เป็นเวลากว่าทศวรรษ “ทีวีไทย” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไทยพีบีเอส” ได้ถือกำเนิดมาจากแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการมี “ทีวีสาธารณะ”
แม้ไทยพีบีเอส หรือ ไอทีวี ในอดีตจะต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานจากการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น แต่ในที่สุดก็ได้เปลี่ยนมาเป็นองค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ทีวีช่องนี้ทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะของคนไทยอย่างแท้จริง ไม่ต้องไปพึ่งพาโฆษณา รูปแบบคล้ายกับบีบีซี ของอังกฤษ
แต่น่าเสียดาย ตลอดเวลาปีกว่าที่เปิดดำเนินการมา ทีวีไทยไม่ได้ทำตัวให้เป็น “ทีวีสาธารณะ” ที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง กลับทำตัวเป็นสื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนบางกลุ่ม
นอกจากรายการขาดความหลากหลายของเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการข่าว รูปแบบที่นำเสนอไม่ชัดเจน ขาดความน่าสนใจ ระยะเวลาในการออกอากาศเพียงแค่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีวีไทยกลับเลือกสัมภาษณ์เฉพาะคนในพรรคเพื่อไทย หรือไม่ก็เป็นนักวิชาการเอ็นจีโอ สวมหัวใจเสื้อแดง มาเป็นขาประจำของรายการเท่านั้น ไม่เคยเชิญนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบทักษิณมาออกรายการ
ยิ่งช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปก. รายการของไทยทีวีกลับเลือกเชิญ ส.ส.เพื่อไทยมาออกในรายการ รวมทั้งนักวิชาการเสื้อขาว ที่มักบอกกับคนทั่วไปว่า มีความเป็นกลาง แต่ตัวตนที่แท้จริง เลือกข้างอย่างเห็นได้ชัด เพราะข้อเสนอของนักวิชาการเหล่านี้ที่ให้กับคนดู คือ ต้องการให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ยุบสภา หรือลาออกเท่านั้น
ในช่วงวิกฤต เสื้อแดงก่อจลาจล ปิดถนน เอารถแก๊สมาปิดล้อมหวังจะเผาเมือง ทีวีไทย กลับเป็นช่องเดียวที่เปิดโอกาสให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. สัมภาษณ์ออกอากาศ และสิ่งที่ณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ไปวันนั้น คือ มีเสื้อแดงถูกทหารยิงตายเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ส่วนรายการ ที่ต้องเสนอทัศนะเกี่ยวกับการหาทางออกของประเทศ ที่ต้องระดมความคิดจากหลายฝ่าย กลับเลือกเชิญเอ็นจีโอสวมเสื้อแดงอย่าง สมบัติ บุญงาม บ.ก.ลายจุด ที่เคยร่วมงานกับ สามแกนนำเสื้อแดง และยังถูกวางตัวให้เป็นแกนนำรุ่นที่ 2 มาออกรายการ
หรือแม้แต่การเชิญคนอย่างบรรณาธิการ เว็บไซต์ประชาไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าลงบทความหรือข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯมาโดยตลอด จนถูกตำรวจตรวจค้น
และหากไปดูผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาพัฒนาเพื่อสังคม ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการไทยพีบีเอส และยังเป็นพี่ชาย “ใจ อึ๊งภากรณ์” นักวิชาการ สวมเสื้อแดง แถมโดนคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ จนต้องหนีออกนอกประเทศ
คณะกรรมการส่วนใหญ่ของไทยพีบีเอสส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งกรรมการเหล่านี้มีบทบาทในการบริหารงานสูงมาก ทำให้การทำงานขาดเอกภาพ รายการไม่น่าสนใจ
แม้ว่าทีมงานหลายคนในนี้จะได้ชื่อว่าเป็นคนคุณภาพ มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว แต่การที่ภาพรวมขาดหลักการ และไม่เข้าใจความหมายของการเป็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ต้องแปลกใจหากทีวีไทย หรือไทยพีบีเอสจะไม่ได้รับความนิยมจากคนดูยุคนี้ ที่รู้ว่าควรจะเลือกเสพสื่อชนิดใด