คลื่นความถี่ต้นเหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสเสียถี่ยิบ กสทช. ลงตรวจสอบแล้ว

ความเดือดร้อนของคนกรุงยามนี้ ไม่มีเรื่องอะไรร้อนแรงมากไปกว่า กรณีรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง ทำให้ชีวิตการเดินทางไปทำงานของคนเมืองเดือดร้อน กระทบต่อชีวิตและธุรกิจอีกมากมาย 

แต่เหตุการณ์ที่รถไฟฟ้า BTS เสียบ่อย ถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้ข้อสรุปว่า เป็นปัญหาเกิดจาก คลื่นความถี่ ที่ส่งผลกระทบต่ออาณัติสัญญาณถูกคลื่นวิทยุสื่อสาร

ผู้บริหาร BTS  อาณัติ อาภาภิรม กรรมการ บริษัท รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ชี้แจงว่า สาเหตุของการขัดข้องในวันที่ 25 มิถุนายน เบื้องต้นมาจากปัญหาระบบอาณัติสัญญาณถูกคลื่นวิทยุสื่อสารรบกวน จึงจำเป็นต้องปรับระบบจากเดินรถอัตโนมัติมาเป็นเดินรถแบบแมนนวล เนื่องจากเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งผ่านใจกลางเมือง มีตึกสูงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาคลื่นวิทยุรบกวนอาณัติสัญญาณบ่อยครั้ง 

แต่ก็ไม่อยากโทษใคร และพยายามแก้ไขปัญหาไปตามอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยจะมีการเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

รูปภาพจากทวิตเตอร์

เมื่อมีข้อบ่งชี้ว่า ต้นเหตุของอาการทั้งหมดมาจากระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ในย่านที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

ทำให้ กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้คลื่นของประเทศ ต้องส่งทีมงานไปตรวจสอบการใช้งานคลื่นบนย่านที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของรถไฟฟ้า BTS ในวันนี้ทันที (26 มิถุนายน)

โดยพบว่าการระบบอาณัติสัญญาณของบีทีเอส ใช้คลื่นความถี่ 2.4GHz ซึ่งเป็นย่าน Unlicensed Band ซึ่งตั้งแต่ย่าน 2400-2500 MHz เป็นย่านที่เปิดให้ใช้โดยทั่วไป ไม่ต้องขอใบอนุญาต โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้งาน Wifi สาธารณะ ที่มีการใช้งานกันโดยทั่วไป 

เป็นที่รับรู้ทางการว่า หน่วยงานที่นำย่านคลื่นความถี่นี้ไปใช้จะต้อรับผิดชอบความเสี่ยงจากการให้บริการด้วยตัวเอง ดังนั้นในแง่ธุรกิจมักจะไม่ใช้คลื่นย่าน Unlicensed Band แบบนี้ 

แต่ BTS ใช้ระบบนี้ตามสเป็กของอุปกรณ์ที่ BTS จัดซื้อมากับระบบ เมื่ออุปกรณ์ใช้งานได้กับคลื่นย่านนี้ BTS ก็ต้องใช้คลื่นตามสเป็กของอุปกรณ์อย่างไม่มีทางเลือก 

จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไมอุปกรณ์ที่จัดซื้อมาจึงกำหนดสเป็กที่คลื่นย่านนี้ บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์จะมีหลายสเป็กที่กำหนดย่านคลื่นให้ใช้งาน แต่เนื่องจากคลื่นเป็นทรัพยากรจำกัด บางประเทศต้องมีการประมูลในราคาสูง หากนำสเป็กที่ต้องผูกกับคลื่นที่ต้องทำการประมูล ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อมากขึ้นไปอีก การนำอุปกรณ์ที่ผูกกับคลื่นย่าน Unlicensed Band จึงเป็นทางออกที่สวยงามที่สุดสำหรับผู้ขาย 

ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ซื้อ นำอุปกรณ์มาใช้ ก็ต้องพิจารณาความเสี่ยง เนื่องจากต้องใช้งานคลื่นความถี่ในเชิงธุรกิจ การใช้งานบนย่าน Unlicensed Band มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันคนใช้งานอินเทอร์เน็ต ไวไฟ บลูทูธ การส่งสัญญาณไมโครเวฟลิงก์ กันมากขึ้น โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในเมือง ที่มีการใช้งานคลื่นย่านนี้มากที่สุด โดยเฉพาะย่าน 2400-2483.5 ที่มีการใช้งานไวไฟหนาแน่นมาก

ทางเลือกหนึ่งของ BTS คือการลงทุนระบบใหม่ บนคลื่นใหม่ ที่อาจจะต้องย้ายไปหาคลื่นที่ไม่ใช่ Unlicensed Band โดยจะต้องปรึกษากับกสทช. ที่มีการกันคลื่นสำหรับการรับส่งสัญญาณระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ย่าน 800 MHz ไว้แล้ว

นอกเหนือจากประเด็นในด้านการจัดการของรถไฟฟ้า BTS เองแล้ว ปัญหาที่เกิดจากอาการกวนกันของสัญญาณตามที่ BTS ชี้แจงไว้เบื้องต้นนั้น ก็ต้องดูว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่อยู่ในข่ายการใช้งานคลื่นที่มีความเป็นไปได้ในปัญหาครั้งนี้

ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นย่านนี้

  1. หน่วยงานด้านความมั่งคงของรัฐ ที่มีการใช้คลื่นย่าน 2370-2400 MHz เป็นการใช้งานเพื่อความมั่นคง เช่น การทำ Mobile Jammer หรือเครื่องตัดสัญญาณมือถือ หรือการใช้งานด้านความมั่นคง
  2. ดีแทคที่ได้ใช้คลื่น 2310-2370 MHz เป็นคลื่นของทีโอที ที่ดีแทคเพิ่งเซ็นสัญญาให้บริการ DTAC Turbo บนคลื่นย่านนี้ 
  3. ประชาชนทั่วไป และธุรกิจ องค์กร ใช้งานบนคลื่นย่าน 2400 -2500 MHz ที่ กสทช.กำหนดไว้ว่าเป็นคลื่นย่าน Unlicensed Band มีการใช้งานในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่คือ Wifi, Blutooth, Microwave Link 

นอกจากคลื่นย่านนี้แล้ว ยังมีคลื่นย่าน 5GHz อีกย่านหนึ่งที่ กสทช.ระบุให้เป็น Unlicensed Band ที่มีการใช้งาน Wifi กันจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

ทำให้ดีแทคถูกชี้เป้าว่าคลื่นความถี่ 2300 MHz ไปกระทระบบอาณัติสัญญาฯ ของบีทีเอส

แต่ในการใช้งานจริงนั้นช่วงคลื่นห่างกันถึง 30 เมก โอกาสความเป็นไปได้จึงน่าจะน้อยลง ทำให้ดีแทคต้องรีบออกแถลงการณ์ด่วนว่าการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทคที่ได้จัดสรรมาจากทีโอทีไม่ได้ส่งคลื่นใด ๆ กระทบกับบีทีเอส ไม่น่าเป็นสาเหตุของการขัดข้อง ทั้งนี้ ทางดีแทคกำลังร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง และร่วมแก้ไขกับบีทีเอสอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กสทช.กำลังเข้าไปตรวจสอบการใช้งานของอุปกรณ์เครือข่ายของดีแทค ซึ่งอาจจะมีอุปกรณ์บางส่วนจากผู้ผลิตที่มีการเข้าไปใช้งานบนคลื่นย่าน 2.4GHz ซึ่งเป็น Unlicensed Band ด้วยเช่นกัน เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป 

สำหรับหน่วยงานทหารเรื่องความมั่นคง เนื่องจากเป็นการใช้งานภารกิจด้านความมั่นคง ที่ไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา ยกเว้นจะมีภารกิจลับ หรือถูกลักลอบใช้งาน

ส่วนการใช้งานที่หนาแน่นของประชาชนในคลื่นย่านนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่อาจจะทำให้เกิดอาการกวนสัญญาณกัน เพราะทุกวันนี้ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ผ่านมือถือ ทั้งจากเครื่อข่ายมือถือ และสัญญาณไวไฟของค่ายต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในเมือง บนรถไฟฟ้า ที่เป็นหนึ่งในชุมชนสังคมก้มหน้าสูงสุดแห่งหนึ่ง

ส่วนสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอผลการตรวจสอบการใช้คลื่นจากทาง กสทช. แต่ที่ชัดเจนคือ ระบบการรับส่งสัญญาณที่มีความสำคัญมาก ไม่ควรจะมาใช้งานบน Unlicensed Band หรือคลื่นสาธารณะอีกต่อไป. 

อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง