“ทักษิณ ชินวัตร” The Power Hunter

ไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านบาทที่อ้างว่าเป็นของตนเองคืน ไม่ใช่แค่ต่อสู้หนีจำคุก 2 ปี และไม่ใช่แค่ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อหวังกลับสู่อำนาจเท่านั้น เพราะผลจากการกระทำของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เปิดเกมรุกอย่างหนักนับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2551 จนมาถึงวัน “สงกรานต์เดือด” บอกชัดเจนว่า “ทักษิณ” ต้องการมากกว่านั้น จนส่งแรงขับให้เขาทำทุกอย่างถึงขั้นแตะต้องสถาบันเบื้องสูง จุดอ่อนไหวที่สุดของสังคมไทย ไม่พ้นต้องจัดเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” ในด้านมืด ที่ทำลายชื่อเสียงประเทศไทย และทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อิทธิพลของ “ทักษิณ” ที่สร้างระบบการบริหารประเทศด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน นับตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลปี 2544 ทำให้กลุ่ม “เสื้อเหลือง” ออกชุมนุมเพื่อขับไล่ตั้งแต่ปี 2548 ความหลงในอำนาจยังก้าวล่วงถึงสถาบันเบื้องสูง โดยมีคีย์เวิร์ด “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” จุดปะทุจนหวิดเกิดเหตุนองเลือดม็อบชนม็อบ ก่อนถูกเบรกด้วยทหารในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่รัฐประหารยึดอำนาจจากทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

เวลาปีกว่าหลังรัฐประหารแทบสูญเปล่า เพราะการเช็กบิลที่ไม่เบ็ดเสร็จของ คมช. นำโดยพลเอกสนธิ บุญยกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก เหมือนทอดเวลาให้ “ทักษิณ” พักฟื้นก่อนที่จะออกมาเปิดเกมใหม่ซึ่งแรงและมีกลยุทธ์ที่หวังผลได้สูง

“ทักษิณ” เคยใช้นโยบายประชานิยมเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล เขามีสไตล์การบริหารงานแบบนักธุรกิจ ตัดสินใจเร็ว และมีสีสันในการบริหารประเทศ ผสมด้วยการตลาดที่ทำให้เขาโดนใจ Mass เรตติ้งนี้ “ทักษิณ” รู้ว่ายังดีอยู่ เขาจึงไม่ลังเลที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เมื่อมีโอกาส หรือจริงๆ ในอีกมุมหนึ่งเขามีทางเลือกไม่มากนัก เพราะคดีความทั้งหมด 13 คดีกำลังถูกเรียกร้องให้ปิดคดี หากไม่เร่งออกมา ทรัพย์สินเงินทองที่ถูกอายัด อาจถูกยึด คุกที่ติดแล้ว 2 ปี จากคดีจัดซื้อที่ดินรัชดา อาจติดนานขึ้นจากคดีอื่น

ประชาชนเลือกพรรค “ทักษิณ” เลือกนายกฯ
หมัดแรกของ “ทักษิณ” ออกมาทุ่มให้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ในนามพรรคพลังประชาชน นอมินีที่ตั้งขึ้นหลัง “พรรคไทยรักไทย” ที่ “ทักษิณ”ก่อตั้งถูกศาลรัฐธรรมตัดสินยุบพรรค

เวลานั้นว่าที่ ส.ส. หลายคนบินไปกลับกรุงเทพ-ปักกิ่ง กรุงเทพ-ฮ่องกง พบ “นาย” เพื่อนั่งดื่มไวน์ กลับมาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ เป็นกระสุนเพื่อให้ “พลังประชาชน” ได้เสียงข้างมาก “ทักษิณ” สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” ที่เล่าลือว่ารับค่าตัว 20 ล้านบาทเพื่อแลกกับภารกิจสำคัญ

“สมัคร” รับปากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกเรื่องตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน รวมทั้ง “ทักษิณ” และพยายามล้างมลทิน แต่ดูเหมือนยิ่ง “สมัคร” พยายาม ก็ยิ่งวุ่นวาย เมื่อ “เสื้อเหลือง” ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาอีกครั้ง เพื่อให้ “สมัคร” ลาออก แม้การลาออกหรือยุบสภาไม่เคยอยู่ในความคิดของ “สมัคร” เลย

“สมัคร” ไม่เข้าตา “ทักษิณ” อีกต่อไป “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยของ “ทักษิณ” คือนอมินีคนต่อมาที่เขาผลักดันให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางมวลชนเสื้อเหลืองที่รุกหนักขึ้นจนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551

ขั้วอำนาจที่พยายามแสดงผ่านสีเริ่มแรงขึ้น “แดง” เริ่มออกมาตามท้องถนนพร้อมกับการโฟนอินของ “ทักษิณ” แต่การเมืองพลิกขั้วฉับพลัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้รัฐบาลสมชายสิ้นสภาพเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2551

โอกาสเป็นของขั้วพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านมานาน 8 ปี โดยสีเหลืองไม่คัดค้าน และยังได้รับแรงหนุนจากสีเขียวของทหารอย่างเต็มที่

ขณะที่เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กำลังล็อบบี้พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งกลุ่ม “เนวิน ชิดชอบ” ให้ร่วม “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แต่การพลิ้วไหวทางการเมืองผ่านช่อดอกไม้จากฮอลแลนด์ไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะ “ทักษิณ” ยังไม่ยอมจบ

“ทักษิณ” จ่ายไม่อั้น ดึง ส.ส.ไปหารือที่ต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลข้ามประเทศอีกครั้ง

“คนละ 40 ล้านบาท” ที่แกนนำกลุ่มต่างๆ หิ้วกลับมาในงวดนั้น เพื่อรวมเสียงในสภาฯ ตั้ง “นอมินี” แข่งกับ “อภิสิทธิ์” แต่นี่คือครั้งแรกที่เงินไม่สามารถช่วย “ทักษิณ” ซื้อทุกอย่าง เพราะระหว่างทาง 40 ล้านบาท ถูกแบ่ง ถูกเม้ม จนเหลือซื้อ ส.ส.ได้ไม่เต็มที่

ปลุกม็อบเสื้อแดง
“ม็อบธิปไตย” กลายเป็นระบบใหม่ในสังคมไทยที่สื่อต่างชาติเปรียบเปรย ประชดประชัน เพราะเมื่อเสื้อเหลืองจุดกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ “ทักษิณ” ก็เชื่อเช่นนั้น เพราะยังมีคนที่ชื่นชอบตัวเขา และบางกลุ่มที่ได้ค่าเหนื่อยก็พร้อมเสมอ “ม็อบเสื้อแดง” จึงเกิดขึ้นอย่างมีกลยุทธ์ โดยงบแค่หลักพันล้านในการรวมตัวแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับ “ทักษิณ”

“ทักษิณ” เปิดฉากโดยโฟนอินเนื้อหาที่สร้างอารมณ์ร่วม พุ่งเป้าโจมตีประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพาดพิงถึงเบื้องสูง อีกครั้งพาดพิงถึงศาลฎีกา ที่ตัดสินจำคุกเขา 2 ปี
ด้วยคำว่า “ยัดเยียดคุก 2 ปี” และยังเสนอเสมือนเป็นเงื่อนไขว่า “เขาจะกลับประเทศไทยได้ก็ด้วยพระบารมี พระเมตตา และพลังประชาชน” หรือประโยคที่ว่า “ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบรับสั่งกับผมคำเดียว…”

การโฟนอินอาจไม่เพียงพอ ต้องมีสื่อทีวีดาวเทียมในนาม “ดี สเตชั่น” ที่หวังให้มีพลังเท่า “เอเอสทีวี” การให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติเป็นระยะๆ ด้วยการโจมตีความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์มาจากพรรคเสียงข้างน้อย และทหารร่วมจัดตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมปูฐานให้ตัวเองสามารถลี้ภัยในต่างแดน และกดทับประเทศไทย ไม่ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

“ทักษิณ” พยายามยกระดับการชุมนุม ใช้ “วิดีโอลิงค์” เพื่อให้เห็นสีหน้า แววตา ให้ผู้ชุมนุมรู้สึกใกล้ชิดและสัมผัสได้ ในโค้งสุดท้ายของการชุมนุมปลายเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังสอบหลักฐานหลังสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลสั่งยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท นั่นหมายถึงการงวดเข้าไปทุกทีที่ “ทักษิณ” จะอดใช้เงินก้อนนี้

“ทักษิณ” หวังจุดปะทุความรุนแรง ด้วยการดิสเครดิตไปถึงบุคลากรด้านตุลาการว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร เพราะไม่มีอะไรต้องระแวดระวังสำหรับ “ทักษิณ” อีกต่อไป เขาจึงพร้อมประกาศศึกรอบด้านเพื่อหวังปิดเกมด้วยชัยชนะ

เมื่อหลังพิงฝา “ทักษิณ” เลือกปลุกระดมมวลชนด้วยเนื้อหาโจมตีองคมนตรีหนักขึ้น โดยเฉพาะพลเอกเปรม และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พร้อมคำว่า ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อประชาธิปไตย ทั้งหมดคืออุดมการณ์สวยหรูที่สร้างให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งตอกย้ำเกือบทุกวัน
จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2552 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ด้วยเดิมพันที่ “ทักษิณ” สัญญากับแกนนำว่า หากได้ถึงแสนคือชัยชนะ และที่ร่ำลือกันทางลับคือ หากได้ถึงแสน ก็ถึงขั้นเผาเมือง หลายอาคารสำนักงานโดยเฉพาะย่านสีลม จึงระแวดระวังภัยล่วงหน้าหลายสัปดาห์

อิทธิพลด้านมืดพา “เสื่อม”
“ทักษิณ” ถือเป็นกรณีศึกษาอย่างดีสำหรับผู้ที่อยากมีอิทธิพล ได้อิทธิพล และเสื่อมอิทธิพลในที่สุดเพราะใช้อำนาจในทางที่ผิด

“วิดีโอลิงค์” ที่เคยเป็นสื่อคอยปลุกมวลชนให้มาร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลายเป็นหลักฐานแฉความเจ้าเล่ห์ของ “ทักษิณ” ให้รู้ว่าเป็นบุคคลที่คำพูดเชื่อถือไม่ได้ เพราะแม้ว่าจะพูดหลายต่อหลายครั้งว่า “จะอยู่เคียงข้างผู้ชุมนุม” แต่ก็เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น การชุมนุมยกระดับขนาดที่ “ทักษิณ” เรียกว่า “ปฏิวัติประชาชน” แต่ก็มาพร้อมกับคำว่า “จลาจล” และ “สงครามกลางเมือง”

9 เมษายน 2552 เวลา 4 โมงเย็น ม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล เสื้อแดงเริ่มดาวกระจายปิดถนน โดยเฉพาะแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บุกสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 และการไล่ล่านายกฯอภิสิทธิ์ ที่กระทรวงมหาดไทย ทั้งหมดทำให้ “ม็อบเสื้อแดง” หมดค่าลงทันตา ยิ่งปรากฏภาพรถแก๊สใน 3 จุดของกรุงเทพฯ ที่ดินแดง รพ.สงฆ์ และซอยรางน้ำ ในสภาพพร้อม “เผา” การเผารถเมล์อีกหลายคัน และการยิงชาวบ้านย่านนางเลิ้งที่มาป้องกันตนเอง ยิ่งทำให้คนเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการสลายการชุมนุมดังขึ้น

การนองเลือดไม่เกิดขึ้น เพราะด้วยกลยุทธ์ของรัฐบาลที่ยึดหลักการ กฎหมาย และกระบวนการสื่อสารที่สามารถดึงมวลชนให้เห็นด้วยกับการจัดการของรัฐบาล กดดันจนม็อบเสื้อแดงหมดสภาพ แกนนำประกาศยุติการชุมนุม

ขณะเดียวกันไม่มีใครเชื่อถือ “ทักษิณ” อีกต่อไป โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ ทั้ง CNN BBC หรือแม้แต่ไฟแนนเชียลไทม์ ที่สะท้อนออกมาจากคำถามยิงตรงถึง “ทักษิณ” ที่บ่งบอกได้ว่าผู้ถามเชื่อว่า “ทักษิณ” คือเบื้องหลังม็อบเสื้อแดงที่ต้องการความรุนแรงและหมดความน่าเชื่อถือ

นิตยสารไทมส์ได้วิเคราะห์ถึงการตอบคำถามของ “ทักษิณ” ชนิดฟันธงว่า “ทักษิณ” ตอบคำถามได้ไม่น่าเชื่อถือและเลื่อนลอย หากเทียบกับ “อภิสิทธิ์” แล้ว อดทนและมีเหตุมีผลมากกว่า หากเปรียบเทียบในสงครามสื่อที่ทั้ง “ทักษิณ” และ “อภิสิทธิ์” ลงสนามหลังเหตุการณ์สงกรานต์เดือดแล้ว ไทมส์ให้ “อภิสิทธิ์” ชนะขาด

เวลานี้ “ทักษิณ” และแกนนำเสื้อแดงพยายามบอกว่าสงครามยังไม่ยุติ และพร้อมจะกลับมาใหม่ ต่อสู้ทุกรุปแบบ ด้วยแกนนำรุ่นใหม่ ที่มีจุดขายเป็นคนเดือนตุลาฯ แต่หลายคนก็ปฏิเสธร่วมสังฆกรรม ขณะที่ “ทักษิณ” ยังคงเร่ร่อนไปยังประเทศต่างๆ หลายคนจึงยังไม่ประมาทเขา

ภาวะความเสื่อมของอำนาจจะทำให้ “ทักษิณ” ฮึดสู้ในรูปแบบรุนแรงอย่างที่เล่าลือกันหรือไม่ ยังยากจะคาดเดา เพราะเวลานี้ “ทักษิณ” ไม่ได้มีเพียง “สีเหลือง” เท่านั้น “สีน้ำเงิน และสีเขียว” ก็กำลังผนึกกันแน่น จนหลายคนตีความว่า ขั้วอำนาจของผู้ทรงอิทธิพลคนใหม่กำลังเกิดขึ้นเมื่อดูจากเหตุการณ์กลุ่มคนที่ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มหมายสังหาร “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำของกลุ่มเสื้อเหลือง แม้จะยังไม่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นฝีมือใคร แต่ก็เป็นสัญญาณว่าเมืองไทยไม่ปกติ

สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อคนหนึ่งเสื่อมอิทธิพลไป ก็อาจมีผู้ทรงอิทธิคนใหม่ ที่ดำมืดพอๆ กันมาแทน หรือซ้ำร้ายกว่านั้น การเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรู เพราะมีผลประโยชน์เป็นตัวประสาน หากอิทธิพลด้านมืดรวมตัวกัน ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป…ไม่อยากจะคิด…

Profile

Name : พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
Born : 26 กรกฎาคม 2492 ที่จังหวัดเชียงใหม่
Education :
– มัธยมศึกษา จากโรงเรียนมงฟอร์ต วิทยาลัย
– อุดมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ปี 2512) โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 26 (ปี 2516)
– ปริญญาโทโดยทุน ก.พ. สาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี ปี 2518
– ปริญญาเอก สาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต ในปี 2521
Career Highlights
เริ่มรับราชการของกรมตำรวจ ก่อนมาทำธุรกิจส่วนตัว รุ่งโรจน์จากการประมูลขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้หน่วยงานราชการ และร่ำรวยการผูกขาดธุรกิจสื่อสารภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น “ชินคอร์ปอเรชั่น” จนเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

ชีวิตการเมืองเริ่มปี 2537 เริ่มเล่นการเมือง รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2541 ตั้งพรรคไทยรักไทย ปี 2544 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก และสมัยที่ 2 ในปี 2548 และปี 2549 วันที่ 19 กันยายน ถูกทหารยึดอำนาจ

ปี 2551 วันที่ 11 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินความผิดการจัดซื้อที่ดินรัชดา ทำให้ทักษิณต้องโทษจำคุก 2 ปี ปี 2552 ปลุกระดมมวลชนภายใต้สัญลักษณ์คนเสื้อแดง จนหวิดเกิดการจลาจลในไทย ช่วงวันที่ 9-14 เมษายน

Status – มีบุตรชาย 1 คน คือพานทองแท้ บุตรสาว 2 คน คือ พิณทองทา และ แพทองธาร หย่ากับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551

– ชีวิตเร่ร่อนแต่หรู
บินไปพักพิงทั้ง จีน ฮ่องกง เขมร สิงคโปร์ อังกฤษ แอฟริกา นิการากัว ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีเครื่องบินส่วนตัวมูลค่า 1,500 ล้านบาท มีกัปตัน แอร์โฮสเตสส่วนตัว เงินเดือนรวมประมาณ 1 ล้านบาท เลขา 3 คน และ รปภ. 3 คน

ซื้อคฤหาสน์ที่อังกฤษ 500 ล้านบาทให้ลูกๆ อยู่