologise for killing someone who didn’t die during the #BattleofHogwarts, but who laid down his life to save the people who’d win it. I refer, of course, to Dobby the house elf.”

(มันเป็นวันครบรอบอีกครั้ง ปีนี้ ฉันต้องขอแสดงความเสียใจที่ฆ่าใครบางคนในการต่อสู้ที่ฮอกวอร์ตส์ แต่เขาเป็นคนที่ยอมเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อช่วยคนที่มีโอกาสจะชนะการต่อสู้ แน่นอน ฉันหมายถึง แด่ด็อบบี้ เอล์ฟ ประจำบ้าน)

ด็อบบี้ เป็นตัวละครที่ปรากฏตัวครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน ห้องแห่งความลับ (Harry Potter and the Chamber of Secrets) และตายตอน เครื่องรางยมทูต (Deathly Hallows) โดยถูก เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ (Bellatrix Lestrange) ฆ่าตอนที่พยายามจะช่วยแฮร์รี่และเพื่อน ๆ หนีพวกผู้เสพความตายจากคฤหาสน์มัลฟอย

แน่นอน การสร้างประเพณีเช่นนี้ เป็นที่ถูกใจแฟน ๆ และทำให้เจ.เค. ได้รับคำขอบคุณจากแฟนคลับ ที่อุทิศช่วงเวลาวันนี้ของทุกปีเพื่อระลึกถึงตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง และครั้งนี้สำหรับด็อบบี้ ตัวละครที่เป็นตัวแทนของความเสียสละอย่างแท้จริง และก่อนจะมาถึงด็อบบี้ ตัวละครสำคัญที่ได้รับการอาลัยถึงมาแล้ว เช่น ศ.สเนป (Severus Snape) รีมัสลูแปง (Remus Lupin) เฟรด วีสลีย์ (Fred Weasley) ฯลฯ.