ข้อคิดจากงานสัมมนา “START UP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” จัดโดย positioningmag.com ในเครือผู้จัดการ และองค์กรพันธมิตร ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
รู้หรือไม่ว่าธุรกิจบริการที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ในไทย หลายอย่างอายุน้อยกว่าเด็กที่เริ่มเรียนอนุบาล หรือ ป.1 แต่สามารถทำรายได้ระดับพันล้านบาท เป็นสตาร์ทอัพที่โตมีปีกบินเป็นยูนิคอร์นว่อนอาเซียน แต่ในหลายบริการเหล่านี้มีคนไทยหรือสตาร์ทอัพไทยที่มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
อณัฐภิสา จันทะไทย ผู้อำนวยการโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ผู้บริหารมือถือในไทย เพิ่มบทบาทตัวเองในการสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพมานานหลายปี ทั้งการช่วยหาเงินทุน จัดบูสแคมป์ (Boot camp) รวมทั้งมีพื้นที่ให้สตาร์ทอัพที่ยังไม่มีทุนมากพอมีพื้นที่ระดมความคิดในรูปแบบของ Co-working space แต่ไม่มีอะไรที่จะกระตุ้นหรือปลุกเร้าจิตวิญญาณของสตาร์ทอัพได้ดีเท่าความสำเร็จที่เป็นไปได้ของเหล่าสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ลองมามองผ่านมุมมองของดีแทคกันดูว่า สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn) หรือสตาร์ทอัพที่มีเงินลงทุนระดับพันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ที่เพาะพันธุ์ได้แล้วราว ๆ 6-7 ตัวในภูมิภาคอาเซียน แต่ละรายเป็นใครและมีบทบาทเช่นไร แล้วพวกเรามีส่วนร่วมในการเติบโตสนับสนุนธุรกิจที่เขาคิดขึ้นมาให้บริการกันอย่างไร
“หนึ่งในสตาร์ทอัพที่เรียกกันว่ายูนิคอร์น คือ แกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi) ที่คนไทยคุ้นเคย เหมือนให้บริการมานาน แต่เป็นธุรกิจที่เพิ่งฉลองครบ 5 ปีไปหมาด ๆ ด้วยความสำเร็จในการระดมทุนได้ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7 หมื่นหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการระดมทุนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อณัฐภิสา กล่าว
2 พันล้านเหรียญใหญ่แค่ไหน ถ้าคิดไม่ออกให้ลองดูจากยอดการใช้งานเหล่านี้
- แกร็บแท็กซี่ มียอดดาวน์โหลด 45 ล้านครั้ง
- ให้บริการมาแล้ว 55 เมืองในอาเซียน
- ใน 1 วันมีคนเรียกใช้บริการแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รวม 2.5 ล้านครั้ง
- เฉลี่ยเท่ากับ 70-80 ล้านครั้งใน 1 เดือน
นอกจากแกร็บ ยูนิคอร์นตัวอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีอีก 5 ตัว ได้แก่ ROV เกมที่มาจากบริษัท ซี กรุ๊ป เป็น unicorn ที่มาจากสิงคโปร์ Lazada แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเบอร์หนึ่งของไทย ก่อนจะตกไปอยู่ในมืออาลีบาบา ก็จัดเป็นยูนิคอร์นของภูมิภาคนี้เช่นกัน เว็บไซต์จองที่พัก Traveloka. Tokopedia และ Gojek (โกเจ๊ก) กลุ่มยูนคอร์นที่เกิดและเติบโตจากอินโดนีเซีย
มีคนพูดว่าอินโดนีเซียเป็น Unicorn Farm เพราะว่าทุกๆ ปีจะมี unicorn เกิดใหม่ในประเทศเพราะทุกธุรกิจไปที่อินโดเซียหมด อินโดนีเซียได้เปรียบอะไร ไทยเสียเปรียบตรงไหน
อณัฐภิสา กล่าว พร้อมเฉลยว่า
ความได้เปรียบของอินโดนีเซียที่แตกต่างจากไทยอยู่ตรงที่ การที่อินโดนีเซียมีประชากร 260 ล้านคน มากกว่าไทย 4 เท่า เพียงแค่คิดธุรกิจที่มีผู้ใช้ถึงระดับสิบล้านร้อยล้านก็อยู่ได้แล้ว เพราะฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่กว่าไทย แต่สตาร์ทอัพไทย นอกจากจะยากที่จะทำให้บริการเป็นที่นิยมในไทยได้มากพอ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะขยายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งการขยายข้ามประเทศก็จะเพิ่มความยากขึ้นอีกระดับ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสตาร์ทอัพไทย
ขณะที่ด้านเงินทุน จากการจัดอันดับตัวเลขเงินระดมทุนของ Tech in Asia ในปี 2017 พบว่า สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นลำดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยมาเลเซียได้ดีลใหญ่ของ แกร็บแท็กซี่ มาช่วยเพิ่มมูลค่า ส่วนไทยจัดเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังโต
“ปีที่แล้วไทยมี aCommerce ที่มีการระดมทุน 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำธุรกิจ fulfillment และ logistic ซึ่งให้บริการทั้งในไทยและอินโดนีเซียแล้วก่อนระดมทุนเพื่อขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อีกดีลคือ Pomelo เป็น fast fashion ที่ทำเรื่องผลิตเสื้อผ้าให้ทันต่อดีมานด์ ระดมทุนได้ 19 ล้านเหรียญในซีรีส์ไฟว์ (Serie V) ดีลใหญ่ๆ เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่บวกมาก และในจำนวนนี้ก็ยังมี Priceza ที่เปิดให้บริการในไทยและไปขึ้นอันดับที่อินโดนีเซียรวมอยู่ด้วย”
อะไรคืออุปสรรคของสตาร์ทอัพไทย
ในมุมของดีแทค แอคเซอเลอเรท มอง Ecosystem ที่เป็นอุปสรรคของสตาร์ทอัพไทยว่าประกอบด้วยเรื่องหลัก ๆ เหล่านี้
เริ่มจากจำนวนประชากรของไทย ที่มีอยู่ 60-70 ล้าน ถือว่าไม่มากพอและเนข้อจำกัดด้านขนาดตลาด เรื่องของกฎหมายที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี ไม่ทันสมัยพอ ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่เกิดขึ้น การขาดแคลนสาขาวิชาชีพที่สนับสนุนการทำงานของสตาร์ทอัพ เช่น ไทยยังไม่มีวิชาเกี่ยวกับ Data Science ที่สอนในระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่ค่าจ้างแพงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่นในประเทศเวียดนามที่อัตราค่าจ้างคนมีทักษะในระดับเดียวกับไทยจะถูกกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้น่าจับตาว่า หากวันใดเวียดนามมีทรัพยากรด้านการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพที่พร้อมมากกว่านี้ อาจจะพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพที่รวม Tech Talent ที่มีความพร้อมมากกว่าไทย
อีกปัญหาหนึ่งที่สตาร์ทอัพต้องเผชิญ คือ ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้ เป็นการระดมทุนรอบใหญ่อย่างซีรีส์เอ ประมาณ 10% ที่เหลือเป็นรายย่อยที่ยังมีฐานลูกค้าไม่มาก กลายเป็นปัญหาคอขวดด้านการะดมทุนใหญ่ที่จะทำได้ไม่ง่าย
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของไทยก็ยังมีแนวโน้มดี ๆ เหลืออยู่
“ปีที่แล้วมีโอกาสคุยกับ COO ของ Tech in Asia เขาบอกว่า Ecosystem บ้านเรามีความพิเศษอยู่ตรงที่ ถ้าเกิดบ้านเราสนใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนสตาร์ทอัพ ก็แอคทีฟค่อนข้างมาก เหมือนปีที่แล้ว TechSource มี Cooperate ที่ตั้งกองทุนเพื่อที่จะลงทุนและสนับสนุนสตาร์ทอัพมากกว่า 15 กองทุน มากกว่า 15 บริษัท ซึ่ง Cooperate พวกนี้เขาไม่ได้มีแค่เงินอย่างเดียว แต่มีทั้งฐานลูกค้า มีทั้ง resource ที่จะทำเรื่องของนวัตกรรมที่ช่วยสตาร์ทอัพให้เติบโตได้”
รูปแบบนี้คือแนวทางเดียวกับที่ดีแทค แอคเซอเลอเรท พยายามทำเพื่อให้สตาร์ทอัพก้าวข้ามจาก C Stage ไปสู่ซีรีส์เอเพื่อเติบโตขึ้นต่อไปได้ นั่นคือการช่วยหาสตาร์ทิจิกอินเวสเตอร์ ที่ให้ทั้งเงิน ฐานลูกค้า และก็พันธมิตรที่จะมาช่วยต่อยอดธุริจของสตาร์อัพ
ในงาน Demo Day ซึ่งถือเป็นวันจบการศึกษาของสตาร์ทอัพที่ดีแทคสนับสนุนให้การอบรม และร่วมลงทุน จัดต่อเนื่องทุกปี ปีที่แล้วเป็นปีที่ 5 มีบริการที่ร่วมลงทุนไปแล้ว 34 บริษัท ในทุกกลุ่มเทคโนโลยี ตั้งแต่ เกษตร โลจิสติกส์ กีฬา มาร์เก็ตเพลส ฟินเทค ในจำนวนนี้มีที่จัดอยู่ในซีรีส์เอเพียง 4 บริษัท และขายบริษัทออกไปแล้ว 1 บริษัท โดยขายให้กับ ookbee ซึ่งมี Tencent บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากจีนถือหุ้นอยู่
“นอกจากให้เงินทุน ระหว่างนั้นเราก็มีบูสต์แคมป์ เพื่อให้ความรู้โดยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงมาพูด อาทิ ผู้เขียนหนังสือสตาร์ทอัพที่สตาร์ทอัพต้องอ่าน อย่าง เนียน อียาล (Nir Eyal), ผู้เขียน Lean Startup คนพวกนี้เป็นที่ปรึกษาให้กับเฟซบุ๊กและกูเกิลมาก่อน บินจากซิลิคอน วัลเลย์ มาสอน มานั่งฟังและช่วยคอมเมนต์สตาร์ทอัพที่อยู่ในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ซึ่งเรามี Co-Working Space ที่จามจุรีสแควร์ ให้ทำงานฟรีจนกว่าจะเป็นมืออาชีพและขยายทีมมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง”
แน่นอนว่า ในวัน Demo Day ของทุกปี จะต้องมีเครือข่ายนักลงทุนที่ดีแทคเชิญมานั่งฟังร่วมด้วย ทั้งจากไทยและต่างประเทศ
“ต้องไม่ลืมด้วยว่า ดีแทค แอคเซอเลอเรท เองก็อยู่ภายใต้ดีแทคซึ่งมีฐานลูกค้าเกือบ 30 ล้านคน ก็มีส่วนช่วยสตาร์ทอัพให้เข้าถึงลูกค้า นำพันธมิตรและสินค้าต่าง ๆ ภายใต้ดีแทคมาต่อยอด ทำเป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ เช่น โปรโมชั่น พริวิเลจ เช่นการทำงานจากสตาร์ทอัพที่ให้บริการผ่าน tourism sim ของดีแทค และโครงการ dtac reward”
3 สตาร์ทอัพแห่งความภูมิใจของดีแทค แอคเซอเลอเรท
การบ่มเพาะสตาร์ทอัพของดีแทค มีตัวอย่างความสำเร็จเล็กถึงใหญ่มากมาย และนี่คือสตาร์ทอัพสามรายที่ดีแทคฯ ขอยกมาเป็นตัวอย่าง
เคลมดิ Claim Di เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับเคลมประกันรถยนต์ ซึ่งมีภาพประทับใจเมื่อ แจ็ค ผู้พัฒนาไปเปิดตัวที่สิงคโปร์ แล้วได้เป็นพันธมิตรกับประกันภัยเบอร์หนึ่งของสิงคโปร์ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 25% ชื่อ Income Insurance ตอนนี้เคลมดิปักธงที่สิงคโปร์แล้ว กำลังจะโต และอยู่ในช่วงขยายธุรกิจ
Finnomena มี เจท พ่อหมอแห่งวงการการเงินและการลงทุน เป็นผู้พัฒนา ซึ่งลาออกจากการเป็น CIO ของบริษัทการเงินขนาดใหญ่เพื่อมาเป็นสตาร์ทอัพด้านการลงทุนและการออม จากวัน Unlock Day ที่มีคนมีคนมานั่งฟังบริการผู้ช่วยการลงทุนเพียง 500 คน วันนี้มีคนลงทุนผ่านแพลตฟอร์มของ Finnomena เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท และยังเติบโตเพิ่มขึ้นทุกเดือน
Ricult ของเอิร์น ซึ่งได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ของ Sloan ซึ่งเป็น Business School ของ MIT ว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ฉลาดที่สุด ที่เป็นศิษย์เก่าของ MIT เป็นเด็กไทยคนเดียวในนั้น สิ่งที่ Ricult ทำคือการใช้ AI Machine Learning ดึงเอาข้อมูลจากดาวเทียม ลงมาวิเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เพิ่มผลผลิต และช่วยให้แบงก์สามารถปล่อยกู้ให้เกษตรกรรายย่อยได้
“นี่คือคนที่มีศักยภาพ ที่ลงมาทำ START UP และยังรอการสนับสนุนอยู่ เราเชื่อเหลือเกินว่า เรากำลังจะเห็น unicorn ตัวแรกของไทย อีกไม่ช้าแล้ว และหวังว่าทุกคนจะสนับสนุนเด็กไทย สนับสนุน START UP ไทย เพื่อให้เราเห็น unicorn ตัวแรกในเร็ววัน” อณัฐภิสา กล่าวตบท้าย.