ทีวีไทย “ข่าว”ที่ถูกลืม

หากใครอยากดูข่าวหลากหลาย สัดส่วนเท่าๆ กันทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่บันเทิงไม่มากนัก และนำเสนอด้วยพิธีกรข่าวที่ดูกลางๆ ไม่เร้าใจ สไตล์การอ่านข่าวมากกว่าคุยข่าว หรือเล่าข่าว และไม่มีป้ายโฆษณาให้เห็นเกะกะสายตา ต้องกดไปที่สถานีทีวีไทย หรือไทยพีบีเอสเดิม

จากไอทีวี มาเป็นไทยพีบีเอส และทีวีไทยในปัจจุบัน ในคอนเซ็ปต์ของความเป็น “ทีวีสาธารณะ” เน้นข่าวสารสาระมากกว่าความบันเทิง ทำให้ทีวีไทยต้องโฟกัสแนวทางความเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่หวือหวา ซึ่งรวมทั้งการทำ “รายการข่าว” ที่เน้นเนื้อหามากกว่าลีลาของพิธีกรข่าว และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่การเมืองจนถึงสังคม ทำให้หลายคนวิจารณ์ถึงทีวีไทยว่า “ธรรมดาเกินไป” “เครียดเกินไป” หรือ “จืดชืด” และตั้งฉายาให้เป็น “ทีวีเอ็นจีโอ”

ทีวีไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของ “เทพชัย หย่อง” อดีตผู้บริหารเครือเดอะเนชั่น น้องชายของ “สุทธิชัย หยุ่น” พร้อมกับนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง อย่าง “แก้วสรร อติโพธิ” โดยวาง Positioning เป็นทีวีปลอดอิทธิพลจากกลุ่มทุนธุรกิจ เพราะปฏิเสธโฆษณาเชิงพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อความเป็นกลาง มีรายได้จากงบประมาณรัฐปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีต้นแบบคอนเซ็ปต์มาจากสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ

เมื่อเข้ามาบริหารสถานีทีวีแทนกลุ่มทีไอทีวีเดิมทั้งหมดตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ทีมผู้บริหารได้สร้างทีมข่าวของตัวเอง โดยบางส่วนมาจากไอทีวีในยุคดั้งเดิมแต่ไม่มากนัก เพราะกลุ่มเหล่านั้นย้ายไปสังกัดที่อื่นแล้วจำนวนมากในยุคที่พิธีกรข่าวเป็นที่ต้องการของตลาด

ท่ามกลางความไร้สีสันของสถานีในแง่การนำเสนอ ทำให้ทั้งทีมข่าวและผู้ประกาศข่าวของทีวีไทยเป็นหน้าใหม่ในวงการ ซึ่งในช่วงแรกๆ ผู้ชมถึงขั้นต้องอดทนในการฟังรายงานข่าวที่ผิดๆ ถูกๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยจะมีพิธีกรไม่กี่คนที่เป็นตัวยืนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องรายงานข่าวประเด็นร้อนได้ดีเท่านั้น ส่วนเนื้อหาของข่าวสารให้ความสำคัญทั้งข่าวที่คนเมืองสนใจ และข่าวสังคม ข่าวสำหรับชนบท ตามคอนเซ็ปต์ของ “ทีวีสาธารณะ” อย่างเต็มที่

และล่าสุดความเชื่อถือของสถานีทีวีไทยเกือบต้องหมดไปเมื่อมีการเสียงเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” แทรกเพลง “สดุดีมหาราชา” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม จนผู้บริหารต้องออกมารับผิดชอบด้วยการตัดเงินเดือนของตัวเอง

ปัจจุบันจำนวนผู้ชมทีวีไทยถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง ซึ่งจากผลสำรวจของบริษัทวิจัย ACORN รายงานว่า สัดส่วนผู้ชมข่าวของช่องทีวีไทยมีเพียง 1-3%เท่านั้น ขณะที่ช่องอื่นๆ เช่นช่อง 3 ที่ได้มากถึง 30%

ณ วันนี้ “ทีวีไทย” ยังชัดเจนว่าต้องการเวลาในการพัฒนาสถานีให้ถูกใจผู้ชม เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดสรรมาจากภาษีประชาชน และทรัพยากรคลื่นความถี่โทรทัศน์อันมีข่าว หรือบางทีอาจต้องกลับมาทบทวนว่าจำเป็นหรือที่ “ทีวีสาธารณะ” ต้องมีรูปแบบนิ่งๆ จืดๆ อย่างที่เห็นเท่านั้น

ผังรายการทีวีไทย
รายการข่าว 39.85%
สกู๊ปข่าวและวิเคราะห์ข่าว 6.63%
สารคดี 22.63%
สาระประโยชน์ 14.37%
รายการเด็กและเยาวชน 6.74%
สาระบันเทิง 11.94%