บ้านใครติดแอร์เกิน 1 เครื่อง แล้วเบื่อเวลาเห็นบิลค่าไฟ ต้องรู้จักผู้หญิงคนนี้ไว้ พริบตา วงศ์อนวัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นอาร์จีเอ็ม จำกัด ผู้ผลิตและเจ้าของนวัตกรรม N-SAVE อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพที่ทำให้แอร์เย็นจัดแต่ประหยัดไฟ แถมรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคทุกสมัยที่ใช้แอร์
ก่อนหน้านี้ถ้าใครค้นหาชื่อของเธอในกูเกิล ข้อมูลที่พบจะเห็นเป็นบทสัมภาษณ์ในฐานะนักเรียนคอร์สภาษาญี่ปุ่นของอาจารย์แบงก์ ที่สัมภาษณ์ถึงประสิทธิภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียน แต่ตอนนี้บทบาทเธอเติบโตอย่างรวดเร็วสมยุคสตาร์ทอัพ (Start Up) เพราะในช่วง 2 ปีกับเงินลงทุน 1 ล้าน ทำให้เธอกลายเป็นสตาร์ทอัพเล็ก ๆ รายหนึ่งที่น่าจับตา
วันนี้นอกจากรายได้สุทธิในกระเป๋าของบริษัทน้องใหม่รายนี้ที่มีเงินสะสมถึง 22.4 ล้านบาทภายในเวลาเพียง 2 ปี กับนวัตกรรม N-SAVE ที่เปิดให้บริการโดนใจคนใช้แอร์ไม่อยากเปลืองไฟ เธอยังแบ่งปันประสบการณ์ 5 ขั้น ที่ต้องผ่านไปให้ได้ก่อนจะประสบความสำเร็จในวันนี้ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
เคล็ดลับขั้นที่ 1 อุปสรรคคือบททดสอบ แต่ถ้าไม่อยากติดค้างความฝันในใจ ต้องไม่ล้มเลิกก่อนสำเร็จ
สิ่งที่พริบตาเจอคือการเป็นสตาร์ทอัพ ไม่ว่าหน้าไหนก็ต้องเจอบทอุปสรรคและผ่านความรู้สึกท้อแท้เหมือนกัน วันหนึ่งเมื่อเธอมีโอกาสได้พูดคุยกับ นาวิน แสงสระศรี ผู้คิดค้นและวิจัยนวัตกรรม N-SAVE ของบริษัท วันแรกที่เจอกันคือวันที่นาวินกำลังรู้สึกหมดไฟและกำลังคิดจะเลิกทำธุรกิจ
“นก (ชื่อเล่นของพริบตา) บอกเขาว่า คนที่ล้มเลิกในวันที่ล้มเหลวมีมาก แต่ถ้าวันนี้เราต่อสู้จนสำเร็จในจุดที่สูงสุด แล้วค่อยวางมือจากไป นอกจากจะไม่ติดค้างใคร ก็ยังไม่ต้องติดค้างความฝันในใจของตัวเองด้วย”
ข้อดีของสตาร์ทอัพคือเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินจำนวนน้อย แต่ต้องอาศัยความเพียรมาก กำลังใจที่เธอให้กับนาวินในวันนั้น คือดึงจิตวิญญาณของความเป็นครูของนาวินให้ฮึดขึ้นมา โดยบอกว่า ถ้าเขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาเองก็จะเป็นแบบอย่างของเด็กรุ่นหลัง แล้วความสำเร็จที่ได้รับก็ทำให้คุณนาวินประสบความสำเร็จ และกลายเป็นแบบอย่างที่จับต้องได้ในวันนี้
อีกเทคนิคที่พริบตาใช้คู่กัน คือ วลีเด็ดที่ว่า “BEGIN WITH THE END IN MIND” จากหนังสือ 7 HABBITS ซึ่งหมายถึง “การวาดภาพความสำเร็จไว้ในใจแล้วไปให้ถึง” เพื่อให้รู้ว่าจะลากเส้นความสำเร็จจากจุดเริ่มต้นไปถึงปลายทางได้อย่างไร
“ทุกครั้งที่ท้อ วลีนี้จะทำให้จินตนาการถึงภาพที่เราเคยฝันเอาไว้ มีกำลังใจว่าอีกนิดเราก็จะถึงแล้ว และทำให้วันนี้บริษัทยังอยู่ต่อและประสบความสำเร็จได้”
เคล็ดลับข้อที่ 2 สินค้าคือหัวใจธุรกิจ ต้องสมบูรณ์และมีจุดอ่อนน้อยที่สุด
ไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการ สินค้า (บริการ) คือหัวใจหลักที่จะสร้างรายได้และการเติบโตให้กับบริษัท เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุดและปิดจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด หรือตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และต้องไม่หยุดการพัฒนา
“N-SAVE เป็นนวัตกรรมที่หลายคนต่อต้านในช่วงแรก เพราะมองว่านวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานมีมากมาย ฟังกันจนเบื่อแล้วก็ไม่เชื่อว่าประหยัดได้จริงไหม หลอกกันหรือเปล่า ใช้กับแอร์บางคนก็ว่าประหยัดได้จริงแต่แอร์ไม่เย็น”
เมื่อ Pain Point ของลูกค้าเป็นแบบนี้ N-SAVE จึงต้องเลือกที่จะทำให้ประหยัดไฟและทำให้แอร์เย็นสวนทางกับเพอร์เซ็ปต์ชั่นที่มีอยู่ แถมเพิ่มเติมหมัดแย็บด้วยการใส่ใจให้แอร์สามารถยืดอายุการใช้ได้นานขึ้นถ้าติด N-SAVE
หลักการทำงานของ N-SAVE คือการใช้ “น้ำทิ้ง” ซึ่งปกติจะไหลทิ้งสมชื่อให้กลับเข้ามาหมุนเวียนในกล่อง N-SAVE จินตนาการตามง่าย ๆ ให้นึกถึงตอนฝนตกแอร์จะเย็นจนหนาวเพราะฝนตก N-SAVE ก็เอาเจ้ากล่องรับน้ำทิ้งไปติดตั้งที่คอยล์ร้อนของแอร์เมื่อน้ำทิ้งเข้ามาในกล่องก็ทำให้คอยล์ร้อนเย็นขึ้น และทำให้แอร์ด้านในเย็นเร็ว เย็นจัด ตัดไฟไว้ขึ้น เพียงเท่านี้ก็ช่วยประหยัดค่าไฟได้ 30-40% เรียกว่าเป็นระบบติดแอร์ให้กับแอร์อีกที
“ฉะนั้นสำหรับนก N-SAVE เปรียบเสมือนเครื่องปั๊มเงิน ในทุกๆ ครั้งที่เราเปิดแอร์ น้ำที่เราเคยปล่อยทิ้ง เมื่อมันถูกกลับเข้ามาหมุนเวียนในกล่อง N-SAVE จะสามารถช่วยประหยัดไฟ ที่สำคัญ ทำให้เรานำเงินตรงนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้มากขึ้น”
ส่วนน้ำที่ไหลทิ้งเข้ามาในกล่องจะไม่ทำให้แอร์ผุ เพราะเป็นน้ำกลั่นบริสุทธิ์ที่ปลอดภัย
เคล็ดลับข้อที่ 3 สินค้าดีต้องขายให้เป็น ขายให้ดีต้องให้ถึงใจลูกค้า
สินค้าของบริษัทเป็นเรื่องของวิศวกรรม ฮาร์ดแวร์ เข้าไม่ถึงผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจ ถ้าไม่เข้าใจก็มีสิทธิ์ไม่อนุมัติการซื้อ เพราะฉะนั้นต้องหาเทคนิคให้คนมีอำนาจตัดสินใจเข้าใจง่าย
“นกใช้วิธีพลิกโฉม รูปแบบการนำเสนอสินค้า ให้เป็นรูปแบบของออนไลน์ทั้งหมด แล้วทำให้ลูกค้าเข้าใจมากขึ้น แล้วสร้าง ดร.เอ็น ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยในการขาย แล้วเน้นพูดในสิ่งที่ลูกค้าอยากฟัง
ดร.เอ็น เป็นคนหนึ่งคน ตัวเล็กๆ น่ารัก มุ้งมิ้ง ที่สามารถนำเสนอเทคโนโลยี N-SAVE ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งลูกค้ากว่า 80% ของบริษัทตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ ตอนนี้มาจากออนไลน์ ดร.เอ็น จึงเป็นตัวแทนขายที่ให้ผลเข้ากับยุคดิจิทัล และตอบโจทย์ของเทคสตาร์ทอัพไปพร้อมกัน
เคล็ดลับข้อที่ 4 สินค้าต้องเป็นยูนิเวอร์แซลและกระจายให้ทั่วถึง
“เราออกแบบ N-SAVE ให้เหมือนเคสมือถือ หมายความว่า N-SAVE จะต้องไปติดตั้งได้กับแอร์ทุกยี่ห้อ ทุกแบรนด์ และจะต้องติดตั้งง่าย และ maintenance ง่าย”
ที่สำคัญดูแลง่าย และตอนนี้ก็ได้รับความพอใจตอบรับจากผู้ใช้ประเภทองค์กรดังหลายบริษัท เช่น ปตท. เอสซีจี ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่พริบตาเคยทำงานด้วยมาก่อน
“นอกจากติดตั้งให้ลูกค้าใช้งาน เราก็เข้าไปหาองค์กรเหล่านี้เพื่อทำการวิจัยร่วมกันและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ที่ SCG เราประหยัดไปกว่า 56% สำหรับการใช้งานของเก็บเซิร์ฟเวอร์ แต่การใช้งานในห้องทำงานที่มีคนทำงานปกติ อัตราการประหยัดไฟส่วนใหญ่จะอยู่เฉลี่ยที่ 30-40%”
ยอดขายตอนนี้ของ N-SAVE จาก 10 เครื่องในปีแรก เข้าสู่ปีที่ 3 รวมแล้วช่วยประเทศไทยประหยัดค่าไฟลงได้ 42 ล้านบาท (รวม 3 ปี)
“ฉะนั้นถ้าคนไทยติด N-SAVE ล้านเครื่องก็จะช่วยลดการใช้ไฟได้ถึง 500 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับกำลังการผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ 1 โรงเลยทีเดียว”
เคล็ดลับข้อที่ 5 ข้อสุดท้าย สินค้าต้องได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย
ในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบัน ตลาดไทยเคยมีทั้งการประหยัดไฟด้วยวิธีการโกงค่าไฟสารพัดวิธี การบอกว่าอยู่ ๆ จะช่วยประหยัดไฟได้ขนาดนี้ N-SAVE ก็ถูกมองประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอีกสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างธุรกิจข้อสุดท้ายจากคำแนะนำของพริบตา เธอแนะนำว่า
ต้องคล่องกฎหมาย ถึงจะขยายธุรกิจได้อย่างปลอดภัย
เพราะโดยทั่วไปคนที่มุ่งแต่ขยายธุรกิจ อาจจะลืมตระหนักไปว่า จะขยายให้ปลอดภัย ไอเดียที่ใช้ในการสร้างธุรกิจ ต้องคิดถึงการจดสิทธิบัตรไว้ด้วย อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือยุ่งยากว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรมากมาย
“เรื่องความถูกต้องทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน และเป็น First priority ที่ต้องคิดถึง เวลามีไอเดียในการทำธุรกิจ ควรต้องไปจดสิทธิบัตร ไว้ก่อน”
พริบตาแชร์ประสบการณ์ตรงว่า ทุกครั้งที่ไปจดสิทธิบัตร มักจะพบคนที่มีปัญหาถูกขโมยผลงานอยู่เสมอ เพราะคนคิดไม่ได้จด แต่คนจดไม่ได้คิด จึงอยากให้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยให้คิดเสมอว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งของเรา”
ฟัง 5 ขั้นตอน ที่ดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ไม่มีธุรกิจอะไรที่ประสบความสำเร็จผ่านแต่ละขั้นไปได้ง่าย ๆ วันนี้ถ้าคุณผ่านข้อไหนไปแล้วสักข้อ ก็จงให้กำลังใจตัวเองเถิดว่า อย่างน้อยคุณก็ประสบความสำเร็จไปแล้วอย่างน้อย 20% หรือ 1 ใน 5 เลยทีเดียว.