สำหรับแฟนๆ เทนนิสตัวยงทั่วโลกแล้ว “วิมเบิลดัน” เป็นหนึ่งในแกรนด์สแลมที่หลายคนใฝ่ฝันจะได้เข้าไปชมสักครั้ง การแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม “วิมเบิลดัน 2018“ รายการแกรนด์สแลมที่เก่าแก่ที่มีอายุ 140 ปี
วิมเบิลดัน เป็นชื่อของสถานที่ที่ลอนเทนนิสสมาคมอังกฤษตั้งอยู่ในเขตเซอร์เรย์ ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนมีพื้นที่ทั้งหมด 42 เอเคอร์ วิมเบิลดันเป็นแกรนด์สแลมที่ที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1877 หรือ พ.ศ. 2420
ปีนี้การแข่งขันมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-15 กรกฎาคม
ความพิเศษของวิมเบิลดันเริ่มตั้งแต่กีฬาเทนนิสคือหนึ่งในประเภทกีฬาที่แสดงความเป็นตัวตนของอังกฤษ ที่มักถูกเรียกขานกันว่า “ผู้ดีอังกฤษ” ที่ต้องมีคลาส มีมารยาท กฎระเบียบ เคร่งครัดมากมาย กับทั้งนักกีฬา สปอนเซอร์ และผู้เข้าชมการแข่งขันแบบชนิดที่ว่า ถ้าเข้าไปได้ชมในสนาม ก็รู้สึกภูมิใจระดับหนึ่ง ราวกับว่าอยู่ในระดับ elite กับเขาขึ้นมาเลย
อีกทั้งยังเป็นรายการที่ขึ้นชื่อว่าตั๋วหายากที่สุด เพราะสนามแข่งขันมีขนาดไม่ใหญ่มาก ต้องจำกัดการเข้าชมทั้งในอาณาเขตสนามแข่งขันรวมที่เรียกว่า “กราวด์“
การแข่งขันในคอร์ทใหญ่ที่เรียกว่าเซ็นเตอร์คอร์ท หากการแข่งขันคู่ไหนในเซ็นเตอร์คอร์ทแข่งจบลงนักกีฬาต้องรอเดินออกพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังมีที่นั่งสำหรับราชวงศ์ที่เรียกว่า “Royal Box” โดยที่ราชวงศ์อังกฤษจะเข้ามาชม และมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการแข่งขัน
สำหรับนักกีฬาทุกคนจะต้องใส่ชุดขาวทั้งเสื้อและกางเกง แจ็กเก็ต รองเท้า ถุงเท้า โดยจะมีสีอื่นๆ บนตัวได้ในขนาดไม่เกินหนึ่งเซ็นติเมตรแม้กระทั่งกางเกงในก็ยังบังคับว่าต้องใส่สีขาว
ในปี 2017 มีนักกีฬาเยาวชนชายคู่หนึ่ง ใส่กางเกงในสีดำมาลงแข่งขัน โดนกรรมการเบรกการแข่งขัน สั่งให้ไปเปลี่ยนกางเกงในเป็นสีขาว แถมยังมีรายหนึ่งไม่ได้พกกางเกงในสีขาวมา ทางเจ้าหน้าที่ต้องนำกางเกงในสีขาวมาส่งให้เปลี่ยนถึงสนามกันเลยทีเดียว
ความคลาสสิกต่อมา คือ การแข่งขันบนสนามหญ้าจริง ที่ต้องการทำการปลูกและดูแลอย่างจริงจังทั้งปี เพื่อการแข่งขันในสองสัปดาห์ ความสูงของหญ้าต้องไม่เกิน 8 มิลลิเมตร โดยหญ้าจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการตัดหนึ่งครั้งเมื่อหญ้ามีความสูงถึง 15 มิลลิเมตร และต้องตัดอีกสามครั้งต่อสัปดาห์ในเดือนพฤษภาคม เพื่อไม่ให้สูงเกิน 15 มิลลิเมตร ก่อนที่จะตัดไม่ให้สูงเกิน 8 มิลลิเมตรเมื่อจะเริ่มทำการแข่งขันในเดือนกรกฎาคม
คอร์ทหญ้าที่ใช้เป็นสนามแข่งขันมีทั้งหมด 18 สนาม และมีสนามฝึกซ้อมที่เป็นคอร์ทหญ้าให้บรรดานักกีฬาฝึกซ้อมอีกจำนวน 22 สนาม
การเด้งของลูกเทนนิสบนคอร์ทหญ้ายังมีความแตกต่างกันในแต่ละวันอีกด้วย หากว่าเป็นวันที่อากาศเย็นลูกบอลจะมีความหนักและเด้งได้ช้าลงแต่จะเบาและเด้งได้เร็วมากขึ้น
ในวันที่อากาศร้อนและแห้งความแตกต่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเทนนิสต้องฝึกฝนให้มีความพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน นั่นคือความท้าทายของบรรดานักเทนนิสผู้ได้แชมป์ของที่นี่ คือเครื่องการันตีความเก่งของนักเทนนิสผู้ยิ่งใหญ่ระดับตำนานได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น โรเจอร์เฟดเดอเรอร์ สุดยอดนักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้แชมป์สูงสุดถึง 8 ครั้ง, พีท แซมพราส นักเทนนิสชาวอเมริกัน ที่ได้แชมป์ไปแล้ว 7 ครั้ง
การจะหาบัตรเข้ามาชมวิมเบิลดันเป็นอีกหนึ่งงานหินที่แฟนๆ เทนนิสทั่วโลกต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
เพราะในพื้นที่ที่จำกัดของอาณาเขตสนามทั้งหมด 42 เอเคอร์ สามารถรองรับจำนวนคนเข้ามาได้ทั้งหมดเพียง 38,500 คน
โดยที่สนามหลักหรือเซ็นเตอร์คอร์ทก็มีความจุผู้ชมได้เพียง 14,979 คนเท่านั้น ส่วนคอร์ทรองลงมาอย่างคอร์ท 1 ก็รองรับได้เพียง 11,360 ที่นั่ง คอร์ท 2 รับได้ 4,000 คน และคอร์ท 3 ได้เพียง 2,000 คนส่วนคอร์ทอื่นๆ ตั้งแต่คอร์ท 4 ถึงคอร์ท 18 รองรับคนดูได้ในหลักสิบ หลักร้อยเท่านั้น
การขายบัตรจึงมีหลายรูปแบบที่เป็นการขายล่วงหน้า แต่สำหรับคนที่พลาดหวังจากการขายบัตรล่วงหน้าก็ต้องมาเข้าคิวรอหน้าสนามทุกวัน ซึ่งเป็นการเข้าคิวแบบจริงจังมากถึงขนาดที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะมีแจกคู่มือการเข้าคิวให้คนที่มารอซื้อบัตรได้ศึกษารูปแบบวิธีการทั้งหมด ซึ่งก็ถึงกับตั้งเต็นท์กันข้ามวันข้ามคืนกันเลย
ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีคนจำนวนมากที่มารอเข้าคิวแต่เช้าแต่ไม่ได้บัตรคิวเพราะมีคนเข้าสนามเกินกว่ากำหนด ต้องยืนรอในคิวจนกว่าจะมีคนออกจากสนามจึงจะสามารถรับคนเข้าไปแทนที่ได้
ในทุกๆ ปีที่เข้าช่วงเทศกาลแข่งเทนนิสวิมเบิลดัน บรรดาร้านค้าห้างสรรพสินค้าแม้กระทั่งธนาคารในย่านวิมเบิลดันจะคึกคักมาก มีการตกแต่งประดับประดาร้านค้าให้เข้ากับเทศกาลเทนนิสด้วยโทนสีเขียว สนามหญ้า ลูกเทนนิส ช่วยสร้างบรรยากาศอารมณ์ร่วมให้กับบรรดาผู้ชมที่เดินทางเข้ามาในสนามได้เป็นอย่างดี
ส่วนในพื้นที่อาณาเขตสนามก็จัดให้มี Winbledon Shop ขายของที่ระลึก ที่มีหลากหลายทั้งผ้าเช็ดตัวแบบเดียวกับที่นักกีฬาใช้ในสนาม เสื้อ กางเกงเล่นเทนนิส และของที่ระลึกแบบจุกจิก ทั้งแม็กเน็ต, แก้วน้ำ พวงกุญแจ
หากใครคิดวางแผนจะไปดูเทนนิสวิมเบิลดันในปีต่อๆ ไปแล้วล่ะก็ ขอแนะนำว่าควรจะวางแผนเนิ่นๆ ตั้งแต่จบการแข่งขันในแต่ละปีในการเตรียมการจองซื้อตั๋วล่วงหน้าในรูปแบบต่างๆ ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะมีประกาศออกมา
ขอให้โชคดีทุกคน.
Profile
Lalla Miles
ผู้สื่อข่าว ที่บินลัดฟ้าตามฝันไปเกาะติดการแข่งขันเทนนิส “วิมเบิลดัน” ที่ประเทศอังกฤษ