“โตชิบานำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” สโลแกนที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะ โตชิบา (Toshiba) อยู่ในตลาดไทยมานานเกือบ 55 ปีแล้ว แม้ปัจจุบันในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะถูกขายให้กับ ไมเดีย กรุ๊ป (Midea Group) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยจะติดลบในช่วงครึ่งปีแรก แต่โตชิบายังเติบโตได้ และภายในครึ่งปีหลังนี้บริษัทก็ตั้งเป้าที่จะรักษาการเติบโต 15% นี้ให้ได้
เติมเต็มกลุ่ม Mid-High เพราะได้ Knowhow จาก Midea
ย้อนกลับไปปี 2016 ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง Midea Group ได้ทุ่มเงิน 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อหุ้นถึง 80.1% ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวของ โตชิบา พร้อมได้สิทธิ์ในการใช้แบรนด์โตชิบาในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนเป็นเวลา 40 ปี
สำหรับ โตชิบา ไทยแลนด์ ที่ทำตลาดในไทยเป็นเวลา 55 ปีเต็ม ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นไทย 54% ไมเดีย กรุ๊ป 36.8% และโตชิบา คอร์ป ญี่ปุ่น 9.2% โดย กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ อธิบายว่า ในอดีตจุดแข็งของโตชิบาในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่ที่กลุ่ม Entry แต่สินค้าในกลุ่มพรีเมียมยังมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้าต่ำ อย่างไรก็ตาม การที่มีไมเดียเป็นพาร์ทเนอร์จะยิ่งช่วยให้โตชิบาสามารถรุกกลุ่ม Mid-High ได้ดีมากขึ้น
“ในวันที่โตชิบาเป็นญี่ปุ่นจ๋า ด้วยความละเอียดอ่อนของ R&D ทำให้การออกสินค้าตัวหนึ่งใช้เวลา 2 ปี พอมีพาร์ตเนอร์ใหม่ทำให้มีความเร็วขึ้นมาก ออกสินค้าใหม่ได้ภายใน 6-8 เดือน ดังนั้น มันเป็นการเติมเต็มกลุ่มที่โตชิบาขาดหายไปในอดีต”
โดยโตชิบามองว่ากลุ่ม Mid-High จะเป็นทิศทางในการเติบโตในอนาคตของแบรนด์ เนื่องจากเทรนด์กำลังไปในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้ การแข่งขันก็น้อยกว่าในกลุ่ม Entry ที่มีแบรนด์หน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเยอะ และเน้นที่ราคามากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ตาม การที่โตชิบาจะเติบโตในกลุ่ม Mid-High ได้ กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
“ใคร ๆ ก็อยากมาทำตลาด Mid-High เพราะกำไรดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กำลังซื้อผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนตลาด Entry นอกจากแบรนด์ใหญ่ด้วยกันยังต้องเจอสินค้าจีนไม่มีแบรนด์ มันส่งผลกระทบกับตลาดแน่นอน เพราะมีบางคนที่อยากลองเพราะมันถูก แต่จะขายแค่ช่วงแรกเท่านั้น”
ครึ่งหลังส่งสินค้าอีก 39 รายการลงตลาด
อเล็กซ์ มา รองประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกโตชิบามีได้ส่งสินค้าใหม่ทำตลาดจำนวน 31 รายการ ซึ่ง เครื่องซักผ้าและตู้เย็น ถือเป็น 2 กลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุด และทั้ง 2 กลุ่มสินค้าถือเป็นัดส่วนหลักที่ทำให้ยอดขายของโตชิบาเติบโต 15%
ในครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าที่จะรักษาการเติบโต 15% โดยจะส่งสินค้าใหม่ลงตลาด 39 รายการ เน้นกลุ่ม Mid-High และมีฟังก์ชัน IOTs รวมทั้งปีมีสินค้าทั้งหมด 208 รายการ ที่ทำตลาดในปี 2023 โดยในครึ่งปีหลังนี้สินค้าที่จะเน้นยังเป็น ตู้เย็น ซึ่งปัจจุบันตู้เย็นคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทและเป็นเบอร์ 1 ในตลาดไทย
นอกจากสินค้าแล้ว โตชิบายังคงเน้นหนักที่การตลาด โดยยังคงเน้นสร้างการรับรู้ของแบรนด์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การรีวิวสินค้าผ่าน KOLs ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ, การทำโรดโชว์ รวมถึงใช้สื่อ Out of Home นอกจากนี้ ในเทศกาล 11.11, 12.12 บริษัททุ่มงบการตลาดเพิ่ม 20% โดยตั้งเป้าเติบโต 30% ในช่องทางออนไลน์ ปัจจุบัน ออนไลน์คิดเป็น 5% ของยอดขายทั้งหมด
จะเริ่มลุยตลาดแอร์ในอนาคต
สำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกไม่นับทีวีมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท เติบโต 14% โดย Major Appliances เช่น เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า มีมูลค่า 34,000 ล้านบาท ส่วน Small Appliances หรือเครื่องไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น ไมโครเวฟ, หม้อหุงข้าว, ทำน้ำอุ่น มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นส่วนที่เติบโตมากที่สุดถึง 36% ดังนั้น ถ้าตัดเครื่องปรับอากาศออกไป ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะติด ลบ -1% โดยโตชิบายอมรับว่า การที่แบรนด์ไม่ได้เน้นที่ตลาดเครื่องปรับอากาศเลย ทำให้ บริษัทเสียโอกาสที่จะเติบโต ไป
ดังนั้น โตชิบาจึงเริ่มวางแผนที่จะ เน้นที่เครื่องปรับอากาศมากขึ้นในอนาคต โดยล่าสุด บริษัทแม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศมูลค่า 5,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โดยสามารถผลิตได้ 4 ล้านเครื่อง/ปี ปัจจุบันเน้นส่งออกในตลาดเอเชียและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เซกเมนต์เครื่องปรับอากาศนั้นไม่ง่าย เพราะมีผู้เล่นใหม่ ๆ มากขึ้น ดังนั้น ต้องวางวางกลยุทธ์ให้ดี
ไทยยังมีศักยภาพตั้งโรงงานได้อีก
สำหรับโรงงานที่นิคมปิ่นทองมีการจ้างงาน 2,000 คน ซึ่ง กนิษฐ์ ย้ำว่า บริษัทแม่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ดังนั้น บริษัทแม่มีแผนที่จะลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่บริษัทก็ไม่มีความกังวล ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไหนก็ตามที่เข้ามาจะทำเพื่อประเทศ
“กำลังซื้อครึ่งปีแรกอาจยังไม่ดีนัก หรือภาคส่งออกที่ดูเหมือนไม่ดี แต่ถือว่าไทยดีที่สุดเมื่อเทียบกับในภูมิภาค และการท่องเที่ยวก็ดีขึ้น รายได้ก็กระจายสู่ชุมชน ดังนั้น เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพไทย เราผ่านมา 55 ปีแล้ว การตั้งรัฐบาลไม่ได้มีข้อกังวลเลย โดยเฮดควเตอร์ยังมองไทยเป็นจุดหลัก และมีศักยภาพในการลงทุนตั้งโรงงานได้อีก”