ศาลยกคำร้องเอไอเอส ขอยกเลิกคุ้มครองทรู ห้ามถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 เหตุ Must Carry ไม่มีผลกับแอป AIS Play

ยังไม่จบง่ายๆ สำหรับปมปัญหาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 บนแอปพลิเคชั่นมือถือระหว่างทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป และเอไอเอส

วันนี้ (11 ..) ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป แจ้งว่า ตามที่ ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ในเครือเอไอเอสได้นำสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เผยแพร่ผ่านแอป AIS Play บนมือถือ โดยไม่เคยได้รับอนุญาตจากทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป และฟีฟ่า ล่วงหน้า และศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้บริษัทในเครือเอไอเอสยุติการนำสัญญาณถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 ไปเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชั่น AIS PLAY หรือแอปพลิเคชั่นอื่นใดของบริษัทในเครือเอไอเอสในทันที

แต่เอไอเอสได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอน คำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศของ กสทช. เรื่อง Must Carry และล่าสุด วันนี้ (11 กรกฎาคม 2561) ศาลได้พิจารณา ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ศาลได้พิจารณา 2 เหตุผล 1. ประกาศของ กสทช.เรื่อง Must Have และ Must Carry นั้น ไม่ได้รวมถึงการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์แบบ OTT (การเผยแพร่โทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ต) เนื่องจาก กสทช.ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เมื่อปี พ.. 2555 ยังไม่มีการประกอบกิจการ OTT

อีกทั้งประกาศเรื่อง Must Have และ Must Carry มีผลบังคับใช้กับการเผยแพร่กิจการทางโทรทัศน์ฯ จึงไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่กิจการโทรคมนาคม

2. ใบอนุญาตของบริษัทในเครือเอไอเอสที่ได้รับจาก กสทช. ครอบคลุมถึงกิจการเผยแพร่โครงข่ายโทรทัศน์วิทยุกระจายเสียงเท่านั้น หากจะดำเนินกิจการส่งสัญญาณหรือเผยแพร่รายการทาง Mobile Network จะต้องมีใบอนุญาตในกิจการเผยแพร่โครงข่ายโทรคมนาคมอีก 1 ใบอนุญาตแยกแตกต่างกัน ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.เช่นเดียวกัน

ดังนั้น บริษัทในเครือเอไอเอสจึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากประกาศของ กสทช. เรื่อง Must Carry ที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ไปถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ผ่านแอป AIS Play บนมือถือ

เอไอเอส ยอมรับคำสั่งศาล แต่ AIS PLAYBOX ยังดูได้

ทางด้านเอไอเอสออกมาให้ข้อมูลว่า ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งให้ บริษัท SBN ยุติการเผยแพร่ออกอากาศการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 บนแอปพลิเคชั่น AIS PLAY ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลของบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ SBN ได้ร้องขอต่อศาลให้พิจารณายกเลิกคำสั่งคุ้มครองดังกล่าวต่อศาลฯ แล้วนั้น

ในวันนี้ (11 ก.ค. 61) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งส่งผลทำให้ SBN นั้นไม่สามารถถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ผ่านแอป AIS PLAY ที่รับชมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

บริษัทฯ จึงขออภัยผู้ใช้บริการแอป AIS PLAY ที่ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ได้ตามคำสั่งศาลข้างต้น ทั้งนี้สำหรับลูกค้า AIS PLAYBOX ยังสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ได้ตามปกติ

ทรูวิชั่นส์ ส่งฟ้องศาลศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลยกคำร้องที่เอไอเอสยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งยุติการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ผ่านแอป AIS Play บนมือถือไปแล้วก็ตาม

แต่คดีความยังไม่จบ เมื่อวันที่ 10 .. ทรูวิชั่นส์ได้ยื่นฟ้องร้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้ AIS Play ยุติออกอากาศฟุตบอลโลก 2018 ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ หลังจากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.. พร้อมกับกำหนดให้ทรูวิชั่นส์ ต้องยื่นฟ้องร้องภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 10 .. มิฉะนั้นแล้วคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะถูกยกเลิก

ทั้งนี้ ตามที่ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ปได้ยื่นคำร้อง” ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) บริษัทในเครือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้นำสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เผยแพร่ผ่านแอป AIS PLAY บนมือถือ โดยไม่เคยได้รับอนุญาติจากทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป และฟีฟ่า ล่วงหน้า

โดยก่อนหน้านี้ ทรูวิชั่นส์ ได้ส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังบริษัท SBN เพื่อขอให้ระงับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ผ่าน AIS Play บนมือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ แต่ยังไม่มีการยุติการเผยแพร่แต่อย่างใด ทรูวิชั่นส์จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากการละเมิดสัญญากับฟีฟ่า

ในฐานะที่ทรูวิชั่นส์กรุ๊ปเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive License) ผ่านทุกช่องทาง (All Rights) รวมทั้งผ่านมือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทรูจึงจำเป็นต้องดูแลและรับผิดชอบให้เป็นไปตามสัญญาโดยเฉพาะเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งทรูมีสิทธิ์ดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ์ที่ไดรับ

เพราะหากทรูวิชั่นส์ไม่ดำเนินการใดๆ อาจถือเป็นการละเมิดสัญญากับฟีฟ่า  และส่งผลให้ฟีผ่าปิดสัญญาณการถ่ายทอดสด ทำให้คนไทยไม่ได้ดูฟุตบอลโลก 2018 ในแมตช์สำคัญที่เหลืออยู่เพราะโดนฟีฟ่าฟ้องร้อง และอาจส่งผลต่อลิขสิทธิ์กีฬาระดับโลกของประเทศไทย

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ผู้ร้องจะต้องยื่นฟ้องคดีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มิฉะนั้นจะถือว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ถือเป็นอันยกเลิก เมื่อครบกำหนด ดังนั้น วันที่ 10 กรกฎาคมทรูวิชั่นส์กรุ๊ปจึงต้องยื่นฟ้องในกรณีดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง