Barack Obama Change Agent

ผู้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความหวังใหม่ที่จะกอบกู้โลกให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อถูกนักข่าวถามว่า วิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ ซึ่งทั่วโลกต่างรุมกันโทษว่าเป็นเพราะสหรัฐฯ ขาดการควบคุมตลาดการเงินของตัวเอง กำลังทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในโลกลดลงหรือไม่ ในระหว่างที่ประธานาธิบดี Barack Obama เปิดแถลงข่าวหลังจากการประชุม G20 ที่กรุงลอนดอนปิดฉากลงเมื่อเดือนที่แล้ว Obama ตอบว่า เขาไม่คิดว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้นำโลกต่อไปไม่ได้ และไม่ได้คิดว่าสหรัฐฯ กำลังสูญเสียอะไรไป แม้เขาจะยอมรับว่า ขณะนี้โลกกำลังมีหลายขั้วอำนาจ นอกจากสหรัฐฯ ก็ยังมีทั้งยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

เป็นความจริงที่แม้ว่าขณะนี้สหรัฐฯ จะถูกปัญหารุมเร้ามากมายรอบด้าน แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดในโลก และยังคงสามารถใช้อิทธิพลในทุกๆ ด้านและในทุกๆ ทวีป ในลักษณะที่ไม่มีประเทศมหาอำนาจอื่นใดสามารถจะทำได้ บางคนถึงกับบอกว่า สหรัฐฯ จะยังคงเป็นมหาอำนาจตลอดกาล และเมื่อ Obama ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาจึงเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลก ไปโดยปริยาย

Obama ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี ทั้งยังลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลายๆ ประเทศซึ่งโล่งอกที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี Bush หมดอำนาจไปในที่สุด ต่างหันมาตั้งความหวังไว้สูงกับ Obama ว่า เขาจะสามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้

โลกจึงจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของโอบาม่าทุกย่างก้าว ทั้งการกอบกู้เศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตาม เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็นำเข้ารายใหญ่ด้วยเช่นกัน

100 วันแรกในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจทำให้ Obama เป็นผู้นำประเทศที่มีงานยุ่งที่สุดในโลก ทันทีที่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มกราคม Obama ก็วุ่นวายกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งภายในโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและภายนอก ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อนโดยสิ้นเชิง สมกับที่เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ โดยมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” การใช้สื่อในการหาเสียง ด้วยการใช้ “สื่อใหม่” ในรูปแบบต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นกรณีศึกษาทางการตลาดที่โด่งดังไปทั่วโลก

ทันทีที่ได้ครองทำเนียบขาว Obama ก็ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแผนแรกในยุคของเขา ซึ่งมีวงเงินสูงถึงเกือบ 8 แสนล้านดอลลาร์ และเสนอร่างงบประมาณประจำปีงบประมาณปีหน้า 2010 วงเงินสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์อย่างมั่นใจ โดยไม่สนใจเสียงทัดทานของพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน หรือแม้แต่สมาชิกบางคนของพรรครัฐบาลเดโมแครตส์เอง ที่เกรงว่าจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณที่มหาศาลอยู่แล้วของสหรัฐฯ ต้องพุ่งกระฉูดขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนของพรรครีพับลิกันเอง เป็นคนที่เริ่มทุ่มงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์ เข้าอุ้มธนาคารและสถาบันการเงินที่ขาดทุนอย่างหนักของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบริษัทประกันใหญ่ที่สุดในโลก AIG

แม้ Obama จะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนหน้าเขา แต่ความแตกต่างคือ ความหมายในเชิงการแทรกแซงของรัฐบาลต่อระบบเศรษฐกิจ Obama และพรรคเดโมแครตส์ของเขา เชื่อในการเพิ่มบทบาทของรัฐบาลในแง่ของการเข้าควบคุมและแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ หากจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของ Obama จึงยังคงอุ้ม AIG ต่อไป เพราะเป็นบริษัทที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ เนื่องจากจะกระทบกับประชาชนในวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ เอง และในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ล้วนแต่มีผู้ถือกรมธรรม์กับ AIG อีกทั้งยังเดินหน้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama กลับอุ้มค่ายรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง GM กับ Chrysler อย่างมีเงื่อนไข และกำลังจะเพิ่มกฎระเบียบเพื่อควบคุม Wall Street อย่างเข้มงวดมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนๆ เคยปล่อยเสรีให้มากเกินไป

โลกยังตั้งความหวังสูงกับ Obama ว่า เขาจะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่รับฟังและให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ มากขึ้นกว่ารัฐบาลชุดก่อน ในขณะที่ตัว Obama เอง ก็ประกาศชัดว่า เขาจะต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในสายตาของประชาคมโลก ซึ่งมัวหมองลงมากจากกรณีสงครามอิรักและค่ายกักกันนักโทษที่กวนตานาโม ให้กลับคืนสู่เกียรติภูมิดังเดิมให้จงได้ และเขาก็สามารถเริ่มต้นได้อย่างสวยงามบนเวที G20 เมื่อเดือนก่อน ซึ่งนับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ Obama บนเวทีโลก ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยสามารถสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้รับฟังที่ดีและประสานความขัดแย้งได้สำเร็จ ด้วยการมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ G20 บรรลุข้อตกลงได้

นโยบายต่างประเทศในยุค Obama แตกต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทันทีที่รับตำแหน่ง Obama ก็ประกาศจะปิดค่ายกักกันนักโทษกวนตานาโม ซึ่งมีปัญหาเรื่องการทรมานนักโทษจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในสายตาของประชาคมโลก และกำหนดเส้นตายถอนทหารออกจากอิรักอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งตกต่ำที่สุดในยุคของ Bush ทั้งยังประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในอัฟกานิสถาน

Obama กล่าวในระหว่างที่เขาอยู่ที่กรุงลอนดอนเพื่อเข้าร่วมประชุม G20 เมื่อเดือนก่อน ซึ่งแสดงถึงความคิดของเขาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐฯ ในด้านนโยบายต่างประเทศว่า เขาคิดว่าสหรัฐฯ จะสามารถใช้อิทธิพลที่มีอยู่ได้อย่างดีที่สุด เมื่อสหรัฐฯ รับฟังความวิตกกังวลของประเทศอื่นๆ แม้ Obama จะหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเขาเองกับอดีตประธานาธิบดี Bush แต่คำกล่าวของเขาแสดงชัดว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ Bush ที่ไม่เคยฟังใคร และ Obama ก็ได้รับคำชมครั้งแรกจากผู้นำระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือประธานาธิบดี Dmitry Medvedev แห่งรัสเซีย ในระหว่างการพบกันครั้งแรกของผู้นำโลกทั้งสอง นอกรอบการประชุม G20 เมื่อเดือนที่แล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของตัว Obama เองอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงนับจากนี้ ขึ้นอยู่กับว่า เขาสามารถจะจัดการกับปัญหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และในโลกขณะนี้ได้ดีเพียงใด โดยเฉพาะสามารถจะฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วโลกที่มีต่อทุนนิยมระบบตลาดแบบอเมริกัน ซึ่งกำลังถูกรุมกล่าวโทษว่าเป็นชนวนของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ **

เพียงแค่ระยะสั้นๆ เมืองไทยเองก็หลีกไม้พ้นคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติวูบหาย จนต้องหันมาพึ่งพาไทยเที่ยวไทยด้วยกันเอง เพื่อไม่ให้มูลค่าท่องเที่ยว

หรือดูอย่างธุรกิจประกันภัย ขนาด AIG รัฐบาล Obama อุ้มเอาไว้ ข่าวการล้มของ AIG ออกมา คนแห่ไปขายประกันคืนกันเป็นแถว หากล้มจริง จะสั่งสะเทือนเพียงใด เอไอเอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIG ก็อยู่ในฐานะประกันภัยเบอร์ 1 ที่มีทั้งลูกค้าที่เอาประกัน และตัวแทนขายจำนวนมาก ไม่ต้องนึกเลยว่า ผลกระทบจะสั่งสะเทือนคนเหล่านี้ถึงเพียงใด
ไม่ต่างไปจากอุตสาหกรรมรถยนต์ นโยบายของ Obama ที่มีต่อผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ย่อมมีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่อย่างหนีไม่พ้น

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์

แหล่งข้อมูล:
นิวสวีค 5 มกราคม 2552
บีบีซี
รอยเตอร์

Obama ฟีเวอร์

Barack Obama ไม่เพียงสร้างความหวังและนำความ “เปลี่ยนแปลง” ใหม่ๆ ให้กับอเมริกันชนเท่านั้น แต่เขายังส่งกระแสฟีเวอร์ไปทั่วโลก และมาถึงประเทศไทย หลายคนโยงเขากับการเมืองไทย โดยเฉพาะ “นายกฯมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จนสมาสคำเรียกกันเล่น ๆ ว่า “โอบา มาร์ค”

ในช่วงที่ Obama ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008 กระแสที่คนไทยบางกลุ่มอยากมองเห็นท่ามกลางการเมืองไทยที่สับสนคือ มีผู้นำประเทศรุ่นใหม่ ลุคใหม่ เหมือนอย่างที่อเมริกันได้ Obama บ้าง ซึ่ง “อภิสิทธิ์” อายุใกล้เคียงกัน คือ 44-45 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Obama จาก ฮาร์ดวาร์ด และ “อภิสิทธิ์” จากออกซ์ฟอร์ด อยู่ในพรรคการเมืองชื่อเหมือนกัน “Democrat” หรือประชาธิปัตย์ มีความมุ่งมั่นในเส้นทางการเมือง มีไหวพริบ พูดเก่ง และพยายามแสดงออกถึงความ “เปลี่ยนแปลง” ที่ควรเกิดขึ้นในประเทศของตนเอง

จริงๆ แล้วเหตุผลเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ หรือจริงๆ ก็ไม่ควรเป็นเหตุผลด้วยซ้ำ เพราะการเลือกผู้นำประเทศไม่ใช่ “แฟชั่น” แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นจาก Obama ในการลบจุดอ่อนในความรู้สึกของผู้คน เรื่องนักการเมืองอายุน้อย ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนานเหมือนนักการเมืองรุ่นเก่า อย่างที่ทั้ง “Obama และอภิสิทธิ์” ถูกโจมตีมาตลอด จะไม่สามารถขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้

Obama เป็นอเมริกันผิวสี เชื้อสายเคนยา เมื่อมารดาเขาแต่งงานใหม่กับชาวอินโดนีเซีย เขาได้ย้ายมาอยู่อินโดนีเซียตั้งแต่ 6 ขวบ นี่เองทำให้เขาคุ้นเคยเอเชีย และคนเอเชียรวมทั้งคนไทยก็รู้สึกคุ้นเคยกับเขาไปด้วย และหวังว่านโยบายของรัฐบาล Obama จะให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น แม้ว่าความจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาต้องทำให้อเมริกาพ้นวิกฤตก่อน แต่ถึงอย่างไรเมื่อเขาลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้แรงเชียร์ข้ามทวีปตั้งแต่ต้น

กว่า 100 วันแล้วที่ Obama อยู่ตำแหน่ง และนโยบายต่างประเทศยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่สิ่ง Obama พยายามเยียวยาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ภาพของอเมริกาดีขึ้น และมีความหวังมากขึ้น ซึ่งกูรูด้านเศรษฐกิจหลายคนในไทยต่างหวังว่าประเทศไทยจะดีขึ้นด้วย เพราะหากอเมริกาพ้นวิกฤตคนไทยก็ส่งสินค้าไปได้

ขณะเดียวกัน แม้ว่าหลายนโยบายจะทำให้ธุรกิจของไทยต้องปรับตัวมากขึ้น ทั้งกรอบการค้าเสรีและเงื่อนไขการค้าที่มีมาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมกำกับอย่างเข้มข้น แต่นี่คือโอกาสที่นักวิชาการต่างบอกว่า ประเทศไทยปรับปรุงมาตรฐานเหล่านี้มาได้ระดับหนึ่งแล้ว หาก “Obama” เข้มแข็งจริง การค้าไทยจะได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่ยังคงมีปัญหาในประเด็นเหล่านั้น

ประเทศไทยในสายตาของ Obama อาจอยู่ในท้ายๆ หรือแทบจะไม่เห็นในแผนที่โลก เพราะเขามองในภาพรวมเป็น “อาเซียน” มากกว่า แต่เขาก็เป็นที่สนใจของคนไทย และรัฐบาลไทย ยิ่งหากความพยายามสำเร็จในการเชื้อเชิญให้มาเยือนไทยสัก 1 วัน หรือครึ่งวันระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2009 ที่สิงคโปร์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รับรองได้ว่า Obama จะชิงพื้นที่สื่อในไทยไปได้หลายวัน เพราะขนาดยังอีกหลายเดือนก่อนถึงการประชุม สื่อไทยก็เริ่มประโคมข่าวกันอย่างที่เห็น

ถือว่า แม้จะอยู่ห่างไกลในระดับคนละมุมโลก Barack Obama ก็เป็นบุคคลที่คนไทยสนใจ และหลายคนชื่นชอบยกให้เขาเป็นแบบอย่าง ถึงขั้นคุยกันว่าหากนักการเมืองไทยเป็นแบบ Obama สักนิด อะไรอะไรคงดีขึ้น