นับเป็น “บิ๊กดีล” ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” อีกครั้ง หลังจากลุยซื้อดะ! ทั้งกิจการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงค้าปลีก ใช้เงินปีละเป็น “แสนๆ ล้านบาท” คราวนี้ถึงคิวธุรกิจการเงินกัน เมื่อ “บริษัท เครืออาคเนย์ จำกัด” (SEG) ของเจ้าสัว ได้ยื่นข้อเสนอเป็น “พันธมิตร” กับ “บริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)” หรือ TIC
เมื่อ TIC ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวพร้อมร่อนรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจของเครืออาคเนย์ที่จะโอนกิจการทั้งหมดที่มี ไปอยู่ในบริษัทใหม่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งต้น 10,000 บาท และบริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 730.14 หุ้น ราคาหุ้นละ 34.14 บาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ให้ค่าโอนกิจการทั้งหมดเครืออาคเนย์แทนการชำระด้วยเงินสด
สำหรับทรัพย์สินที่เครืออาคเนย์จะโอนเข้าโฮลดิ้ง ประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต สัดส่วน 99.97% บริษัทอาคเนย์ประกันภัย 97.33% และ (3) บริษัทอื่นๆ อีก 10 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล จำกัด 2.บริษัท อาคเนย์แอดไวซ์เซอรี่ จำกัด 3.บริษัท ทีซีซีพริวิเลจการ์ด จำกัด 4.บริษัท ศูนย์วิชาการอาคเนย์ จำกัด 5.บริษัท เอเชียติ๊กเฮาส์ จำกัด 6.SOUTHEAST ADVISORY PTE. LTD. 7. บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด 8.บริษัท เอสโซฟิน จำกัด 9.บริษัท ทิพยประกันภัย (สปป. ลาว) จำกัด และ 10.ASIAN REINSURANCE CORPORATIO
บริษัทโฮลดิ้ง ยังเตรียมยังตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น TIC ในราคาหุ้นละ 34.24 บาท กรณีที่ไม่ต้องการแลกหุ้นโฮลดิ้ง ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนไทยประกันภัยที่จะทำการเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย ทำให้เครืออาคเนย์เข้าตลาดทางอ้อม (Backdoor Listing)
นอกจากนี้ หลังจากเครืออาคเนย์ข้าไปมีอำนาจในการควบคุมกิจการของ “ไทยประกันภัย” ผ่านบริษัทโฮลดิ้ง และปรับโครงสร้างกิจการแล้วเสร็จตามแผน เครืออาคเนย์ยังเตรียมทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยความสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) เพื่อเป็นทางเลือกลำดับแรกให้กับผู้ถือหุ้นของไทยประกัน ที่ต้องการขายหุ้นของบริษัท และรับชำระเป็นเงินสดในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 32.24 บาทด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ยังต้องติดตามการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน โดยการปิดดีลจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4
ส่วนเหตุผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ไทยประกันภัยระบุว่าจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจในด้านต่างๆ และช่วยเปิดโอกาสในการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจประกันภัยและธุรกิจอื่นๆ ที่สร้าง “ผลตอบแทนที่ดี” ในระยะยาวได้ ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการขององค์กร เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วย
ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทโฮลดิ้งจะมีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น มีการแบ่งแยกบริษัทตามสายธุรกิจที่ชัดเจน สามารถกำหนดขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละสายงานให้ชัดยิ่งขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลสายธุรกิจนั้นๆ ที่สำคัญคือแบ่งแยกการบริหารจัดการด้านการเงินของแต่ละธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมนั่นเอง
++ รู้จักไทยประกันภัย ที่ “เจ้าสัว” ทุ่มหมื่นล้านซื้อกิจการ
ต้องบอกว่านี่คือบริษัทประกันวินาศภัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มี “ผู้ถือหุ้น” เป็น “คนไทย” ทั้งหมด โดยธุรกิจของ TIC มีครบประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ การรับประกันอัคคีภัย มีลูกค้าครอบคลุมโรงงาน ที่อยู่อาศัย การสต๊อกสินค้า การรับประกันภัยทางทะเลและขนส่ง คุ้มครองความสูญเสีย ความเสียหายของสินค้าที่นำเข้าและส่งออก การรับประกันภัยรถยนต์ และการรับประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น ประกันอุบัตเหตุส่วนบุคคล อุบัติเหตุการเดินทาง เป็นต้น และสามารถทำรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 1,319 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 76 ล้านบาท
ปัจจุบัน “ตระกูลตู้จินดา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยก่อนทำรายการควบรวมกิจการดังกล่าว โครงสร้างการถือครองหุ้น ณ วันที่ 2 เม.ย. 2560 เป็นดังนี้ “ไพสิฐ ตู้จินดา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 21.17% ตามด้วย “ไพเราะ ตู้จินดา” 17.86% “ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล” 12.77% สำนักงานพระคลังข้างที่ 4.85% และบริษัท รวมทนุไทย จำกัด ถือ 3.75%
ส่วนคาดการณ์หลังปรับโครงสร้างบริษัทโฮลดิ้ง การถือหุ้นจะเป็นดังนี้ เครืออาคเนย์ (SEG) ถือหุ้นใหญ่ 96.88% ตามด้วย ไพสิฐ 0.66% ไพเราะ 0.56% ทวีรัช 0.40% สำนักงานพระยาคลังข้างที่ 0.15% และบริษัท รวมทนุไทย 0.12%
เปิดปูมธุรกิจการเงิน “เจ้าสัวเจริญ”
หากพูดถึงอาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” ของ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ประชาชนจะคุ้นชื่อ “ไทยเบฟเวอเรจ” ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มที่ขายเหล้าเบียร์จนรวยอื้อซ่า และ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” นอกจากมีสินค้าอุปโภคบริโภคดังอย่างสบู่นกแก้ว มันฝรั่งเทสโต ยังมีโมเดิร์นเทรดในมืออย่าง “บิ๊กซี” ด้วย “ทีซีซี แลนด์” อสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้งที่ดินมากมายทั่วไทย โรงแรมดังทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 11 ประเทศ มีห้องพักกว่า 10,000 ห้องทั่วโลก และธุรกิจเกษตรอย่าง “พรรณธิอร” ทำสวนปาล์ม ยางพารา ปลูกกาแฟในไทย เขมร ลาว ส่วน “เครืออาคเนย์” เป็นหัวหอกขยายธุรกิจประกันและการเงิน ที่มี “เจ้าสัวและคุณหญิง” ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 51% อีก 49% ถือโดยเดอะ เซาท์อีสท์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด
เพราะ “เทกโอเวอร์” เป็นทางลัดในการขยายอาณาจักรให้เติบโตที่เจ้าสัวใช้มาตลอด เช่นเดียวกับ “เครืออาคเนย์” ที่เจ้าสัวเจริญซื้อมาตั้งแต่ปี 2529 จากความช่วยเหลือของ “พ่อตา” ของเขา
ปัจจุบันเครืออาคเนย์มีธุรกิจประกันหลากหลาย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัททำรายได้รวมมากกว่า 22,000 ล้านบาท โตจากปี 2559 มีรายได้กว่า 16,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 946 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 มีกำไรกว่า 1,205 ล้านบาท.