ต้องนับว่าเป็นอีกหนึ่ง “Big Move” ของ 2 บิ๊กธุรกิจของไทยที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง เมื่อ 2 “เจ้าสัว” เศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในการเป็น “Big Data Partnership & Business Collaboration”
ทั้งคู่จะทำอะไร Positioning จะพาไปดูไอเดียเบื้องต้นของทั้ง 2 ฝั่ง เริ่มที่ “เครือสหพัฒน์” ที่เป็น “ยักษ์ใหญ่” คอนซูเมอร์ของไทย แค่ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ก็ป้อนคนไทยทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน สะท้อนถึงการเข้าถึง (Reach) กลุ่มเป้าหมายทุกหย่อมหญ้า จะรวยมากรวยน้อย ต้องเคยกินมาม่าแน่ๆ
ส่วน “บีทีเอส กรุ๊ป” เจาะแค่ฝั่งให้บริการขนส่งมวลชนผ่านบีทีเอสสายสีเขียวในแต่ละวัน บอกเลยว่ามากถึง 7-8 แสนคนต่อวัน รวมทั้งปีก็แตะถึง 40 ล้านคน การมีฐานผู้บริโภค “มหาศาล” และถ้าขายสินค้าและบริการให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้หมด คงทำรายได้เป็นอีกอื้อซ่า!
ในอดีต “สหพัฒน์” ไม่มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วจัดทำคลังเก็บขุมทรัพย์ข้อมูล หรือ Big Data ส่วน “บีทีเอส กรุ๊ป” ลงทุนวางระบบเก็บบิ๊กดาต้าไว้แล้ว พอมาร่วมมือกันเลยส่งสัญญาณ Win Win
“เสี่ยใหญ่-บุณยสิทธิ์” ขยับมาทำ Big Data เพราะฟันธงว่าเป็นโลกอนาคตของการทำธุรกิจ การจะผลิตสินค้าและบริการ จะมาใช้ความรู้สึกหรือ Sense เหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว ให้พ่อค้าแม่ขายมานั่ง “เดาใจ” ผู้บริโภคว่าจะชอบสินค้าแบบนั้นแบบนี้ แล้วมาผลิตสินค้าไปวางขาย ไม่ใช่คำตอบ
ยุคนี้ต้องเดินเกมกันด้วย “ข้อมูล” ที่มี วิเคราะห์ให้ตรงจุด “ทำนาย” หรือ Predict เทรนด์ตลาด แนวโน้มการขายสินค้าล่วงหน้า เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าให้โดนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจนต้องแห่แหนมาซื้อ
“เราต้องใช้บิ๊กดาต้ามาวางแผนผลิตสินค้าทำให้คนมาแย่งกันซื้อสินค้า ไม่ใช่คิดจากหัวพ่อค้า แล้วผลิตสินค้าไปวางขายเหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องทำให้คนแย่งซื้อ ต้องมาต่อแถว เข้าคิวซื้อเหมือนไอโฟน ซัมซุง” หากทำแบบนี้ได้ “เสี่ยบุณยสิทธิ์” คอนเฟิร์มว่าสินค้าจะขายดิบขายดีขึ้น
นอกจากนี้ บีทีเอส ยังมีสื่อในมือ มีอีเพย์เมนต์ ไลน์เพย์ แรบบิทเพย์ มีคนใช้งานหลักแสนราย รู้ว่าคนกลุ่มนี้เดินทางไปไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร Big Data เหล่านี้มีประโยชน์สุดๆ เพราะอีกหน่อยหากขยายความร่วมมือมากขึ้น จะทำให้สหพัฒน์ “เลือก” ได้เลยว่าจะ “ยิงโฆษณา” ไปหากลุ่มเป้าหมายเพศ อายุ และเดินทางไปในย่านไหน ไม่ต้องมานั่งทุ่มเงินซื้อโฆษณา แล้วโปรยไปทุกจุดทุกทำเล เพื่อให้ “ถูกหวย” เจอกลุ่มเป้าหมายที่ใช่
“ในอนาคตเราอยากรู้ว่าจะขายสินค้าที่โลเกชั่นไหนดี คนไปอยู่ไหน เราจะนำสินค้าและบริการไปลงให้ถูกจุด การเปิดร้านเปิดช็อปต้องตรงเเป้า ไม่ใช่ไปไม่ถูกที่ ซึ่งตัวเลขของบีทีเอสมีบอกว่ามุมไหน ที่ไหนคนขึ้นใช้บริการเยอะ เราร่วมมือกันแล้วแชร์ข้อมูลที่มี ทำให้เราค้าขายแม่นยำขึ้น”
รายละเอียดความร่วมมือเป็น Big Data Partnership ครั้งนี้ ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้
• E-Payment สหพัฒน์มีร้านค้าปลีกในมือหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นสปเชียลตี้ สโตร์ “ซูรูฮะ”, ร้านสินค้าราคาเดียว “ไดโซะ” ศูนย์บริการ His&Her สำหรับแลกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการซื้อสินค้า, ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108, ร้าน 108Shop และเคาน์เตอร์ชำระเงินมากมาย อีเพย์เมนต์ จะถูกพัฒนามารองรับระบบการซื้อขายในร้านนั่นเอง
• Targeted Media ตรงนี้จะมีการซีนเนอร์ยีกับ “วีจีไอ โกลบอล มีเดีย” และ “บีทีเอส” ในการทำสื่อโฆษณายิงกลุ่มเป้าหมายให้ตรงเป้า เพราะสหพัฒน์จะเจาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดยสารบีทีเอสว่า ใครเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปสิ้นสุดที่ไหน แล้วทำโฆษณาจะกินพื้นที่ที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอยู่เท่านั้น ไม่หว่านไปทั่วแต่ไม่ถูกกลุ่ม
• Moblie-Commerce ยุคนี้ผู้บริโภคจดจ่ออยู่กับหน้าจอมือถือมากกว่าทำอย่างอื่น จะขายสินค้าก็ต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงผู้ซื้อ เรียกว่าเสิร์ฟกันแบบถึงใจถึอารมณ์ผ่านปลายนิ้ว
• Distribution มีสินค้า มีคนซื้อ แต่ไม่มีช่องทางขาย คงไร้ประโยชน์ และการผนึกบีทีเอส จะได้เห็นสหพัฒน์ยกร้านค้าโมเดลใหม่ๆ ไปตั้งบนบีทีเอสมากขึ้น ตัวอย่างที่เครือหยิบยกมาเล่า ร้านกู๊ดมอร์นิ่ง ฟาร์มเฮ้าส์ และตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัต Vending Machine จะถูกยกไปให้บริการบนจุดต่างๆ ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสมากขึ้น เพราะต้องยอมรับที่ผ่านมา การขายสินค้าดังกล่าวไม่ง่าย โดยเฉพาะกู๊ดมอร์นิ่ง ฟาร์มเฮ้าส์ ร้านขายแซนด์วิชริมทาง ที่มักเจอปัญหาเทศกิจดูแลพื้นที่ให้เป็นระเบียบ จนพ่อค้าแม่ขายหน้าใหม่ ไม่อยากเข้ามาเป็นตัวแทนขายให้กับฟาร์มเฮ้าส์ มีพาร์ตเนอร์มาช่วยก็บรรเทาโจทย์ธุรกิจดังกล่าวได้ ยังมีเรื่องของการใช้เคอรี่ในการช่วยขนส่งและกระจายสินค้าอีก เรียกว่าสปีดการขายได้มากขึ้นแน่นอน
• Smart Sampling สหพัฒน์ขายสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก ตั้งแต่มาม่า 6 บาท ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ เครื่องดื่ม ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งในการทำตลาดของสินค้าเหล่านี้ คือแจกสินค้าตัวอย่าง (Sampling) หรือ Tester ให้ผู้บริโภคลองก่อนตัดสินใจซื้อ สำคัญมาก ซึ่งการมี Big Data ทำให้เลือกทำเลเทสต์ได้ตรงกลุ่ม
• Big Data Partnership จะลงทุนทำคลังเก็บขุมทรัพย์ข้อมูล ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลหลักร้อยล้าน มีแน่นอน แต่การเป็นพันธมิตรกับ “บีทีเอส กรุ๊ป” ลดภาระการลงทุนได้ระดับหนึ่ง และทำให้ก้าวกระโดดไปทำข้อมูลด้านอื่นได้ โดยพึ่งพาพื้นฐานและระบบที่บีทีเอสลงทุนไว้แล้ว
• Loyalty Program การโหมกลยุทธ์ราคา ห้ำหั่นกันทำโปรโมชั่นในวงการคอนซูเมอร์ดุเดือดมาก และสหพัฒน์ยังมีสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า สินค้าบริการอื่นๆ มากมาย ซึ่งมีการส่งเสริมการขาย และใช้บัตรสมาชิก His&Her มอบสิทธิประโยชน์ ลอยัลตี้โปรแกรมให้ลูกค้า ต้องทำการรีดีมคะแนนไปใช้รับสิทธิประโยชน์ อนาคตจะมีการ Collaboration มากขึ้น
• Staff Card บัตรพนักงานของสหพัฒน์ จะไม่ใช่แค่รายงานการเข้าออกทำงานแล้ว แต่อนาคตจะมีการผนึกกับแรบบิทการ์ด มอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้ในการใช้บริการโดยสารบีทีเอส หรือแม้กระทั่งให้แตะเอียแก่พนักงานเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ จุดนี้ถือว่าช่วยให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้น
ส่วนบีทีเอสจะได้อะไรจากการร่วมมือครั้งนี้ “กวิน กาญจนพาสน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มองไปที่ฐานลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งเป็นตลาดและกำลังซื้อที่มา “ขนาดใหญ่” มากกว่าแค่ในกรุงเทพฯ แค่มาดูว่าสหพัฒน์ขายมาม่าให้ประชาชนคนไทย 60 กว่าล้านคน ก็ทำให้จูงใจที่จะต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการทำอีเพย์เมนต์ ที่กระจายไปทั่วไทย นั่นจะทำให้บีทีเอสเก็บบิ๊กดาต้ามาใช้งานได้อีกเยอะ
สุดท้ายก็นำไปซีนเนอร์ยีกับวีจีไอวางแผนสื่อโฆษณาทำตลาดให้ลูกค้าได้แม่นยำ ไหนจะมีธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายทุกอย่างเป็น “จิ๊กซอว์” ทำให้ขยายอาณาจักรได้โตวันโตคืน
ปัจจุบันบีทีเอสให้บริการลูกค้า 40 ล้านคนต่อปี ถ้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) เสร็จ บริษัทจะมีฐานลูกค้าใหญ่ขึ้นเป็น 2 ล้านคนต่อวัน หรือกว่า 60 ล้านคนต่อปี นั่นหมายถึง Big Data จะบิ๊กเบิ้มกว่าเดิม และเอื้อให้ทำมาค้าขายกับผู้บริโภคได้มากขึ้น
Big Data จะทำให้ธุรกิจ Big เบิ้มกว่าเดิมทั้ง “สหพัฒน์” และ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เพิ่มความมั่งคั่งให้บริษัทยิ่งขึ้น.