ทุบจริง! “สกาลา” เริ่มรื้ออาคาร ประชาชนใจหาย ‘ไหนว่าจะเก็บอาคารไว้’

วันที่ 1 พ.ย. 64 อาคารเก่าของโรงภาพยนตร์ “สกาลา” ปรากฏรั้วและผ้าใบล้อมอาคาร เริ่มทุบจากส่วนบนของด้านหน้าตึก ทำให้ประชาชนที่มีความทรงจำดีๆ กับสกาลาและเห็นคุณค่าทางศิลปะรู้สึกใจหายที่มีการรื้อทุบ จากเดิมมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า “เซ็นทรัลพัฒนา” ผู้ชนะประมูลที่ดินบล็อก A จากจุฬาฯ จะพยายามเก็บโครงสร้างอาคารไว้ให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณโรงภาพยนตร์ “สกาลา” ปากซอย 1 สยามสแควร์ หลังมีกระแสข่าวจากเพจกลุ่มสถาปนิก Foto_momo ตั้งแต่เช้าวันนี้ว่า โรงหนังสกาลาเริ่มทุบทำลายอาคารแล้ว โดยพบว่ามีการทุบอาคารจริง และกำลังทยอยล้อมรั้วและผ้าใบให้มิดชิด

โรงภาพยนตร์สกาลานั้นเคยเป็นโรงหนังแบบสแตนด์อะโลนเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี บริหารโดย เครือเอเพ็กซ์ แต่ปิดตัวลงเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 เพราะไม่สามารถแข่งขันต่อสัญญาเช่าบนที่ดินทำเลทองของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้ไหว

อาคารโรงภาพยนตร์สกาลาที่กำลังรื้อทุบ วันที่ 1 พ.ย. 64 เวลาประมาณ 15.00 น.
สกาลา ทุบ
คนงานกำลังทยอยติดตั้งผ้าใบรอบเขตปรับปรุงอาคารเพิ่มเติม

ก่อนหน้าการหมดสัญญา กระแสข่าวที่ว่าเครือเอเพ็กซ์น่าจะไม่ต่อสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ยังผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในหมู่คนรักศิลปะ-สถาปัตยกรรม และคนที่มีความทรงจำดีๆ กับสกาลา เป็นห่วงกังวลว่าอาคารที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้จะถูกทุบให้เป็นเพียงอดีต

มีกระแสสังคมที่พยายามเรียกร้องให้จุฬาฯ สร้างความมั่นใจว่าอาคารแห่งนี้จะคงอยู่ต่อไป ไปจนถึงความเคลื่อนไหวของ สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ เคยยื่นหนังสือต่อกรมศิลปากร ให้ขึ้นทะเบียนสกาลาเป็น “โบราณสถาน” แต่ไม่เป็นผล เพราะกรมศิลปากรมีข้อวินิจฉัยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ตามคำนิยามใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) มองว่าอาคารที่ตั้งโรงหนังสกาลาไม่ถือเป็นโบราณสถาน

ภายในอาคารโรงหนังสกาลา ก่อนหมดสัญญาเช่า (ภาพจาก MGR Online)

ความงามของสกาลาถูกออกแบบโดย พ.อ.จิระ ศิลป์กนก เป็นศิลปะแบบ Art Deco ฝ้าเพดานสีทอง มีโคมแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่และบันไดโค้งตระการตา สกาลาเปิดฉายครั้งแรกวันที่ 31 ธ.ค. 2512 และตัวอาคารเคยได้รับ รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

เมื่อหมดสัญญาเช่าลง ครอบครัวตันสัจจา เจ้าของเดิมของอาคาร ได้รื้อส่วนประกอบคลาสสิกของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ออกไป เช่น โคมแชนเดอเลียร์ เครื่องประดับเพดาน เพื่อจะนำไปประดับที่สวนนงนุช พัทยา อีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัว

หลังจากนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 สำนักงานทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ ได้ประกาศผู้ชนะการประมูลสัมปทานที่ดิน 30 ปีของบล็อก A ขนาด 7 ไร่ คือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งบล็อกนี้เป็นเวิ้งในสยามสแควร์ที่ตั้งของโรงหนังสกาลา รวมถึงอาคารพาณิชย์ในบล็อกเดียวกันอีก 79 คูหา ทำให้เกิดกระแสความกังวลขึ้นอีกครั้งว่าสกาลาจะถูกทุบหรือไม่

มุมมองจากด้านข้างอาคารสกาลา มีป้ายระบุว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก พื้นที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง”

ในเดือนกันยายน 2564 ทางเซ็นทรัลพัฒนาให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวมติชน ว่า บริษัทเตรียมปรับปรุงบล็อก A ให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็ก “และจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าของโรงหนังสกาลาไว้ให้มากที่สุด” ซึ่งทำให้สังคมคลายความกังวลลงไป จนกระทั่งเกิดการรื้อทุบในวันนี้

Positioning ได้สอบถามไปยังเซ็นทรัลพัฒนาถึงการรื้อทุบอาคารในครั้งนี้ โดยยังคงรอข้อมูลตอบกลับอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับอาคารพาณิชย์ในบล็อก A ผู้เช่าได้ย้ายออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว ร้านค้าที่ยังเหลือบางส่วนเริ่มขึ้นป้ายแจ้งที่อยู่ใหม่ที่จะย้ายไปในเดือนธันวาคมนี้ โดยกำหนดการเดิมของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับเซ็นทรัลพัฒนาช่วงต้นปี 2565

บล็อก A ไม่ใช่พื้นที่เดียวในสยามสแควร์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลง พื้นที่บล็อก H ที่เคยเป็นศูนย์การค้าโบนันซ่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นอาคารมิกซ์ยูสออฟฟิศ-รีเทลชื่อ Siamscape ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการแล้ว ถัดมาที่บล็อก I ก็ปิดตำนานฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ 30 ปีไปแล้วเมื่อต้นปีนี้ ขณะนี้ได้ทุบอาคารออกทั้งหมด รวมถึงบล็อก J ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์มีการปรับปรุงใหญ่ สร้างอาคารใหม่เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์ก คาดเปิดบริการธันวาคม 2564

อาคารธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ที่กำลังปรับปรุงใหม่ อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในสยามสแควร์
พื้นที่เดิมที่เคยมีฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ ทุบอาคารเรียบร้อยแล้ว