เปิด 5 อาชีพสุดฮอต ไม่เสี่ยงตกงาน จ๊อบส์ดีบี ฟันธงตลาดงานปี’61 ดีกว่าปีก่อน

บริษัทจัดหางานจ๊อบส์ดีบีฯ มองภาพรวมแนวโน้มตลาดงานในประเทศไทยในปี 2561 ว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะบริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และบริษัทของไทยเองก็มีแผนที่จะขยายธุรกิจ โดยผลสำรวจ 50% ของผู้ประกอบการ ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 3% บอกว่ามีแผนจะขยายงานและจ้างงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ 45% ของผู้ประกอบการ ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 6% มองว่าแนวโน้มตลาดงานปีนี้จะดีกว่าปีก่อน และมีเพียง 25% ซึ่งลดลงจากปีก่อนถึง 8% มองว่าแนวโน้มตลาดงานจะแย่กว่าปีก่อน

ขณะที่การชะลอการจ้างงานในตำแหน่งที่มีการลาออกก็มีแนวโน้มว่าจะลดลง โดยในปีนี้อยู่ที่ 25% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 39% หมายถึงจะมีการเปิดรับมากขึ้น

ตามปกติ ช่วงเวลาของการเปิดรับสมัครงานหรือการเปลี่ยนงานจะมีมากในเดือนมกราคม ที่มีการรับโบนัสของปีก่อนแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าการเปิดรับในช่วงเดือนมิถุนายนจะมีความคึกคัก สอดรับกับการเข้ามาขยายกิจการเพิ่มขึ้นของธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งมีรอบปีบัญชีแตกต่างจากบริษัทไทย เช่น ออสเตรเลีย และอังกฤษ เป็นต้น

แต่ในส่วนของผู้หางานกลับมองว่าปีนี้เป็นปีที่ยากสำหรับการหางาน โดย 53% บอกว่าจะลำบากกว่าเดิมอย่างแน่นอน และ 50% บอกว่าอย่างดีก็เหมือนกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเพราะการขาดทักษะในการทำงานที่หลากหลาย รวมทั้งทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความกังวล

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงคือผู้ที่มีทักษะที่ดีตรงตามความต้องการของตลาดจะยังคงสามารถหางานที่ดีหรือที่ต้องการได้ แต่การแข่งขันก็สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กจบใหม่มีทักษะที่ดีกว่า ค่าจ้างไม่แพง และทำงานหนักได้มากกว่ารุ่นพี่ ๆ

ความต้องการบุคลากรที่สามารถทำงานในวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น อังกฤษ หรืออเมริกัน จะมีมากขึ้นเพราะบริษัทต่างชาติจะเข้ามาขยายกิจการในประเทศไทยมากขึ้น ทักษะด้านความสามารถในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ภาษา รวมทั้งด้านไอทีจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกด้วย

5 ธุรกิจมาแรงรับสมัครงานสูงสุด

เมื่อดูจากผลสำรวจของจ็อบส์ ดีบี พบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุด โดยดูจากการโฆษณาประกาศรับสมัครงานเปรียบเทียบปี 2559 กับ 2560  ได้แก่

  1. ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก
  2. ธุรกิจการผลิต
  3. ธุรกิจเทรดดิ้ง
  4. ธุรกิจไอที
  5. ธุรกิจบริการด้านการเงิน

5 ตำแหน่งงานต้องการสูง

  1. พนักงานขายและพัฒนาธุรกิจ
  2. วิศวกร
  3. ธุรการและงานบุคคล
  4. เจ้าหน้าที่ไอที
  5. พนักงานการตลาดและประชาสัมพันธ์

โดยมีปัจจัยผลักดันให้เกิดความต้องการ มาจากอัตราการลาออกสูง การเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ ความต้องการด้านทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อสำรวจ ผู้ประกอบการ พบว่า 5 อันดับธุรกิจที่เติบโตสูงสุดได้แก่

  1. ธุรกิจโฆษณา การตลาด และประชาสัมพันธ์
  2. ธุรกิจวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมเครื่องกล
  3. ธุรกิจกิจไอที
  4. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  5. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

แนวคิดดังกล่าว แตกต่างจากความเป็นจริง โดยธุรกิจโฆษณา การตลาด และประชาสัมพันธ์ ดูเหมือนเติบโตมาก แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นตำแหน่งงานที่ไม่ได้ใช้บุคลากรมากขนาดนั้น

ผู้หางาน

สำหรับผู้หางาน จากผลสำรวจพบว่าผู้หางานมีความรู้สึกว่าธุรกิจที่มีความต้องการจ้างงานสูงสุด 5 อันดับแรก

จะเห็นได้ว่า สองอันดับแรก ไม่ได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการหรือการประกาศหางานของบริษัท คือ หนึ่ง ธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจพลังงาน เป็นเพราะบริษัทเหล่านั้นใช้งบในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์สูง  และสอง ธุรกิจยานยนต์ เป็นเพราะผู้หางานรับรู้มาว่าธุรกิจยานยนต์โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจมักจะจ่ายเงินโบนัสสูงกว่าบริษัททั่วไป

แต่อีกสามอันดับคือธุรกิจการผลิตทั่วไป ธุรกิจไอที และธุรกิจโฆษณา การตลาดและประชาสัมพันธ์ มีความใกล้เคียงกับความต้องการจริงของตลาดแรงงาน

รู้ไว้ได้งานแน่ ๆ

จากแนวโน้มความต้องการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น ผู้หางานต้องเตรียมความพร้อม

  • เตรียมความพร้อมเรื่องภาษา
  • ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กับการทำงานเพิ่มเติมจากความสามารถในการหาข้อมูล
  • ทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ ทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน และควรจะไปในแหล่งหางานที่ถูกต้องเพื่อจะได้พบตำแหน่งงานที่ต้องการจริง ๆ