บางทีคนเราก็ไม่รู้หรอกว่า การมีแพชชั่น (Passion) ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บวกกับการตั้งเป้าหมาย (Purpose) ที่จะทำอะไรสักอย่าง จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน แต่เพียงแค่ต่อเติมเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาด้วยแพชชั่นและวางเป้าหมายให้ชัดอยู่เสมอ ไม่ว่าอะไรก็มีโอกาสสำเร็จได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภายใน
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา หรือ ไว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด สตาร์ทอัพผู้ได้รับมอบหมายให้พูดในหัวข้อ “Passion and Purpose” เพื่อแชร์ประสบการณ์จากมุมของไพรซ์ซ่า และเขาเลือกที่จะเล่าสิ่งที่เกิดเป็นไพรซ์ซ่า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตส่วนตัวในวัยเด็ก ที่เชื่อว่าส่งผลต่อชีวิตและสไตล์การทำงานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้
วัยเด็กของทุกคนไม่มีอะไรซับซ้อน เช่นเดียวกับ ธนาวัฒน์ ที่ชื่นชอบเครื่องเล่นเกม อาตาริ เกมคอนโซลแกมแรกของเขาที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่และเป็นของฮิตในยุคนั้น อาตาริทำให้เขาและพี่ชายสนุกกับวิดีโอเกมได้ทั้งวัน และเรียนรู้จักการใช้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะเครื่องเล่นมีแค่จอยสติ๊ก หรือคันโยกเป็นหลัก กับปุ่มอีกปุ่มเดียวที่ใช้กดเพื่อปล่อยอาวุธหรือแอคชั่นอะไรสักอย่างในเกม เช่น กดโยในเกมโบว์ลิ่ง ฯลฯ
แน่นอน เขาผ่านประสบการณ์การเล่นเกมฮิตอย่าง Space Invaders ที่เด็กยุคเดียวกันส่วนใหญ่เคยเล่นเพราะเป็นเกมที่ฮิตมาก แต่เขาเปลี่ยนจากเล่นในอาตาริมาเล่นในคอมพิวเตอร์
“ผมโชคดีที่ที่บ้านทำธุรกิจเสื้อผ้า คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการรันธุรกิจ คอมพิวเตอร์สมัยนั้นเครื่องใหญ่มากจอโมโนโครมมีสีเดียว ผมไม่ได้สนว่าคอมพิวเตอร์ใช้งานอย่างไรแต่สนใจตรงที่มีเกมให้เล่นไหม แล้วคนขายก็ไม่พลาดลงโปรแกรมเกมให้ผมกับพี่ชายสนุกกับคอมพิวเตอร์เครื่องนี้”
Space Invaders จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาวัฒน์สนใจคอมพิวเตอร์ไปโดยปริยาย ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าพนักงานของธุรกิจครอบครัวใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ทำอะไร เริ่มรู้จัก โปรแกรม CU Writer ซึ่งเป็น Word Processor ที่เขมาเชื่อว่าน่าจะเป็นโปรแกรม Word ตัวแรกของประเทศไทย เขียนโดยอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ในการพิมพ์รายงานแทนพิมพ์ดีด ทำรายงานการขาย
“ที่ทำให้ผมตื่นเต้นคือ มันช่วยคำนวณการขายได้ด้วย ยุคนั้นไม่มีไมโครซอฟท์เอ็กเซล มีแต่โปรแกรมที่เรียกว่า Lotus 1-2-3 เป็นระบบ DOS ต้องใส่กดปุ่ม/ เพื่อเข้าเมนูไม่มีเม้าส์ คอมพิวเตอร์นี้เองที่ช่วย Inspire ผมไปเรื่อยๆ จนผมอยากรู้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ประกอบด้วยอะไร ทำไมมันถึงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผมทำเงิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจได้ หรือแม้กระทั่งช่วยให้ผมเล่นเกมได้”
ความสนใจนี้ย้อนกลับไปถึงตัวเครื่องเกมอาตาริที่เขาเล่นมาก่อนด้วย ไม่รอช้า จัดการหาชุดไขควง เปิดดูข้างในเพื่อที่จะดูว่าเจ้าเครื่องพวกนี้ทำเกม Space Invaders ให้เขาเล่นได้อย่างไร แถมคุณพ่อคุณแม่เขาก็ไม่ห้ามอีกด้วย มาแนวสนับสนุนการค้นคว้าของลูก ๆ เต็มที่
เมื่อเข้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติมด้านคอมพิวเตอร์ก็ยังสนับสนุนให้ไปเรียน ซึ่งในยุคนั้นสถาบันสอนคอมพิวเตอร์มีจำกัด ธนาวัฒน์เลือกไปเรียนที่ ECC เริ่มเรียนตั้งแต่ DOS, CU Writer, Lotus และเรียนประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยเลย
“ตอนนั้นผมอยู่มัธยม ที่สถาบันไม่มีสอนประกอบคอมฯ ผมต้องไปหาเรียนแถวพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ตามร้านที่รับประกอบคอมฯ ผมนับถือช่างคอมฯจริง ๆ ที่สามารถเอาเมนบอร์ด RAM, CPU มาประกอบกัน พอได้เรียนรู้ผมก็เริ่มสนุก”
ไอเดียธุรกิจที่เป็นดีเอ็นเอของไพรซ์ซ่า จริง ๆ เริ่มเกิดหลังจากธนาวัฒน์กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมฯ และการประกอบคอมฯ ในสายตาญาติ ๆ ที่ไว้ใจให้เขาหาคอมพิวเตอร์ใหม่ให้
“ญาติ ๆ ผม ทำธุรกิจเช่นกัน ทุกครั้งเวลาจะซื้อคอมพิวเตอร์จะโทรหาผม ไว ช่วยซื้อคอมฯ ให้อี๊หน่อย ซึ่งผมจะดีใจมาก พาเขาไปเดินพันธุ์ทิพย์ ไปเลือกซื้ออุปกรณ์ แล้วก็ต้องตระเวนหาร้านที่ราคาดีที่สุด เปรียบเทียบราคาทุก ๆ ชั้นเพื่อให้มั่นใจแล้วรับประกันกับอี๊ว่า คอมพิวเตอร์ที่ผมประกอบให้ ราคาดีที่สุดชัวร์ ไวรับประกัน”
ไม่ใช่แค่อี๊ แต่แม้แต่ครูที่โรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้นถึงปลาย ต่างก็ไว้ใจเรียกใช้เขาไม่ว่าเวลาที่คอมพิวเตอร์มีปัญหา มีไวรัส หรือเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน ๆ เวลามีปัญหาการใช้งาน ซึ่งแทนที่เขาจะเบื่อหรือรำคาญกลับรู้สึกสนุกมากในการได้คุยและคอยให้คำแนะนำทีละขั้นตอนจนคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหากลับมาใช้งานได้
“ผมเข้าใจคำว่า Passion ตั้งแต่วันนั้นเลยว่า อะไรคือสิ่งที่ผมชอบ แต่ยังไม่รู้จักคำว่า Purpose ผมรู้แค่ผมมีความหมายกับผู้คน ช่วยเขาได้เรื่องการซื้อของที่ต้องการ รู้สึกที่มีส่วนช่วยให้เขาตัดสินใจซื้อสินค้าได้ดีขึ้น ดีใจที่ช่วยเขาแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงขั้นพาไปซื้อของ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ไพรซ์ซ่า (Priceza)
หลังจบมัธยม ธนาวัฒน์ ก็เลือกเดินตามใจตัวเอง เรียนในสิ่งที่ชอบมาก เลือกคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนฮาร์ดแวร์ เรียนเขียนโปรแกรม เรียนแบบชอบมากจนจบก็อยากไปทำงานเมืองนอกโดยที่ไม่เคยบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ พอจบถึงได้บอกทีเดียวว่า มีความฝันจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย จบปริญญาโทแล้วอยากหางานทำที่อเมริกาสัก 4-5 แล้วค่อยกลับมาช่วยที่บ้าน อยากให้คุณพ่อช่วยซัพพอร์ตก่อน
“คุณพ่อผมร้องไห้เลย ร้องหนักมาก บอกว่า ที่บ้านทำธุรกิจไว้ขนาดนี้ไม่คิดจะมาช่วยบ้างเหรอ ผมอึ้งเลย เพราะที่ผมวาดฝันในหัวอยู่คนเดียวคือผมชอบสิ่งที่ผมเรียนมาก วันนั้นเลยเหมือนฟ้าถล่ม”
แม้จะเกิด Conflict แต่ด้วยความเป็นลูกจีนที่ต้องกตัญญูพ่อแม่ ธนาวัฒน์ เลือกอยู่ช่วยธุรกิจที่บ้าน โดยเริ่มงานด้วยเงินเดือน 12,000 บาทที่คุณพ่อตั้งไว้ ทำหน้าที่ Production Planning & Control ช่วยบริหารงานผลิต โดยลักษณะธุรกิจโรงงานผลิตเสื้อผ้าของครอบครัวผลิตมีแบรนด์ของตัวเองและมีออเดอร์ส่งออกที่ผลิตตามสั่งบ้าน เขาตั้งเป้าการทำงานว่า อยากช่วยทำออเดอร์แรกให้สำเร็จแม้จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับธุรกิจการ์เมนต์
“ออเดอร์แรกที่ผมทำตอนเรียนจบ เป็นออเดอร์ส่งออก ซึ่งผมผิดพลาดทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียหายหลายแสนบาทเกือบล้าน ทั้งที่ตั้งใจว่าจะทำเงินจากออเดอร์นี้ให้ดีและทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ แต่ต้องล้มเหลว เพราะออเดอร์ทำไม่ทัน คุณภาพไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ แต่ผลิตออกมาแล้วช้าไป ถูกลูกค้าที่อิตาลีปฏิเสธไม่รับของ ผมรู้สึกเฟลมาก ที่บ้านก็ว่า ไวทำไม่ได้เลยเหรอ แค่นี้ยังทำผิดพลาด แถมยังสำทับว่าแบบนี้อย่าไปหวังทำธุรกิจอะไรเลย”
ถ้าเป็นคนทั่วไป คงรู้สึกแย่มาก ยิ่งเป็นเด็กจบใหม่จำนวนเงินที่เสียหายถือว่ามากพอดู แต่ธนาวัฒน์เลือกที่จะบอกตัวเองว่า
ผมรู้สึกว่า มันต้องมีการเรียนรู้ ผมยังไม่เฟล ผมก็ต้อง keep up ขึ้นมา
ความรู้สึกแบบนี้เอง ที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องมี ล้มเหลวได้ แต่ล้มแล้วต้องรีบลุกแล้วเริ่มใหม่
เค้าร่างของธุรกิจไพรซ์ซ่า เริ่มเข้าในหัวเขาอีกครั้ง เมื่อเพื่อนสนิทวัยเด็กทัก MSN เข้ามาว่าจะหาซื้อคอมพิวเตอร์ที่ไหนดี พร้อมกับส่งลิงก์ของเว็บไซต์ในอเมริกาชื่อ PriceGrabber มาให้ธนาวัฒน์
PriceGrabber เป็นเว็บไซต์ที่ธนาวัฒน์สนใจมาก เพราะช่วยเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เพื่อนเขาจะซื้อได้แบบง่ายมาก ราคาเท่าไร ซื้อที่ไหน
“ผมสนใจเว็บนี้มากเลย แล้วคิดว่าทำไมไม่มีบริการแบบนี้ในไทย แล้วก็ย้อนไปถึงตอนที่ผมต้องเดินพันธุ์ทิพย์ทุกขั้นเพื่อเก็บโบรชัวร์ เทียบราคา”
ไม่รอช้า เขาเริ่มเอาความคิดนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เรียนปริญญาตรีด้วยกัน
“วันนั้นยังไม่ใช่ ไพรซ์ซ่า แต่เป็น ช้อปซาโนว่า (Shopsanova) เว็บแรกที่ผมใช้เวลา 2 ปี นับจากวันแรกที่คุยกับเพื่อนทำออกมาตอนที่ยังเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์”
ธนาวัฒน์ เล่าว่า สิ่งที่เขาต้องทำคือ การพัฒนาโปรดักต์ที่เก่งมาก เขาใช้วิธีดูฟีเจอร์ของเว็บไซต์ที่อเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แล้วเอาฟีเจอร์ของเว็บทั้งหมดมารวมกัน ทำให้ช้อปซาโนว่ามีฟีเจอร์ทั้งหมดที่เว็บไซต์ต่างประเทศมี
แต่พอเปิดเว็บไซต์ ก็เกิดปัญหา เพราะไม่ได้พัฒนาโปรแกรมเอง ไม่รู้การเขียนโค้ด (Coding) ภายในเป็นอย่างไร พอเจอคนใช้เยอะ เว็บตาย ซึ่งเป็นเรื่องหลอนมากสำหรับคนทำเว็บไซต์ ถ้าเซอร์วิสดาวน์ในช่วงที่มีคนใช้งาน
แน่นอนช้อปซาโนว่าไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนก็คงไม่เคยได้ยินชื่อ ตัดตอนมาถึงยุคไพรซ์ซ่า ธนาวัฒน์และทีมเพื่อที่เรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ ก็ยังไม่มีความรู้เรื่องการตลาด เมื่อผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนแยกกันไปเรียนปริญญาโท จากที่รู้ว่าเว็บต้องมีมายด์เซตด้านการตลาดเติมเข้าไป ธนาวัฒน์เลือกไปเรียนปริญญาโทด้านการตลาด และใช้ประสบการณ์จากตอนที่ทำเว็บแรก เลือกให้เหลือเฉพาะไม่กี่ฟีเจอร์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เท่านั้นพอ
เพราะฉะนั้นหลังทำไพรซ์ซ่าทีมก็รู้เรื่องการตลาดแล้ว จากที่ใช้ความคิดของทีมเริ่มต้นกันมาเองแบบอาศัยความคิดส่วนตัว ตั้งแต่การออกแบบโลโก้ ชื่อที่ลงท้ายด้วยซ่า การเติมไฟในโลโก้ ก็เพื่อให้เว็บดูซู่ซ่าน่าสนใจ
ส่วนฟีเจอร์ ที่เหลือที่ทำให้เว็บไพรซ์ซ่า เป็นที่รู้จักและเลือกใช้ของนักช้อปในวันนี้ ก็เน้นเพียง 2 ฟีเจอร์หลัก คือ “ค้นหา” และ “เปรียบเทียบ” ส่วนออฟฟิศก็เช่าพื้นที่ของคุณพ่อแต่จ่ายเงินตามหลักธุรกิจแต่ก็ยังได้ราคาถูก และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเริ่มต้น 50 ตารางเมตรเป็น 110 ตารางเมตร
ขณะที่สเกลการใช้งานในเว็บก็เติบโตข้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงมาถึงปัจจุบัน ล่าสุดในปี 2017 ตัวเลขผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั้งปีเกิน 200 ล้านครั้งไปแล้ว
ปัจจุบันไพรซ์ซ่าให้บริการ 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเว็บไซต์ที่คนใช้ตามวัตถุประสงค์ในการเป็นเครื่องมือค้นหาและเปรียบเทียบราคา มีคนไทยใช้อยู่ประมาณ 12 ล้านครั้งต่อเดือน คนอินโดนีเซียมากกว่า 2 ล้านครั้ง มีทีมงานล่าสุดถึงตอนนี้เกือบ ๆ 100 คน มีสำนักงานในกรุงเทพฯ และสำนักงานเฮดควอเตอร์ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีทีมงานชาวอินโดนีเซียทำงานซัพพอร์ตอยู่ประมาณ 7-8 คน
ธนาวัฒน์ สรุปเรื่องราวของเขาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพรุ่นต่อ ๆ ไปจากสตอรี่กว่าจะมาเป็นไพรซ์ซ่าในวันนี้ว่า เป็นเพราะเขาไม่ยอมทิ้ง Passion ของเขาในวัยเด็ก สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกดี มีความสุข ก็คงไม่มีวันนี้
“ฉะนั้นลองย้อนคิดดูว่า อะไรคือ Passion ที่ทำให้คุณมีความรู้สึกดี ทำแล้วรู้สึกดี นึกออกแล้วจดมันไว้ จะได้ไม่ลืม จดไว้ในสมาร์ทโฟน จดไว้ในใจ ให้มันช่วยเตือนคุณ เพื่อให้คุณมีพลังในการตามความฝัน ตาม Passion และสร้าง Purpose ของคุณขึ้นมา”.