“ชาร์ป” ทุ่มงบ 4 พันล้านเยน ซื้อกิจการพีซีจาก “โตชิบา” หวังหวนคืนตลาดคอมพิวเตอร์อีกครั้ง

บริษัทชาร์ป ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะเข้าซื้อกิจการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ พีซีของโตชิบา โดยมุ่งเป้าจะกลับมาลุยตลาดนี้อีกครั้ง โดยปัจจุบันกิจการทั้งหมดของชาร์ปถูกบริหารโดย บ.หงไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี บริษัทจากไต้หวัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในนามฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้รับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับดีลดังกล่าว ชาร์ปจะต้องควักกระเป๋าราว 4,000 ล้านเยน หรือราว 1,160 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นร้อยละ 80.1 ในบริษัท โตชิบา ไคลเอนต์ โซลูชันส์ บริษัทลูกของโตชิบาซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดแล็ปท็อปมากที่สุดในโลก แต่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้ผลิตแล็ปท็อปรายอื่น ๆ ไป โดยตามแผนการโอนหุ้นจะมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันชาร์ปยังประกาศด้วยว่าจะออกหุ้นใหม่มูลค่ากว่า 200,000 ล้านเยน หรือราว 58,000 ล้านบาท เพื่อจะซื้อหุ้นบริษัทกลับคืนจากธนาคาร โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้สถานทางการเงินของบริษัทกระเตื้องตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ตามแผนของชาร์ปในการซื้อกิจการพีซีจากโตชิบา ทางบริษัทต้องการจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแอลซีดี ผสานเข้ากับความสามารถในการผลิตของบริษัทแม่หงไห่ ผ่านแบรนด์ไดนาบุ๊ก (Dynabook) แบรนด์โน้ตบุ๊กเดิมที่สร้างชื่อเสียงให้กับโตชิบา

ทั้งนี้สถานะทางธุรกิจอันย่ำแย่ของโตชิบาในปัจจุบันนั้นเป็นผลกระทบมาจากการปรับโครงสร้างสินทรัพย์หลังจากการยื่นล้มละลายของเวสติงเฮาส์ ธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโตชิบาในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว

“ชาร์ปจะใช้ความได้เปรียบจากความสามารถในการผลิตของหงไห่ ในการเพิ่มความเข้มแข็งของสินค้าฮาร์ดแวร์ และตั้งเป้าจะทำเงินจากธุรกิจนี้” ทาคาโอะ มัตสุซากะ นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไดวะ ให้ความเห็น พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจโทรทัศน์และสมาร์ทโฟนของชาร์ปดีขึ้นเป็นลำดับหลังจากการประสานความร่วมมือกับบริษัทแม่อย่างหงไห่ ซึ่งเขาเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีแอลซีดีของชาร์ป กับความเชี่ยวชาญในการผลิตของหงไห่จะทำให้ชาร์ปสามารถผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่มีราคาพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่แข่งในตลาดได้

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยโตชิบาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ของบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนราว 8,200 ล้านเยน (ราว 2,400 ล้านบาท) ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า ที่ธุรกิจพีซีของบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนอยู่แล้ว 1,700 ล้านเยน (ราว 500 ล้านบาท)

ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล บริษัทวิจัยที่มีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บ่งชี้ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาโตชิบาครองอันดับที่ 8 ของตลาดแล็ปท็อปโลก หรือมีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 1.92 นอกจากนี้พีซีแล้ว บ.โตชิบา ไคลเอนต์ โซลูชันส์ ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีแบบสวมใส่ที่เกี่ยวโยงกับยุคของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) ด้วย

ในส่วนของ บ.ชาร์ปเอง หลังจากการขายกิจการให้ บ.หงไห่ ในปี 2559 ก็มีสถานทางการเงินที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งสุดสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 บ.ชาร์ปสามารถพลิกผลการดำเนินงานจากขาดทุนให้กลายมาเป็นมีกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

นักวิเคราะห์รายเดิมยังมองด้วยว่า แผนการอื่นของชาร์ปก็คือ การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งในสินค้าต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุให้ชาร์ปแสดงความสนใจ และเข้าซื้อกิจการบริษัทลูกของโตชิบา

ปัจจุบันประธานเจ้าหน้าทีบริหารของชาร์ป คือ นายไต้ เจิ้งอู๋ (戴正吳; Jeng-wu Tai) อดีตรองประธานของฟ็อกซ์คอนน์ ที่ได้รับมอบหมายมาให้เข้าบริหารจัดการ บ.ชาร์ป หลังการเทกโอเวอร์ โดยเขาเคยแสดงความมุ่งหมายว่าจะนำบริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจฮาร์ดแวร์บางตลาดที่ชาร์ปเคยถอนตัวออกไป ซึ่งในส่วนของธุรกิจพีซี บ.ชาร์ปได้เลิกทำธุรกิจนี้ไปเมื่อปี 2553.

Source