ในระหว่างที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ แข่งขันปรับรายการและข่าวเพื่อชิงเรตติ้งดึงเม็ดเงินโฆษณา แต่ NBT กับ ThaiPBS (ทีวีไทย) กลับปรับตัวและแข่งขันกันด้วยแรงผลักจากขั้วการเมืองเป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วในช่วงเพียงปีเดียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่กลายเป็น NBT ก่อนที่ล่าสุดจะเป็น สทท. นั้น เป็นตัวแทนบอกเล่าสภาวะความได้เปรียบทางการเมืองแต่ละช่วงได้ชัดเจน
ย้อนไปเพียง 1 ปีที่แล้วเมื่อเมษายน 2551 ช่อง 11 ในรัฐบาลชุด “สมัคร สุนทรเวช” ถูกเปลี่ยนโฉม เปลี่ยนชื่อสถานี และเปลี่ยนโลโก้ไปเป็น “NBT” มีรายการข่าวที่ใช้ทีมงานเดิมจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเคยมีภาพลักษณ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณ และนโยบายที่เปิดให้เอกชนมาเช่าเวลามากขึ้น โดยเฉพาะบริษัท “ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์” ที่มีอดีตทีมผู้บริหารข่าวไอทีวีถือหุ้นและเป็นกรรมการ
ชื่อสถานีถูกเปลี่ยนจากช่อง 11 เป็น ช่อง NBT ตัวโลโก้ถูกเปลี่ยนจากเลข 11 บนจอทีวี เป็นอักษร nbt สีขาวบนพื้นแดง ผังรายการนั้นมีการเพิ่มสัดส่วนเวลาข่าวจาก 7 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน และเปิดให้เอกชนเช่าเวลาจัดรายการมากขึ้น ส่วนสัญญาระหว่างดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ กับช่อง 11 นั้นผูกพันสิทธิผลิตข่าวออกอากาศ 2 ปี โดยบริษัทดิจิตอล มีเดีย จ่ายค่าสิทธิออกอากาศให้ช่อง 11 ปีละ 45 ล้านบาท และบริษัทได้สิทธิขายเวลาโฆษณา 70% ส่วนทางช่อง 11 ได้สิทธิขาย 30%
โดยภาพรวมแล้วเป็นการยกอำนาจในการกำหนดทิศทาง และเนื้อหารายการส่วนใหญ่ไปให้บริษัทเอกชนรายเดียวนั่นเอง
สถานีโทรทัศน์ NBT ได้นำอดีตผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีหลายคน เช่น จิรายุ ห่วงทรัพย์, จอม เพชรประดับ และยังมีรายการ “ความจริงวันนี้” ของสามเกลอเสื้อแดง วีระ-จตุพร-ณัฐวุฒิ ซึ่งนายกฯ สมัครในสมัยนั้นประกาศให้ NBT เป็นคู่แข่งกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หรือไทยพีบีเอส ในลักษณะสถานีของขั้วพรรคพลังประชาชน ชนกับสถานีไทยพีบีเอส ที่ถูกมองเป็นขั้วของฝ่าย คมช. เดิม
NBT มีอายุสั้นเพียง 1 ปี เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเดือนธันวาคม 2551 มาเป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ กระบวนการ “ยึดคืน” ก็เกิดขึ้น การปฏิรูปสถานี ไล่ตั้งแต่จัดประกวดโลโก้ใหม่ แล้วเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที และมีการเลิกสัญญาบริษัทผลิตข่าวซึ่งเดิมเป็นของบริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด ไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 แต่บริษัทใหม่ๆ ที่เข้ามารับสัญญาสัมปทานก็กลับถูกมองว่ายังโยงใยกับเนวิน ชิดชอบ ไม่ต่างจากดิจิตอลมีเดียฯ เท่าใดนัก
การเปลี่ยนแปลงรอบล่าสุดนี้มี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือขวาของนายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ซึ่งในอนาคตระยะยาวก็น่าจับตามองทีวีช่องนี้จะถูกปรับใหญ่ตามการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่
สรุปความเปลี่ยนแปลงล่าสุดจากช่อง NBT เป็น สทท. เมื่อเดือนเมษายน 2552
– เปลี่ยนโลโก้ จากอักษร nbt สีขาวบนพื้นแดง เป็นหอยสังข์สีม่วง
– เปลี่ยนชื่อสถานีจากช่อง NBT เป็น สทท.
– ยกเลิกสัญญากับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์
– ลดเวลาข่าวจาก 12 ชั่วโมงเหลือ 7 ชั่วโมงต่อวัน
– ให้บริษัทภายนอกเป็นแค่ผู้ช่วยผลิตข่าวและรายการ โดยผู้ผลิตหลักยังเป็นพนักงานช่อง 11
(ขณะนี้ได้บริษัทที่จะมาร่วมผลิตข่าวกับสถานีแล้ว ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกับผู้ผลิตรายการข่าวเดิมที่เชื่อมโยงกับเนวิน ชิดชอบ)
– เพิ่มรายการด้านแก้วิกฤตความขัดแย้งในสังคม และรายการแก้วิกฤตด้านเศรษฐกิจและแรงงาน