ห้ามกะพริบตา ศึกทีวีดิจิทัล ปรับผัง ดัมพ์ราคาโฆษณา ความท้าทาย ประชุม มาลีนนท์ บิ๊กช่อง 3 จับมือ JKN ลุยหารายได้ ตปท.

นับวันดีกรีการแข่งขันธุรกิจทีวีดิจิทัลก็ยิ่งรุนแรง ทำเอา “ช่อง 3” ต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งเรื่องคอนเทนต์ และราคาโฆษณาเพื่อรับมือกับการแข่งขันชนิดตาไม่กะพริบ

เพราะจากเดิมช่อง 3 มีแค่ช่อง 7 เป็นคู่แข่งหลัก แข่งขันกันแค่ 2 ราย มีแต่ขึ้นราคาโฆษณา แต่เวลานี้มีคู่แข่งถึง 22 ราย ที่เข้ามาช่วงชิงเค้กโฆษณาก้อนเดิม ทำให้การแข่งขันจึงดุเดือด โดยเฉพาะการดัมพ์ราคาค่าโฆษณา

เม็ดเงินอุตสาหกรรมในทีวีมันลดลง มันไม่ใช่เกิดจากการที่ลูกค้าเขาใช้เงินน้อยนะ เพราะจริงๆ เขาก็ยังใช้มากอยู่ แต่ราคามันลดลง บางช่อง บางรายการปรับลดโฆษณาลงกว่า 50% ทำให้ช่อง 3ต้องปรับตัว ปรับราคารับมือเช่นกัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ เรตติ้ง ประกอบกันด้วย ช่อง 3 เองก็ขยับผังรายการแทบทุกเดือน” ประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3

ส่วนปรับค่าโฆษณามากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องดูเดือนต่อเดือน โชคดีได้อานิสงส์ละครบุพเพสันนิวาส ลูกค้าที่ทิ้งไปกลับมาซื้ออีกครั้ง ดึงกลยุทธ์ด้านโซเชียลมาช่วยปั่นกระแส ส่งผลให้ละครใหม่ๆ แม้เรตติ้งจะไม่แรงเท่าบุพเพฯแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

เราก็ต้องรักษากระแสตรงนี้ให้อยู่ต่อไป เพราะตรงนี้มันมีการแข่งขันกันมาก ไม่ใช่แค่เราสร้างคอนเทนต์เสร็จแล้วเราจะพอ ต้องดูคู่แข่งด้วยว่าของเขามีอะไร บวกกับปัจจัยอีกสารพัด

ผังรายการจึงต้องปรับทุกเดือน เพื่อให้ทันกับการแข่งขันที่มีตลอดเวลา รวมถึงกลยุทธ์ทางด้านโซเซียลมาสร้างกระแสด้วย เพราะเห็นได้จากกระแสโซเซียลช่วยบุพเพฯ ได้เยอะ จึงต้องชิงไหวชิงพริบตลอด

ส่วนในเรื่อง ม.44 ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มาช่วยให้ช่อง 3 มีสภาพคล่องเรื่องเงินสดดีขึ้น นำเงินไปพัฒนาคอนเทนต์ให้ดีขึ้นเพื่อแข่งขันเป็นหลัก รวมถึงด้านการผลิตและต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินงาน

“ในความเป็นจริงทุกช่องอยากได้ความช่วยเหลือมากกว่านี้ ส่วนถ้าหากเปิดโอกาสให้เปลี่ยนมือหรือคืนช่องได้ ต้องดูรายละเอียดประกอบกันด้วยว่าจะเป็นผลดีมากแค่ไหน”

เมื่อภาพรวมของธุรกิจเป็นแบบนี้ ช่อง 3 จึงใช้พันธมิตรทางธุรกิจทุกรูปแบบ มาช่วยสร้างความแข็งแกร่งแต่ละด้าน ล่าสุดร่วมมือกับทางเจเคเอ็น ในการส่งออกละครไทยไปต่างประเทศที่เป็นตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมจากตลาดที่ช่อง3 ได้ทำการขายอยู่แล้ว คือ จีน ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม และพม่า

ที่ผ่านมา ช่อง 3 ได้ขยายช่องทางการตลาดส่งละครไทยไปต่างประเทศตั้งแต่ปลายปี 2560 ให้กับบริษัท พีเอ็นเอ็นทีวี กัมพูชา ไปออกอากาศ 1,400 ชั่วโมง หรือประมาณ 40-50 เรื่อง รวมถึงการร่วมมือ บริษัท เทนเซ็นต์ วิดีโอ ในเครือบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ส่งออกคอนเทนต์ ละครไปตลาดจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายฐานผู้ชม เพิ่มรายได้ และลดการละเมิดลิขสิทธิ์

*** บุพเพฯ ไม่ผ่านเซ็นเซอร์จีน

แต่สำหรับละคร บุพเพสันนิวาสนั้น ช่อง 3 ไม่ได้ขายไปที่เมืองจีน แม้กระแสจะดีก็ตาม แต่เป็นลักลอบเอาคอนเทนต์ไปฉายแบบไม่ถูกกฎหมาย ช่อง 3 จึงได้รับติดต่อเข้ามา แต่ติดกฎเกณฑ์ของประเทศจีน ที่มีขอห้ามหลายอย่าง

“อย่างละครที่มีผีสาง ลักษณะความรุนแรง เพศ หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม จะไม่สนับสนุน ไม่ใช่แค่ตลาดทีวีเท่านั้น แม้แต่ใน OTT หรือการออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ต ก็มีการคุมเข้มมากขึ้น และยังมีโควต้าด้วยว่าแต่ละปีจะเปิดให้กลุ่มประเทศเอเชียเข้าไปขายได้ประมาณสักเท่าไหร่ ซึ่งหมายความว่าคอนเทนต์ที่เราจะเอาไปขายนั้นก็ต้องไปผ่านเซ็นเซอร์ที่นั่นก่อน ก็มีจีนกับไทยนี่แหละเข้มมาก”

*** จับมือเจเคเอ็นขายละครทั่วโลก

สำหรับเจเคเอ็น เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายงานละครช่อง 3 ในต่างประเทศ ซึ่งในล็อตแรก มีละครยอดฮิตเตรียมส่งถึง 70 เรื่อง เช่น สามีตีตรา, ทรายสีเพลิง, รอยฝันตะวันเดือด, ลมซ่อนรัก เป็นต้น เชื่อว่าจะสร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้จากต่างประเทศ หรือปีแรกคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

แอนจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JKN กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้จะเน้นการเปิดตลาดละครใหม่ ยังมีโอกาสอีกมากมายในหลายประเทศ โดยมองโอกาสขยายเข้าไปในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeaste Asia) เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, สิงคโปร์ และไต้หวัน ขณะที่อีกหลายประเทศอย่างลาตินอเมริกา และตะวันออกกลางก็เป็นที่น่าสนใจ

ความร่วมมือครั้งนี้กับทางช่อง 3 ครั้งนี้ ถือเป็นขั้นที่ 1 ในการเป็นตัวแทนขายคอนเทนต์ให้ช่อง 3 ไปยังประเทศใหม่ๆ ที่ช่อง 3 ยังไม่ได้ขายคอนเทนต์ เพื่อสร้างการรับรู้

ส่วนขั้นที่ 2 เป็นการขายคอนเทนต์ให้มากขึ้น และขั้นที่ 3 หรือในอีก 3-4 ปีข้างหน้า จะมีความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของการจัดงานซื้อขายคอนเทนต์ในประเทศไทย โดยจะมีการจัดอีเวนต์นำดาราม่าเดินบนพรมแดงอย่างในต่างประเทศ

“ปัจจุบันราคาคอนเทนต์ไทยเมื่อเทียบกับคอนเทนต์ในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินเดีย และเกาหลี ของไทยยังมีราคาต่ำกว่า 3-5 เท่า ปีแรกน่าจะขยับราคาขึ้นได้ 5%และปีที่ 2ขยับราคาเพิ่มได้อีก 10%”

*** “ประวิทย์เทหุ้นเป็นเรื่องส่วนตัว 

ส่วนกรณีที่ “ประวิทย์ มาลีนนท์” ซึ่งเป็น 1 ในคนตระกูลมาลีนนท์ ที่ขาย ในบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเทหุ้นขายเกลี้ยงพอร์ต (อ่านประกอบ >>  “ประวิทย์ มาลีนนท์” ทิ้งหุ้นช่อง 3 ขายหมดเกลี้ยงพอร์ต เหลือ 7 พี่น้อง)

ประชุม บอกว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณประวิทย์ ต้องถามคุณประวิทย์เองเลยครับ มาถามผมไม่ได้

ส่วนมีผลต่อความน่าเชื่อถือมั้ย ผมว่าเรื่องถือหุ้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องดูภาพรวมของ BEC จะมาดูแต่คุณประชุม คุณประวิทย์คือไม่ได้ และเดิมเราทำธุรกิจแบบครอบครัว แต่ปัจจุบันเราเป็นบริษัทมหาชนแล้ว เราก็ปรับเปลี่ยนการบริหารมากขึ้น ก็ต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขันแบบไม่หยุดยั้ง

ถามว่าเรื่องคนมีความสำคัญมั้ย ก็มีความสำคัญเช่นกัน รวมไปในเรื่องระบบ การตลาดก็มีความสำคัญ อย่างตัวผมเองถ้าทำให้หลายๆอย่างดีขึ้นก็ไม่ใช่ความสามารถของผมคนเดียว แต่เป็นความสามารถของทุกคนในทีมพันธมิตรต่างๆ ในส่วนตรงนี้ต้องการเวลาในการแก้ปัญหาพอสมควร

ส่วน ประวิทย์ลดบทบาทเหลือแค่พนักงานช่อง 3 บอกยังเป็นพี่ ไม่อยากพูดอะไรแทน 

ผมว่าเรื่องคุณประวิทย์ก็ต้องถามตัวคุณประวิทย์เอง จะเหมาะกว่า ถ้าผมไปพูดอะไรแทน เดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นเปล่าๆ เพราะคุณประวิทย์ก็คือพี่ชายผม ส่วนผู้ถือหุ้นก็เป็นในอีกลักษณะหนึ่ง และการประชุมผู้ถือหุ้นก็พูดเรื่องนี้เยอะนะครับ เราก็บอกไปว่าเราบริหารด้วยทีมงาน คนที่บริหารหลักๆ ก็ยังอยู่