“ซาโตชิ สึนาคาวะ” อดีตซีอีโอ ผู้มอง “โตชิบา” เสี่ยงเกินไปที่จะปรับโครงสร้างเป็นเอกชน!

(Photo by YOSHIKAZU TSUNO/Gamma-Rapho via Getty Images)
หากยังจำกันได้ โตชิบา (Toshiba Corp.) เคยเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อ ก.ค. 2015 จากเหตุการณ์ประธานและผู้บริหารระดับสูงอีก 7 คนพร้อมใจยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีการแต่งบัญชีบริษัทให้กำไรเกินจริงมานานหลายปี

กรณีดังกล่าวสร้างผลกระทบสูงเนื่องจากในเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นพยายามออกมาตรการมากมายเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนทั่วโลก จนทำให้ต้องมีการเฟ้นตัวซีอีโอมือดี ขึ้นมากู้วิกฤติศรัทธาจากทุกฝ่าย แม้ว่าจะถูกมองเป็นงานหินเพราะโตชิบามีโอกาสสูงที่จะล้มหายและไม่สามารถอยู่รอดต่อไปในโลกธุรกิจยุคหน้า

“ซาโตชิ สึนาคาวะ” เป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวผู้ก้าวขึ้นมารักษาการณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอตั้งแต่ ก.ย. 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียง 3 เดือนหลังจากมรสุมข่าวอื้อฉาวของโตชิบา ภายใต้การนำของสึนาคาวะ โตชิบายังคงมีข่าวชวนปวดหัวอยู่ตลอดเวลา เช่นข่าวปี 2017 ซึ่งบริษัทเปิดเผยยอดขาดทุน 532,000 ล้านเยน (ราว 4,800 ล้านดอลลาร์) สูงกว่าที่เคยประมาณกันไว้ก่อนหน้านี้

แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือการปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของสึนาคาวะที่ต้องการให้แยกธุรกิจโตชิบาออกเป็น 2 บริษัท และฝ่ายคัดค้านที่มองว่าควรแยกเป็น 3 บริษัท ปรากฏว่าความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนล่าสุด สึนาคาวะตัดสินใจลาออกเมื่อ 1 มีนาคม 2022

สึนาคาวะจะถูกแทนที่โดยทาโร ชิมาดะ เจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานอาวุโสของโตชิบา ผู้เป็นอดีตผู้บริหารของซีเมนส์ (Siemens) ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะร่วมงานกับโตชิบา ในปี 2018 โดยชิมาดะได้รับเลือกภายใต้การตัดสินใจในการประชุมคณะกรรมการของโตชิบาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 กลายเป็นผู้ที่มารับไม้ต่อ และเผชิญกับความท้าทายในการเดินแผนปรับโครงสร้างหนี้โตชิบาที่ผู้ถือหุ้นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพราะรายงานชี้ว่าชิมาดะจะมาสนับสนุนแผนของสึนาคาวะเช่นเดิม

Photo : Shutterstock

ความสนุกของเรื่องนี้คือมุมมองที่ต่างกัน สึนาคาวะนั้นเป็นปู่ที่อยู่โยงกับโตชิบามาตั้งแต่ปี 1979 ชั่วโมงบินกว่า 42 ปีบอกสึนาคาวะว่าทางที่ดีที่สุดในการทำให้โตชิบาฟื้นตัวคือการแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ไม่ใช่ 3 เพราะโตชิบาเสี่ยงเกินไปที่จะปรับโครงสร้างเป็นเอกชนเต็มตัว

โดยอาจทำให้โตชิบาสูญเสียฐานรายได้ในระบบสาธารณูปโภคและรัฐบาลท้องถิ่นด้วย โดยสึนาคาวะมองไกลถึงขั้นว่าการปรับโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำให้โตชิบาถูกบังคับให้ขายเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ รวมถึงเทคโนโลยีซีเคียวิรตี้เพื่อป้องกันประเทศและความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ได้

หลายคนไม่สงสัยว่า ทำไมสึนาคาวะต้องตัดสินใจลาออก ทั้งที่วิสัยทัศน์ของเขาก็ฟังดูดี เหตุผลคือเพราะไอเดียของสึนาคาวะจะทำให้โตชิบาไม่คืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร ภาวะนี้ผู้ถือหุ้นรับไม่ได้ และมองว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบในการจัดการแก้ปัญหาที่ผู้ถือหุ้นต้องเผชิญ

เมื่อรับไม่ได้ นักลงทุนจึงไม่เชื่อมั่นในการบริหารสึนาคาวะ ภาวะการขาดเสถียรภาพทำให้ต้องมีการหา “เลือดใหม่” ขึ้นมาเป็นกันชน แทนสึนาคาวะที่ถือหุ้นในโตชิบาราว 508 ล้านหุ้น

แบ่ง 2 ดีกว่าแบ่ง 3?

จุดแตกหักที่ทำให้สึนาคาวะไม่สามารถอดทนนั่งเก้าอี้ซีอีโอต่อไปได้ คือการประกาศผลโหวตของบอร์ดบริหารโตชิบาที่เลือกการปรับโครงสร้างเพื่อแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ส่วน แทนที่จะเป็น 3 ส่วนเหมือนที่เคยแจ้งต่อผู้ถือหุ้น โดยบริษัทหนึ่งจะเน้นที่โครงสร้างพื้นฐาน และอีกบริษัทโฟกัสที่ธุรกิจอุปกรณ์ และวางแผนจะลดภาระธุรกิจเครื่องปรับอากาศในสหรัฐฯ ผ่านการขายให้บริษัทแคร์เรียร์ (Carrier Global Corporation) ของสหรัฐฯ ในราคาประมาณ 1 แสนล้านเยน (870 ล้านดอลลาร์) เพื่อชดเชยผู้ถือหุ้นต่างชาติที่คัดค้านแผนฟื้นฟูนี้

การเปลี่ยนจากแผนแยก 3 มาเป็นแผนแยก 2 ถือเป็นจุดพลิกผันล่าสุดในการต่อสู้ระหว่างโตชิบาและผู้ถือหุ้นต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนักเคลื่อนไหวและกองทุนป้องกันความเสี่ยง ทุกผ่ายรู้ดีว่าการแยกบริษัทออกเป็น 2 ส่วนจะทำให้โตชิบาประหยัดเงินได้มากกว่าที่จะสามารถคืนให้ผู้ถือหุ้นได้ โดยแผนนี้จะต้องผ่านการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะมีการลงคะแนนเสียงตามแผนการปฏิรูปในวันที่ 24 มีนาคม 2022

ก่อนการประชุมนัดสำคัญจะเริ่ม สึนาคาวะตัดสินใจลงจากตำแหน่งเพื่อให้โตชิบามีภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดขึ้น ที่ผ่านมา โตชิบาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดของญี่ปุ่น ตัวองค์กรก่อตั้งในปี 1875 เป็นบริษัทที่บุกเบิกการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากมายตั้งแต่หม้อหุงข้าวไฟฟ้าไปจนถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ โตชิบายังเป็นแบรนด์ที่คิดค้นหน่วยความจำแฟลช แม้ว่าแผนกนี้จะถูกขายออกไปแล้วในช่วงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการดิ้นรนให้อยู่รอดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในมีนาคม 2011 มหันตภัย สึนามิทำลายเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องจนแผ่รังสีไปทั่วพื้นที่ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเขตห้ามเข้าบางส่วนด้วย

สำหรับการลาออกของสึนาคาวะ วัย 66 ปี และการรับช่วงต่อของชิมาดะ วัย 55 ปี จะเป็นการรักษาการณ์ชั่วคราว โดยคณะกรรมการบริษัทวางแผนจะติดตามผลการปฏิบัติงานของชิมาดะ และจะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้สมัครจากภายนอกแทน โดยสึนาคาวะจะยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทต่อไป

ในขณะที่ชิมาดะยืนยันว่าจะมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการพิจารณาแยกบริษัทออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นทางเลือกในการขายธุรกิจให้กับไพรเวทอิควิตี้ ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเดียวกับสึนาคาวะ ผู้เป็นแกนนำของฝ่ายบริหารซึ่งไม่เต็มใจที่จะทำตามทางเลือกที่นักลงทุนเสนอ และมองความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นมากกว่า

ดูเหมือนว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นจะรับรู้ได้ หลังจากที่สึนาคาวะกล่าวย้ำในการให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า การปรับโครงสร้างให้โตชิบาเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะ “อยู่ไม่รอด” คำให้สัมภาษณ์นี้ส่งให้มูลค่าหุ้นโตชิบาเพิ่มขึ้นมากถึง 5% ซึ่งเป็นมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปีที่แล้ว

ฮิเดกิ ยาสุดะ นักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเจแปนไทมส์ ว่าการผันผวนของหุ้นโตชิบา แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโตชิบาไม่ชอบความคิดที่จะแยกบริษัทออกไป ไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 ส่วน คาดว่ามูลค่าหุ้นนี้เพิ่มขึ้นตามโอกาสที่โตชิบาจะหันไปทำธุรกิจแบบเฉพาะทางมากขึ้น

ถึงจุดนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าการคัดค้านการปรับโครงสร้างโตชิบาของสึนาคาวะจะออกผลหรือไม่ และอาจต้องยกให้เป็นผลงานของสึนาคาวะ ที่ช่วยให้โตชิบาไม่ต้องสูญเสียฐานตลาดในระบบสาธารณูปโภคและรัฐบาลท้องถิ่นไป รวมถึงในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือโตชิบาจะไม่ต้องถูกบังคับให้ขายเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน เพียงแต่ว่าสึนาคาวะจะต้องลงจากตำแหน่งไปพัก และหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมานำทางโตชิบาแทน

ที่มา :japantimes, hurriyetdailynews, bloomberg,