หลังจากโรงภาพยนตร์ลิโดต้องปิดฉากตำนานโรงหนังนอกกระแส 50 ปีลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2018
แต่การปิดตัวในครั้งนั้นก็ทำให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า จะนำพื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนไปเป็น “ศูนย์การค้า” หรือไม่?
เพราะทำเลของ “โรงภาพยนตร์ลิโด” อยู่ใจกลางสยาม มีคนพลุกพล่าน วันหนึ่งมีทราฟฟิกหลายแสน จึงเป็น “พื้นที่ทองคำ” ที่ใครๆ ก็อยากมาลงทุน แม้ค่าเช่าจะแพงแต่โอกาสคืนทุนมีมากกว่า
“สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หรือ PMCU ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ “โรงภาพยนตร์ลิโด” ซึ่งหากนับรวมๆ แล้ว PMCU ครอบครองพื้นที่ใจกลางสยามกว่า 1,153 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่พาณิชย์ 385 ไร่ และในระยะหลังๆ พื้นที่เก่าที่ไม่ได้ต่อสัญญากับผู้เช่ารายเดิม มักจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ค้าปลีก ทั้งสยามสแควร์วัน, สวนหลวงสแควร์ และสเตเดียมวัน
“จุฬาฯ กำลังเผชิญแรงเสียดทานจากสังคมเรื่องการนำพื้นที่ไปหารายได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องการนำพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่าลืมว่าอีกมุมหนึ่งเราก็ต้องหารายได้มาให้จุฬาฯ ซึ่งมีค่าบริหารจัดการจำนวนมาก ในแต่ละปี” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ที่ผ่านมา “กลุ่ม Apex” ซึ่งเป็นเจ้าของ “โรงภาพยนตร์ลิโด” เผชิญปัญหาขาดทุนมาตลอด รวมไปถึงการนำพื้นที่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดยังไม่มากพอ กลายเป็นเหตุผลที่ทางจุฬาฯ ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาและดึงพื้นที่กลับมาอยู่ในมือ
ระหว่างที่กระแสปิดโรงภาพยนตร์ลิโดเริ่มจางหายไปจากสังคมไทย จุฬาฯ ก็ได้มองหาผู้เช่ารายใหม่ และหลังจากที่ผ่านมาพูดคุยกันมาหลายรายในที่สุดสิทธิ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ของโรงภาพยนตร์ลิโด ก็ตกมาอยู่ในมือของ Loveis เจ้าพ่อเพลงรัก โดยเบื้องต้นมีสัญญาทั้งหมด 5 ปี
จุฬาฯ ให้เหตุผลที่เลือกมาจากการที่ Loveis มีจุดเริ่มต้นที่สยามสแควร์ เหมือนกับโรงภาพยนตร์ลิโด อีกทั้ง Loveis ได้ให้คอนเซ็ปต์ของการบริหารพื้นที่เป็น “มัลติฟังก์ชัน แอปโพรช” ผสมผสานศิลปะทุกแขนงมาอยู่ด้วยกัน มีการแสดงสดต่างๆ มีพื้นที่ไลฟ์สไตล์ รวมถึงร้านค้าทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่างจากรายอื่นๆ ที่อยากนำไปทำเป็นพื้นที่สำหรับแข่งกีฬาอีสปอร์ต
Loveis ลงทุนตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับ ใช้ชื่อว่า “บริษัท ลิโด้ คอนเน็คท์ จำกัด” ทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท โดย Loveis ถือหุ้นเอง 70% ที่เหลือมาจากกลุ่มเพื่อนๆ ศิลปินด้วยกันที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ด้วย ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ Loveis มาลุยธุรกิจบริหารพื้นที่รีเทล
แนวทางการพัฒนา “โรงภาพยนตร์ลิโด” ของเก่า 70% จะถูกรักษาไว้ให้เหมือนเดิม ที่เหลือ 30% จะถูกเปลี่ยนให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยฝั่งจุฬาฯ ควักงบลงทุน 50 ล้านบาทสำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วน Loveis ใช้เงินอีก 30 ล้านบาทสำหรับการตกแต่งภายใน
เปลี่ยนเจ้าของใหม่ชื่อก็ถูกเปลี่ยนด้วย โดยจะใช้คำว่า “ลิโด้ คอนเน็คท์” ภาษาไทยคำว่า “ลิโด” จะเติมไม้โทเข้าไปเป็น “ลิโด้” พื้นที่ทั้งหมด 4,000 ตารางเมตร มี 2 ชั้น ชั้นล่าง 1,500 ตารางเมตร ครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่เช่าจุฬาฯ จะดูแลเอง ที่เหลือจะเป็นพื้นที่อีเวนต์ ในครั้งนี้ได้ลดพื้นที่เช่าลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ทำกิจกรรมได้ ส่วนป้ายชื่อด้านหน้ายังใช้อันเดิม แต่จะเติมป้ายดิจิทัลเข้าไปด้านหลัง
ส่วนด้านบนมีที่เป็นโรงภาพยนตร์จำนวน 3 โรงโดยโรง 1 มีจำนวน 147 ที่นั่ง กับโรงที่ 2 จำนวน 200 ที่นั่ง ภายในมีการตกแต่งใหม่เติมเครื่องเสียง เพื่อให้รองรับทั้งคอนเสิร์ตและโรงภาพยนตร์ แต่จะเลือกเรื่องไม่ให้ชนกับสกาล่า โดยโรงที่ 3 ใหญ่สุด 300 ที่นั่ง ปรับพื้นที่ใหม่ให้รองรับการแสดงละครเวที
ส่วนด้านหน้าเปลี่ยนให้เป็นนิทรรศการหมุนเวียน และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เช่า ประมาณ 15 ร้านค้า ซึ่งร้านที่จะเข้ามาต้องนำรายได้ 20% ไปทำ CSR ด้วย และร้านจะต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ด้วย
โดยลิโด้โฉมใหม่จะเปิดให้บริการ พฤษภาคม ปีหน้า (2562)
เทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม เลิฟอิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า
พื้นที่นี้ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเด็กจุฬาฯ มาใช้งานเท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการหาพื้นที่มาปล่อยของ ทั้งดนตรีหรืองานศิลปะอื่นๆ
ดีลนี้เรียกได้ว่า “วิน – วิน” ทั้งคู่ ฝั่งจุฬาฯ ได้ลดแรงเสียดทานเรื่องการนำพื้นที่ในมือไปสร้างศูนย์การค้า โดยจุฬาฯ บอกว่า ยอมขาดทุนในบางกิจกรรม เพราะรายได้ไม่ได้กำหนดเป็นรายปี แต่จะแบ่งกับ Loveis จากกิจกรรมที่เข้ามาจัด ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเท่าไหร่ มีตั้งแต่ 30-70% หรือบางกิจกรรมก็ให้ฟรีเลย ถ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากๆ
ส่วนฝั่ง Loveis เองก็ได้จะมีพื้นที่จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ให้กับตัวเอง และยังเป็นพื้นที่ให้ “ส่อง” หาศิลปินรุ่นใหม่มาประดับค่าย โดยที่ไม่ต้องออกไปหน้าข้างนอกให้ยุ่งยาก แต่นี่เดินเข้ามาหาเองด้วยซ้ำ.