หลังจากเกิดปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้โดยสาร ประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่ BTS ยังไม่ได้แจ้งเรื่องการเยียวยาตามที่ผู้โดยสารได้ออกมาเรียกร้อง บอกแต่เพียงว่าจะไปหาข้อมูล
ล่าสุด มีรายงาน รัฐบาลได้สั่งการตรงมายัง กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลการใช้คลื่น ไปตรวจสอบ เพื่อให้ BTS เป็นผู้รับผิดชอบเยียวยาแก่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่ง กสทช.ได้ส่งผลการตรวจสอบไปยัง กทม.ในทันทีวันนี้ (2 ก.ค.)
โดยระบุว่า BTS มีความบกพร่อง ไม่วางระบบป้องกันระหว่างปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะต้องสั่งการ BTS ให้มีมาตรการเยียวยา
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สาเหตุการขัดข้องของระบบอาณัติสัญญาณเกิดขึ้นในช่วงที่ BTS ได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม และอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ โดยไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการกวนสัญญาณจากการใช้งานคลื่นความถี่ในย่านอื่นที่เหมาะสม ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางสีลม–สุขุมวิทของ BTS มีปัญหาจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่ง กสทช.เห็นว่า ในเรื่องการเยียวยานั้น กทม.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องสั่งการไปตามกฎหมาย โดย กสทช.ได้ส่งจดหมายสรุป เรื่องการตรวจสอบทั้งหมดไปให้ กทม.แล้ว
ทั้งนี้ในรายละเอียดของจดหมายมีการระบุว่า กสทช.ได้อนุมัติให้ BTS นำเข้าอุปกรณ์เข้ามาใช้งานบนคลื่นย่าน 2400 MHz
โดยแจ้งกับบีทีเอสไว้แล้วว่าคลื่น 2400 MHz ย่านสาธารณะ เป็น Unlicensed Band ที่ไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองหากเกิดการรบกวน
แต่ BTS ได้เปลี่ยนเฉพาะอุปกรณ์ในการส่งสัญญาณ จากยี่ห้อโมโตโรลา มาเป็นยี่ห้อ Moxa โดยไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ Filter หรืออุปกรณ์ป้องกันการรบกวน
เมื่อ ทีโอที และดีแทคเปิดใช้งานคลื่นความถี่คลื่น 2300 MHz จึงเกิดปัญหาต่อระบบอาณัติสัญญาณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในการให้บริการของ BTS ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช.จึงได้เรียกประชุมและแนะนำให้ BTS ปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณคลื่น ให้ห่างกันกับทีโอทีประมาณ 70 เมก โดย BTS ย้ายไปใช้งานอยู่ที่ช่วง 2480-2495 MHz และให้ติดตั้ง Filter ด้วย โดยในระหว่างการปรับเปลี่ยนนี้ กสทช.ได้ขอให้ทีโอทีระงับการใช้งานคลื่นในย่าน 2300 MHz เป็นการชั่วคราวจำนวน 70 สถานีฐาน
หลังการปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และ กสทช.ได้นำทีมไปตรวจสอบการทำงานหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดแล้วในวันที่ 2 ก.ค.นี้ และให้ทีโอทีเปิดใช้งาน 70 สถานีฐานบนคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าในช่วงเวลา 06.00-07.00 น. ระหว่างเส้นทาง สถานีอารีย์–พร้อมพงษ์แล้ว พบว่าสามารถเดินรถได้ตามปกติ และไม่พบความล่าช้าในการเดินรถ
หนังสือของ กสทช.ยังระบุว่า สำหรับข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ใช้บริการในเส้นทางดังกล่าวที่มีปัญหา ที่ต้องการให้ BTS มีมาตรการเยียวยานั้น กสทช.เห็นว่าเป็นกรณีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์โดยไม่มีระบบป้องกันการกวนที่เหมาะสม ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง กทม.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลจึงสมควรดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบัญญัติกฎหมายที่กำหนดไว้ต่อไป
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจาก กทม.ได้รับหนังสือสรุปผลสอบจาก กสทช.แล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะมีการสั่งให้ BTS ออกมาตรการเยียวยาหรือไม่.
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- คลื่นความถี่ต้นเหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสเสียถี่ยิบ กสทช. ลงตรวจสอบแล้ว
- เสียถี่ยิบ! รถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งสัญญาณขัดข้องแต่เช้า แจงเตรียมเปลี่ยนระบบวิทยุสื่อสารเสร็จศุกร์ 29 มิ.ย.
- ดีแทคงานเข้า! ชี้แจงด่วน คลื่น 2300 MHz ไม่ได้รบกวนสาเหตุบีทีเอสขัดข้อง
- เย็นนี้รถไฟฟ้าไม่มานะเธอ! บีทีเอส แจ้งระบบขัดข้องอีกแล้ว เวลา 15.45 น.
- โซเชียลแตก คนด่าตรึม BTS เสียง่ายกว่าแกงกะทิ