เทคโนโลยีทำให้มี “อาชีพ” ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในรอบ 80 ปี …แต่ก็ไม่มากเท่าอาชีพที่หายไป

อาชีพ
(Photo: Shutterstock)
วิจัยจากสหรัฐฯ พบว่า 6 ใน 10 ของ “อาชีพ” ที่มีอยู่ทุกวันนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 1940 จะยังไม่ปรากฏอาชีพเหล่านี้อยู่เลย เป็นเพราะ “เทคโนโลยี” ทำให้เกิดอาชีพใหม่มากมายในตลาดงาน แต่ขณะเดียวกันอาชีพที่เคยมีก็กลับหายไปจากเหตุผลเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงปี 1980 เป็นต้นมา จำนวนอาชีพเกิดใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าอาชีพที่หายไปด้วยระบบออโตเมชัน

งานวิจัยเรื่อง New Frontiers: The Origins and Content of New Work, 1940-2018 คณะวิจัยนำทีมโดย David Autor ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย MIT พวกเขาวิจัยหัวข้อนี้เพื่อศึกษาว่า “เทคโนโลยี” ช่วยสร้าง “อาชีพ” ใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และกลายเป็นสิ่งที่มาแทนที่อาชีพเดิมที่เคยใช้มนุษย์ทำมากน้อยเพียงใด โดยศึกษาย้อนหลังไปในกรอบเวลาเกือบ 80 ปีในช่วงปี 1940 ถึงปี 2018

สิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบคือ ตลาดงานมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในรอบเกือบ 80 ปี มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายจนทำให้ 6 ใน 10 ของอาชีพที่มีอยู่ในปี 2018 หากย้อนกลับไปเมื่อปี 1940 อาชีพพวกนี้จะยังไม่มีเกิดขึ้น

“หลายอย่างที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ วันนั้นยังไม่มีใครทำเลย หลายงานในปัจจุบันต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่วันนั้นยังไม่มี หรือยังใหม่เกินไปสำหรับโลกในอดีต” Autor ผู้วิจัยเขียนในรายงาน

 

“เทคโนโลยี” และ “ดีมานด์” ทำให้เกิดอาชีพใหม่

ภาพจาก Unsplash

เมื่อปี 1900 พี่น้องตระกูลไรท์ยังระบุอาชีพตัวเองเป็น “พ่อค้าจักรยาน” ก่อนที่อีก 3 ปีให้หลังพวกเขาจะประดิษฐ์เครื่องบินสำเร็จ และทำให้เวลาต่อมาพวกเขาเรียกตัวเองใหม่ว่าเป็น “นักประดิษฐ์เครื่องบิน” หลังจากนั้นอีกนานกว่าที่เครื่องบินจะเป็นสินค้าพาณิชยกรรมอย่างสมบูรณ์ และทำให้ในปี 1950 เกิดอาชีพใหม่ที่เรียกว่า “นักออกแบบเครื่องบิน” ขึ้นในสหรัฐฯ

เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นกับอาชีพอีกมากบนโลก เช่น “วิศวกรแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์” เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 1970 หรือ “วิศวกรแผงโซลาร์ PV” ก็มามีขึ้นในปี 2018 อาชีพเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงด้าน “เทคโนโลยี”

อย่างไรก็ตาม บางอาชีพใหม่ก็เกิดขึ้นเพราะ “ดีมานด์” ใหม่จากผู้บริโภคมากกว่า เช่น “ช่างสัก” เพิ่งจะเป็นอาชีพจริงจังเมื่อปี 1950 “นักวางแผนการจัดประชุมสัมมนา” เกิดเป็นอาชีพในปี 1990 “ช่างทำเล็บ” ก็เพิ่งจะถูกระบุเป็นอาชีพในปี 2000 รวมถึงในระยะหลังมานี้มีอาชีพเกี่ยวกับสุขภาพอีกหลายแขนง เพราะสังคมสูงวัยทำให้ต้องการผู้ช่วยด้านสุขภาพจำนวนมาก

 

40 ปีแรก กับ 40 ปีหลัง สร้างอาชีพคนละแบบ

ผู้วิจัยยังพบด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงทาง “เทคโนโลยี” ที่มีผลกระทบกับการเกิดและตายของอาชีพมีความแตกต่างแบ่งเป็น 2 ยุค คือ ช่วงปี 1940-1980 และ ช่วงปี 1980-2018

ในช่วงปี 1940-1980 หรือ 40 ปีแรก เป็นช่วงที่ภาคการผลิตกำลังบูมสุดขีด และสร้างอาชีพที่เรียกว่า “งานรายได้ระดับกลาง” ขึ้นมากมาย เช่น พนักงานโรงงาน เสมียนออฟฟิศ

แต่ในปี 1980-2018 เป็นช่วงที่ “ระบบออโตเมชัน” บูมสุดขีด และเกิด “โลกความจริงเสมือน” จากการมาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ผู้วิจัยพบว่ายุค 40 ปีหลังมานี้ การเกิดอาชีพใหม่ๆ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน คือ “งานรายได้ระดับสูงสำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” กับ “งานรายได้ต่ำในภาคบริการ” ส่วนงานระดับกลางกลับหดน้อยลง

“ข้อกังวลจริงๆ ก็คืออาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น เกิดมาเพื่อให้ใครทำ” Autor ผู้วิจัยระบุ “ในห้วงเวลาปี 1940-1980 มีงานใหม่มากมายเกิดขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้จบสูงถึงระดับวิทยาลัย มีงานโรงงานและออฟฟิศที่ทำรายได้ระดับกลางให้แรงงานได้ทำ แต่ในยุคต่อมาคือตั้งแต่ปี 1980 งานถูกแบ่งเป็นสองทาง คือ งานสำหรับระดับบัณฑิตที่จะได้ทำงานเฉพาะทาง ส่วนคนที่ไม่ได้จบถึงระดับมหาวิทยาลัยจะได้เข้าทำงานภาคบริการ”

 

ยุค 40 ปีหลังอาชีพเก่าหายไปมากกว่าอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น

ภาพจาก Unsplash

งานวิจัยนี้ยังสรุปได้ว่าในช่วง 40 ปีหลังมานี้ เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ทดแทนมนุษย์จนทำให้อาชีพเก่าหายไปมากกว่าอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นมา

เจาะลึกไปในช่วง 1940-1980 แน่นอนว่าอาชีพเก่าๆ เริ่มกลายเป็นอดีต เช่น พนักงานกดลิฟต์ พนักงานเรียงพิมพ์ เพราะระบบออโตเมชันเริ่มเข้ามาทดแทนแรงงาน แต่เทคโนโลยีใหม่และดีมานด์ใหม่ก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ในจำนวนมากกว่า เช่น พนักงานจัดซื้อ พนักงานชิปปิ้ง วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องบิน

แต่ในยุค 1980 เป็นต้นมา ด้วยระบบออโตเมชันที่ยิ่งทำงานขั้นสูงได้ดี ยิ่งทำให้อาชีพในภาคการผลิตหดตัวลงเร็ว เช่น พนักงานควบคุมเครื่องจักร ช่างต่อเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่โลกความจริงเสมือนเป็นแหล่งเกิดอาชีพใหม่มากกว่า เช่น ผู้จัดการการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังเพิ่มอาชีพเข้าตลาดงานได้ไม่เท่าที่หายไปจากระบบออโตเมชันขั้นสูง

 

เข้าสู่ยุคใหม่กับ “AI” อาชีพไหนที่จะหายไป?

3D Rendering futuristic robot technology development, artificial intelligence AI, and machine learning concept. Global robotic bionic science research for future of human life.

การศึกษานี้ทำให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลต่อการเกิดขึ้นใหม่และหายไปของอาชีพ แล้วในยุคใหม่นี้ที่ “AI” กำลังเข้ามามีบทบาทกับการทำงาน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? น่าเสียดายที่งานวิจัยนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาเองก็กำลังจับตา

“AI เป็นเรื่องที่ต่างออกไปมาก” Autor กล่าว “มันอาจจะมาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญที่ทำรายได้ระดับสูงก็ได้ หรืออาจจะมาเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจต่างๆ ผมคิดว่าเราอยู่ในยุคที่เราได้เครื่องมือใหม่ตัวนี้มาและยังไม่รู้ว่าจะไปใช้ทำอะไรดี เทคโนโลยีใหม่มักจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนและเรามักจะต้องใช้เวลาสักพักเพื่อค้นให้พบการใช้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น GPS เกิดมาครั้งแรกเพื่อนำมาใช้ทางการทหาร และต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาอยู่บนสมาร์ทโฟน”

สรุปว่างานวิจัยนี้อาจจะเป็นพื้นฐานให้ทีมวิจัยได้ศึกษาต่อว่าผลกระทบจาก AI จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับตลาดงานในอนาคต แต่ที่แน่ใจได้แล้ววันนี้คือไม่มีอาชีพอะไรที่อยู่คงทนถาวรตลอดไป

ที่มา: MITnews, Fastcompany