คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อ BTS แถลงเครียดยอมเยียวยา ขึ้นฟรี-คืนเงิน ชี้รถไฟฟ้าขัดข้องรุนแรงในรอบ 19 ปี แต่ไม่มีใครผิด

ปีนี้ ต้องถือว่าเป็นปีที่ท้าทายที่สำหรับคีรี กาญจนพาสน์หลังจากดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้า BTS มาได้ 19 ปีเต็ม กลายเป็นแหล่งรายได้ให้กับคีรีเกินได้คาด ทั้งส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีชมพู  สีเหลือง แถมยังแตกไลน์ไปได้อีกมากมาย ทั้งโฆษณาบนรถไฟฟ้าและโฆษณานอกบ้าน ที่ซื้อกิจการมาต่อยอดอีกมากมาย บริการเพย์เมนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามแนวรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ บีทีเอส ยังประกาศตัวเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิอู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท

แต่แล้วก็ต้องมาเจอปัญหาระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องเกือบตลอดทั้งเดือน มิ.ย. หนักที่สุด 27-29 มิ.ย. ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารกันถ้วนหน้า ต้องไปทำงานสาย ไปเรียนไม่ทัน ถึงกับเรียกร้องให้ทวงคืนสัมปทาน และให้ BTS ออกมารับผิดชอบ เยียวยาผู้โดยสาร   

จนกระทั่งในวันนี้ 5 .ผู้บริหาร BTS นำโดย คีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา และ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นั่งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับการเยียวยาผู้โดยสารที่ต้องประสบปัญหารถไฟฟ้าขัดข้องในช่วงที่ผ่านมาดังนี้

พร้อมกับออกมาตรการ กรณีที่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง จนทำให้เกิดล่าช้าเกิน 30 นาที ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

คีรี ระบุว่า ปัญหาความล่าช้าของ BTS ไม่ควรเป็นความผิดของทุกฝ่าย BTS เอง ผมไม่ยอมรับผิดทั้ง 100% ทั้งทีโอที ดีแทค กสทช. และบีทีเอส ต่างฝ่ายก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเมื่อมีปัญหาเราก็มีมาตรการเยียวยาออกมา

ที่ผ่านมา BTS เปิดให้บริการมา 19 ปีก็ยังไม่เคยเกิดปัญหารุนแรงขนาดนี้ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเราก็ต้องรับผิดชอบ

19 ปี ที่ผ่านมา บีทีเอส ให้ความสำคัญกับบริการและผู้โดยสาร การตัดสินใจลงทุนธุรกิจนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ได้ แต่ตอนนี้ก็ภูมิใจที่บีทีเอสได้ช่วยเรื่องจราจรได้

ที่ผ่านมาผมก็โดนต่อว่าอย่างรุนแรงทางโซเชียล ก็เข้าใจ เพราะทุกคนอยากไปถึงจุดหมาย ทำงานตรงเวลา ไปเรียนตรงเวลา

บางคนก็บอก ทำไมถึงขี้เหนียว อยากจะทำเงินมากๆ ใช่มั้ย ในฐานะที่บริษัทมหาชน ก็ถือว่าเป็นภารกิจ แต่ไม่เคยคิดว่าจะเอาแต่ผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว เพื่อให้มีกำไรมากๆ อย่างเดียว ตรงนี้ ไม่ใช่สันดานผม

คีรี บอกว่า ที่ผ่านมา บีทีเอส ลงทุนเกินกว่าที่จะรู้ อย่าง การซื้อรถไฟฟ้ามาเพิ่ม อาจไม่จำเป็นต้องซื้อถึง 46 ขบวน แต่เราซื้อ ต้องใช้เงินเยอะ มาใช้ทั้งระบบ ทั้งสายเหนือและใต้ และใช้ทั้งระบบ คาดว่าจะเพิ่มความจุผู้โดยสารได้ 10% โดยเฉพาะสายสีลมน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

ส่วนปัญหาผู้โดยสารแน่นมาก มาจากปัญหาคอขวด ที่สถานีตากสิน  ซึ่งต้องสลับรถเข้าออก จึงได้เจรจากับ กทม. และรัฐบาล ได้ข้อยุติแล้ว เหลือแต่ทำรายการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ก็ทำมา 10 ปีแล้ว ส่วนรัฐจะช่วยลงทุนหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้

เรื่องการเปลี่ยนอุปกรณ์ ระบบสื่อสารใช้กับอาณัติสัญญาณ และย้ายมาใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ใกล้ 2500 MHz เสร็จวันที่ 29 มิ.ย. ซึ่งกำหนดการเดิมระบบเสร็จตุลาคม แต่เมื่อเร่งให้เร็วขึ้นก็พบว่าให้บริการได้แต่จะมีกระตุกบ้าง ต้องใช้เวลาปรับแต่ง

ต่อจากนี้จะดูเรื่องติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณรบกวนเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้รถไฟฟ้าเดินได้เสถียรขึ้น

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลือง จะย้ายมาใช้คลื่น 5800 MHz ส่วนสายที่วิ่งอยู่จะย้ายมาใช้คลื่น 5800 MHz หรือเปลี่ยนไปใช้คลื่น 800-900 MHz ซึ่งจัดสรรให้กับรถไฟฟ้าความเร็วสูงแทนนั้น อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะทุกการเปลี่ยนต้องมีผลกระทบ และต้องลงทุน

คีรี ย้ำว่าปัญหาคลื่นรบกวน 3 วัน ผู้โดยสารได้เงินคืนไป แต่อย่าให้บริษัทรับทุกอย่าง การลงทุนรถไฟฟ้า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มทุนขนาดนั้น โดยเฉพาะบีทีเอส ที่ต้องควักลงทุน 100% กทม. ไม่ได้ช่วยสักบาท ถ้าผมรู้เท่าถึงการณ์ ผมคงไม่ลงทุน ลงทุน 5 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 5%

แต่บีทีเอสสามารถทำรายได้เพราะไม่มีหนี้สิน เนื่องจากนำบริษัทเข้าแผนฟื้นฟูแปลงหนี้สินเป็นทุน เมื่อไม่มีหนี้สินจึงไม่มีภาระดอกเบี้ยบีทีเอสถึงกำไร

แต่พอมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเกิดหลังจากบีทีเอสปรากฏว่ารัฐบาลงทุนโครงสร้างอุโมงค์ก็ลงทุนให้เอกชนผู้ลงทุนแค่ลงทุนระบบรถไฟฟ้าเท่านั้น

แต่พอมาบีทีเอส บริษัทต้องรับผิดชอบทุกอย่าง เพราะคุณรวยเหลือเกิน ผมไมได้ใช้อารมณ์ แต่จะเล่าความจริง 20 ปีที่แล้ว พร้อมกับมาบอกว่า ผู้โดยสารไม่ได้สูญเสียเงินที่จ่ายไป แม้ว่าการคืนให้ผู้โดยสาร ผมก็เสียรายได้ไปเหมือนกัน แต่ผมต้องคืน คาดว่าจะอยู่หลัก 10 ล้านบาท ขึ้นไป