ไม่ไปต่อ ! ปิดฉาก “ลิโด้” 31 พ.ค. 50 ปีตำนานโรงหนังบนกรุสมบัติที่ดินทรัพย์สินจุฬาฯ

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันโรงภาพยนตร์ “ลิโด้” ก็จะปิดตัวลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ก่อน “อำลา” ทางโรงหนังเตรียมฉายภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2 เรื่อง คือ “Tonight at Romance Theater” รอบเวลา 18:45 น. และ “Kids on The Slope” รอบเวลา 20:45 ซึ่งทุกที่นั่งจะได้รับโปสเตอร์หนังยังมีสิทธิ์ลุ้นทั้งเสื้อยืด และถ่ายรูปกับ “สุภาพบุรุษเสื้อเหลือง” สัญลักษณ์ของโรงหนังแห่งนี้ด้วย

ย้อนรอยโรงภาพยนตร์ลิโด้ ถือกำเนิดมาจาก “พิสิฐ ตันสัจจา” นักธุรกิจผู้ก่อตั้งเครือเอเพ็กซ์ และสยามมหรสพ เคยพลิกโรงละครศาลาเฉลิมไทยให้เป็นโรงภาพยนตร์จนประสบความสำเร็จและเตะตา “กอบชัย ซอโสตถิกุล” เจ้าของอาณาจักรซีคอนสแควร์ นันยาง และผงชูรสตราชฎา เลยชักชวนให้ไปบุกเบิกพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ บนถนนพระรามที่ 1 ด้วยกัน ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อความอำลาบอร์ดบริเวณหน้าโรงหนัง
ข้อความบนบอร์ด

“พิสิฐ” เริ่มต้นสร้างโรงภาพยนตร์สยามขึ้นมาตอบโจทย์คอหนังเป็นแห่งแรก ด้วยความจุ 800 ที่นั่ง เปิดให้บริการเมื่อปี 2509

ต่อมาปี 2511 จึงสร้างและเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ลิโด้ ความจุ 1,000 ที่นั่ง ตามด้วยปี 2512 ผุดโรงภาพยนตร์สกาลา ความจุ 1,000 ที่นั่ง ทั้ง 3 กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของย่านการค้า “สยามสแควร์” ไปโดยปริยาย

โรงหนังสยาม ลิโด้ สกาลา เผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย ที่หนักๆ หนีไม่พ้นเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่มีการวางเพลิงภายในตัวอาคารจนเกิดไฟไหม้ และอาคารถล่มลงมาในที่สุด เป็นเหตุให้สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ จึงนำพื้นที่ของโรงภาพยนตร์สยามมาพัฒนาเป็นห้างค้าปลีก “สยามสแควร์ วัน” ที่มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เหตุเพลิงไหม้ยังทำให้ผู้บริหารเครือเอเพ็กซ์ตัดสินใจปรับปรุงโรงหนังลิโด้ให้เป็นขนาดเล็ก (มัลติเพล็กซ์) มีโรงฉายยิบย่อย 3 โรง ความจุรวม 633 ที่นั่ง

ปัจจุบันโรงหนังลิโด้ และสกาลา ยังอยู่ ทำตลาดแบบ Niche Market ตอบโจทย์คอหนังเฉพาะกลุ่ม ในราคาที่จับต้องได้คือ 100 120 140 บาท ขึ้นกับกระแสของหนังแต่ละช่วงว่าเป็นหนังอาร์ต หนังอินดี้ หรือหนังดังระดับบ็อกซ์ ออฟฟิศลงโรง

หนังที่ฉายในลิโด้ และสกาลา Niche แค่ไหน ดูจากหน้าหนัง ส่วนใหญ่เป็นหนังระดับรางวัล ทั้งคานส์ รางวัลแบฟตา (BAFTA) ออสการ์ เป็นต้น รวมถึงหนังญี่ปุ่น ที่เข้ามาฉายถี่ๆ สวนทางกับโรงภาพยนตร์ใหญ่ที่จับตลาดแมส มักไม่สนใจฉายภาพยนตร์เหล่านี้นัก เพราะมีคนดูอยู่เพียงหยิบมือเดียว

จุดเด่นที่ทำให้ลิโด้อยู่มานานกว่า 5 ทศวรรษ นอกจากหนังดีที่ต้องมาดูที่นี่เท่านั้น ปัจจัยด้าน “ราคา” เป็นสิ่งที่จูงใจคอหนังได้อย่างดี และที่สำคัญยังตั้งอยู่บน “ทำเลทอง” ในกลางกรุงที่มีห้างค้าปลีกหลายแบบหลายสไตล์ มีรถไฟฟ้าบริการถึงที่ ทำให้เดินทางไปมาสะดวก และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ครบในที่เดียว

ขณะที่โรงภาพยนตร์สกาลา ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สถาปัตยกรรม” ที่โดดเด่น บันไดทางขึ้นโอ่โถง มีโคมไฟระย้าหนักเป็น “ตัน” ที่เป็นจุดขาย ประกอบกับตัวหนัง ที่แน่นอนว่าเป็นหนัง “อาร์ต” และ “อินดี้” ราคา ล้วนดึงคอหนังให้เข้าไปใช้บริการได้ไม่น้อย

ลิโด้จะปิดตัวลง 31 พ.ค.นี้ แต่สกาลา ยังมีลมหายใจต่อไปได้อีกระยะ เพราะที่ผ่านมาทางสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ต่อสัญญาเช่ากับเจ้าของโรงภาพยนตร์ไปอีก 3 ปี (สิ้นสุดสัญญาปี 2563) แต่ก็มีกระแสข่าวว่า เจ้าของได้ขอคืนพื้นที่เช่าให้กับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เพราะแบกภาระขาดทุนมาตลอด จึงคาดว่าจะปิดตัวลงตามลิโด้ในอีกไม่นาน

สกาลา ปิดเมื่อไหร่ 31 พ.ค. รู้ผล

ล่าสุด จากการสอบถามพนักงานสกาลา ยังไม่รู้ว่าสกาลาจะเปิดดำเนินการไปถึงเมื่อไหร่ บอกแต่เพียงว่า ทางผู้บริหาร นันทา ตันสัจจา ได้เรียกประชุมในวันที่ 31 พ.ค.นี้ เพื่อแจ้งให้พนักงานทั้งหมดทราบอีกทีถึงกำหนดการที่แน่ชัด ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 20 ปีขึ้นไป

++ แบกขาดทุนทุกปีแต่ยังไม่ตาย!

ท่ามกลางมูลค่าตลาดภาพยนตร์ที่เข้าฉายปี 2559 มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท (ที่มา : เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์) และ 2 ยักษ์ใหญ่ “เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ “ ทำรายได้เฉียดหมื่นล้าน และกำไรกว่า 1,100 ล้านบาท ในปี 2560 “เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น” ทำรายได้กว่า 3,500 ล้านบาท

แต่ “เครือเอเพ็กซ์” ซึ่งพยายามต่อสู้กับระบบมัลติเพล็กซ์ กลับทำรายได้หลัก “สิบล้านบาท” ต่อปีเท่านั้น และรายได้รวมของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขที่ลดลก็ไม่ได้น้อยๆ แต่เป็นอัตรา 2 หลักมาโดยตลอด อาจมีตัวเลขรายได้เป็นบวกบ้าง แต่การเติบโตก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

ส่วนกำไร คงไม่ต้องพูดถึง เพราะ 5 ปีย้อนหลัง ขาดทุนเกือบทุกปีตั้งแต่หลัก “แสน” ถึงหลัก “ล้านบาท” มีบางปีที่ทำกำไรให้ใจชื้นเท่านั้น

แต่เมื่อดูฐานะทางการเงินของบริษัทแล้ว ขาดทุนบักโกรกไม่พอ ยัง “แบกหนี้อ่วม” เป็นหลัก “ร้อยล้านบาท” 

สถานการณ์ไม่ต่างจาก บริษัท สยามมหรสพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ก็มีรายได้ลดลงทุกปี และส่วนใหญ่จะขาดทุนมากกว่ากำไร

การหารายได้ของ “ลิโด้-สกาลา” ไม่ได้มาจากการขายตั๋วหนังเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ปล่อยให้ร้านค้าต่างๆ เช่าขายซีดี เสื้อผ้า และสกาลายังเป็นสถานที่สำคัญจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในอดีตต้องยกให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 เป็นต้น

แต่สิ่งที่ทำให้ “ลิโด้-สกาลา” ในเครือเอเพ็กซ์อยู่ได้ นอกจากใจรักของเจ้าของแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตระกูลตันสัจจา” ยังมีธุรกิจ “สวนนงนุช” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองไทยและระดับโลก ที่มีคนมาเยือนราว 2 ล้านคนต่อปี ทำเงินหลัก “พันล้านบาท” อาจมีส่วนนำมาหล่อเลี้ยงธุรกิจและดูแลพนักงานก็เป็นได้

+++ สวนนงนุช-ลิโด้-สกาลา เจ้าของเดียวกัน

ลิโด้-สกาลา อยู่ได้แม้จะขาดทุน แต่ยังอยู่ได้ โดยบริษัท เอเพกซ์ ภาพยนตร์ ซึ่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท จากจุดตั้งต้น 1 ล้านบาท มีเจ้าของโรงหนังในตำนาน ประกอบไปด้วย “กัมพล-นันทา-วิวัฒน์ ต้นสัจจา” ที่บริหารสวนนงนุชด้วยนั่นเอง

จะเห็นว่าการทำสวนนงนุช และโรงภาพยนตร์ “ทายาท” ของ “พิสิฐ” ได้เลือดพ่อไปเต็มๆ เพราะทำงานด้วย Passion และทุ่มเททำสิ่งที่รักแบบไม่รู้จบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

แต่อย่างไรเสีย ธุรกิจมีเกิด มีดับ ยิ่งเช่าที่คนอื่นพัฒนาโครงการ ทำโรงหนัง การยื้อให้ธุรกิจอยู่ต่อบนทำเลทอง เป็นเรื่องยาก ยิ่งขาดทุนการทู่ซี้ทำไปเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับเจ้าของที่อย่างสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ

+++ ราคาที่ดินสยามสแควร์แพงระยับวาละ 2.2 ล้าน

สำหรับที่ดินย่านสยามสแควร์ ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ มีเนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ปัจจุบันประกอบด้วยโครงการค้าปลีกมากมาย อาทิ อาคารสยามกิตติ์ (สยามสแควร์), สยามสแควร์, สยามสแควร์วัน, เซ็นเตอร์พอยท์ แอท สยามสแควร์ รวมมูลค่าโครงการนับ “หมื่นล้านบาท”

เพราะเป็นย่านการค้าใจกลางกรุง (ซีบีดี) อย่างแท้จริง มีคนมาใช้ชีวิต และปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ต่างๆ มากกว่า 5 แสนคนต่อวัน (นับจากการเปลี่ยนสายรถไฟฟ้า) มูลค่าทางเศรษฐกิจหลักแสนล้านบาท ทำให้ทำเลดังกล่าวกลายเป็น “ทองคำฝังเพชร” ไปแล้ว เพราะพื้นที่มีจำกัด เป็นที่หมายปองสำหรับนักลงทุนไม่น้อย เมื่อเปิดประมูลที่ดินเมื่อไหร่ จึงได้รับความสนใจจากบรรดาเศรษฐี เจ้าสัวของเมืองไทยทั้งสิ้น

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ราคาที่ดินของสยามสแควร์ มีการประเมินกันถึงตารางวาละ 2.2 ล้านบาท นั่นหมายความว่าพื้นที่ 1 ไร่ แพงถึง 800 กว่าล้านบาท ดังนั้น คงไม่แปลกถ้าหาก “ลิโด้” จะต้องยุติบทบาทโรงหนัง “นิชมาร์เก็ต” เพราะหากค่าเช่าในอดีตที่เครือเอเพ็กซ์จ่ายให้สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ต้องราคาต่ำกว่านี้แน่นอน เพราะลำพัง รายได้หลัก “ล้านบาท” ต่อปี คงไม่สามารถชำระค่าเช่าแพงระยับได้เป็นแน่แท้.