เปิดตัวมาครบ 10 ปีพอดี สำหรับแอปสโตร์ (App Store) สามารถทำยอดดาวน์โหลดจากผู้ใช้ทั่วโลกไปแล้วกว่า 170 พันล้านครั้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 130 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ล่าสุดบริษัทแอ๊พซินท์ เอเจนซี่ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นในไทย ได้สรุปแนวโน้มตลาดโมบายล์ แอปพลิเคชั่นในธุรกิจประเภทต่างๆ จาก 20 อันดับแอปพลิเคชั่นยอดนิยมในรอบ 10 ปีของแอปสโตร์
โดยเป็นการจัดอันดับจากยอดดาวน์โหลดแอปของธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น ไม่รวมแอปพลิเคชั่นประเภทเกม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของการจัดอันดับ ถูกรวบรวมโดย App Annie บริษัทที่ทำวิเคราะห์การใช้งานแอปพลิเคชั่น (app analytics) และเก็บข้อมูลทางการตลาดของแอปพลิเคชั่นทั่วโลก
ผลของการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแอปพลิเคชั่นในแต่ละธุรกิจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจกลุ่มธนาคารซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนในการส่งเสริมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด ตลอดจนกลุ่มธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารที่เน้นการแชร์ประสบการณ์ของการใช้บริการ รวมถึงระบบการสะสมแต้มหรือ loyalty program
เรียกได้ว่าโมบายล์แอปพลิเคชั่น เข้าไปมีส่วนในชีวิตประจำวันของคนไทยตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
จากแนวโน้มของตลาดโลก “กลุ่มธนาคาร” กำลังเผชิญกับการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งที่ทุ่มการลงทุนบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก รวมถึงกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้พัฒนาโซลูชั่นทางการเงินขนาดเล็ก ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในการยึดพื้นที่การให้บริการด้านการเงินแทนกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินในรูปแบบเดิม
เช่น การเสนอทางเลือกของ mobile payment หรือการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้บริโภคสามารถเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด
เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นการ “ตัด” ระบบการให้บริการของธนาคารแบบเดิมๆ ออกจากวงจรการใช้งานของผู้บริโภค
แต่ธนาคารหลายแห่งในประเทศไทย ก็สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ทั้งการเร่งลงทุนและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของตนเองในช่องทางต่างๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ ในการคิดค้นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต จึงเป็นผลให้ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ครองตำแหน่ง 2 อันดับแอปพลิเคชั่นยอดนิยมจากทั้ง 20 อันดับ
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “จุดแข็งของ K PLUS จะเน้นให้ความสำคัญกับการใช้งานแบบโมบายล์เฟิร์ส โดยสร้างประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ ผ่าน Personalization ฟีเจอร์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย”
เช่นเดียวกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มองว่ากลยุทธ์การตลาดแบบ Personalization (การปรับแต่งคุณสมบัติในแอปให้ตรงตามความชอบของแต่ละบุคคล) นั้นเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค โดยการใช้โมบายล์เป็นช่องทางหลักในการให้บริการ
“SCB EASY ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ โดยเชื่อมโยงบริการทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้งานและความต้องการของผู้บริโภคหลากหลาย เพราะผู้บริโภคไม่ได้เจาะจงการใช้งานเพียงช่องทางเดียว แต่จะเลือกช่องทางที่สะดวกที่สุดในขณะนั้น เราจึงต้องสร้างทางเลือกของการใช้บริการที่หลากหลาย เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคในทุกที่ ทุกเวลา” – ธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking กล่าวว่า
ขณะที่ Alternative banking หรือกลุ่มทางเลือกใหม่ของผู้ให้บริการด้านการเงิน เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ TrueMoney Wallet ครองอันดับ 5 ของชาร์ต ในการให้บริการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในร้านค้า การจ่ายบิลด้วยการสแกน แม้แต่การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ นอกจากการเติมเงินด้วยเงินสดแล้ว ผู้ที่มีบัญชีธนาคารก็สามารถผูกบัญชีกระเป๋าเงินดิจิทัล กับบัญชีธนาคารเพื่อใช้การเติมเงินแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้บริการด้านการเงิน
อันดับที่ 3 ของชาร์ต เป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาอิสระ และกลายเป็นแอปยอดนิยมของคนไทยทั่วประเทศ TV Thailand นั้นเป็นแอปที่ให้บริการในการรับชมละครฮิต การ์ตูน และมิวสิกวิดีโอ ในทุกที่ ทุกเวลา
ผลสำรวจระบุว่า กว่า 51% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ดูวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวัน และ 81% ดูอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้แอปให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง จะติด 20 อันดับยอดนิยมถึง 4 แอปด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Thai TV3 app ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Mello ซึ่งเป็นเพียงแอปเดียวที่ถ่ายทอดคอนเทนต์โดยตรงจากผู้ผลิตรายการทีวี
เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า การที่จะผลิตแอปพลิเคชั่นให้ประสบผลสำเร็จได้ในตลาดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนที่มหาศาลหรือความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับการให้บริการกับผู้บริโภคอย่างตรงจุด
อีกหนึ่งแอปในชาร์ตที่น่าสนใจคือ Wongnai ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของสตาร์ทอัพที่ทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางแรก (mobile-first startups) ที่ติดอันดับ 20 แอปยอดนิยม โดย Wongnai เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากการเป็นอินดี้แอปที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหารเด็ดๆ ในประเทศไทย ถึงวันนี้ Wongnai มียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอันดับ 9 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอวงใน เผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า “สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดของแอปเราก็คือ มันช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาร้านอาหารชื่อดังในละแวกใกล้เคียงได้อย่างทันที เป็นฟีเจอร์ที่ทุกคนชอบเพราะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเค้าได้จริงๆ”
อีกหนึ่ง mobile-first startup ในชาร์ตก็คือ Kaidee ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นตลาดมือสองบนดิจิทัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว่า 50% ของผู้เข้าชมแพลตฟอร์มต่อเดือนคือผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าคิดเป็นจำนวนครั้งจะมากถึง 30 ล้านครั้ง นี่คือเหตุผลที่ทำให้แอปนี้ติดอันดับที่ 8 ใน 20 อันดับต้น โดยมียอดดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 12 ล้านครั้ง
ทิวา ยอร์ค Head Coach/CEO ได้ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2556 Kaidee วางแผนพัฒนาการตลาดแบบ app-first ซึ่งเน้นโมบายล์เป็นแพลตฟอร์มหลัก ทำให้ได้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่พึ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน ประกอบกับการมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ซื้อขายง่ายและเร็วที่สุด จึงทำให้ Kaidee มีผู้ใช้งานผ่านโมบายล์แอปมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ
ทางด้านธุรกิจสายการบิ นกแอร์ หนึ่งในสายการบินประเภทโลว์คอสของไทยที่เป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่ติดยี่สิบอันดับแรก ด้วยเส้นทางการบินและแผนการตลาดที่เจาะจงไปยังผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม บวกกับการให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านโมบายล์ที่สะดวก ในทุกที่ ทุกเวลา ทำให้แอปนกแอร์ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาสายการบินภายในประเทศอื่นๆ
อีกแอปหนึ่งเดียวที่ติด 20 อันดับแรก ในธุรกิจประเภทร้านค้าปลีก คือ เซเว่น-อีเลฟเว่น หลังจากเข้ามาบนโมบายล์แพลตฟอร์มเพียงไม่นาน โดย แอป 7-Eleven TH เน้นการใช้จ่ายในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เช่น ฟีเจอร์สะสมแสตมป์ดิจิทัลผ่านแอป ข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่น กิจกรรม และส่วนลดพิเศษอื่นๆ อีกมากมายผ่าน 7Rewards ซึ่งเป็น loyalty campaign หลักภายในแอป ส่งผลให้มีผู้ใช้งานแอปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนติด 1 ใน 5 อันดับต้นของแอปพลิเคชั่นยอดนิยมในปี 2561
โรเบิร์ต แกลลาเกอร์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทแอ๊พซินท์ ได้ให้ความเห็นว่า กว่า 71% ของคนไทยในปัจจุบันใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งแอปพลิเคชั่นมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าและบริการ การติดต่อสื่อสารกับแบรนด์ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจึงหันมาพัฒนาแอปเพิ่มขึ้น
แอ๊พซินท์ คือเอเจนซี่ผู้นำแห่งการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในประเทศไทย ให้บริการด้านการพัฒนาและการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น, ไลน์, ทรู, โตโยต้า, กรุงไทย แอกซ่า, คาสิโอ, บริติช เคานซิล และธนาคาร เดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ ปัจจุบัน แอ๊พซินท์ ได้ให้บริการลูกค้าทั่วโลกกว่า 15 ประเทศ สร้างผลกำไรกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างยอดดาวน์โหลดให้กับลูกค้ารวมกันกว่า 30 ล้านครั้ง.