บทความโดย : อิษณาติ วุฒิธนากุล
มีใครได้ดูบอลโลกที่เพิ่งจบลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาบ้างมั้ยครับ? ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าส่วนตัวไม่ใช่แฟนฟุตบอลตัวจริง ไม่ได้ติดตามสโมสรหรือชอบนักฟุตบอลคนไหนเป็นพิเศษ จะดูก็แต่บอลโลกเนี่ยแหละครับ เพราะยังพอมีทีมเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เชียร์ให้รู้สึกว่าเป็นตัวแทนคนเอเชียหัวดำๆ อย่างเราได้บ้าง จริงๆ แล้วถ้าถามว่าอยากเชียร์ทีมไหนที่สุด คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ทีมของประเทศไทยเราเนี่ยแหละครับ ประเด็นคือ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะมีโอกาสเห็นทีมไทยเราได้เล่นบอลโลกสักที…
จริงๆ แล้วนะครับ ไม่ใช่แค่คนไทยเราที่เฝ้ารอ ที่ผิดหวังเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม มาเลเซีย หรือคนในอีกหลายประเทศก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน บางท่านอาจรู้สึกว่าก็ใช่ที่ผิดหวังแต่ก็เข้าใจได้ ที่เราไม่ผ่านเข้ารอบเพราะประเทศเราเป็นประเทศเล็ก เป็นประเทศกำลังพัฒนาคงสู้ประเทศอื่นๆ ที่เขาดีกว่าเราไม่ได้ สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกแนวคิดนี้อาจนับได้ว่าไม่ผิดนักนะครับ เพราะประเทศที่เจริญกว่ามักเป็นประเทศที่เป็นเจ้าเหรียญทองในทุกๆปี ถึงขนาดว่าในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน นักเศษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Darthmouth สามารถทำนายได้ว่าประเทศไหนจะได้เหรียญกี่เหรียญด้วยความแม่นยำถึง 98% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม การทำนายรูปแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้กับการแข่งขันฟุตบอลโลก เอาง่ายๆ นะครับ ใครจะคาดคิดว่าเกาหลีใต้จะสามารถเอาชนะทีมอย่างเยอรมนีได้ การที่คาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของบอลโลกก็ได้นะครับ
ถ้าทุกท่านสังเกตจะพบว่า จาก 32 ทีมที่ผ่านเข้ารอบได้เล่นบอลโลกในปีนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากประเทศที่พัฒนาที่ร่ำรวย แต่อีกครึ่งหนึ่งกลับมาจากประเทศที่ตรงกันข้าม บางประเทศเข้าขั้นยากจนกว่าไทยเราด้วยซ้ำไปนะครับ ที่น่าสนใจคือทีมที่ดูด้อยกว่าในหลายๆ ครั้งกลับสามารถตีเสมอหรือกระทั่งเอาชนะทีมที่ดูเหมือนจะเหนือกว่าได้ด้วยซ้ำไป คำถามคือ ปัจจัยอะไรครับที่ทำให้ประเทศๆ หนึ่งสามารถประสบความสำเร็จจนนำพาทีมเข้าเล่นบอลโลกได้? เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่จะเถียงกันอยู่ใน 2 ประเด็นนี้นะครับ เงินทุน และจำนวนประชากร
สำหรับผมจำนวนประชากรคงเป็นสมมติฐานที่หาคำตอบได้ง่ายที่สุดว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการที่จะทำให้ประเทศนั้นๆ แข็งแกร่งจนเข้าเล่นบอลโลกได้ หลักฐานก็ง่ายๆ นะครับ สองประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกคือจีน อินเดีย หรือกระทั่งอินโดนีเซีย ที่รวมกันแล้วมีประชากรราวๆ 40% ของทั้งโลก แต่ไม่เคยสักครั้งที่ชนะฟุตบอลโลกนะครับ เอาแค่ผ่านเข้ามาเล่นได้ยังหืดขึ้นคอ อย่างจีนก็ทำได้เพียงครั้งเดียวในปี 2002 โดยผ่านเข้ามาได้จริงแต่ยิงประตูไม่ได้แม้แต่ลูกเดียวและก็ตกรอบไปแบบนั้น บริษัท Pricewaterhousecoopers มีการทำการศึกษาในประเด็นที่คล้ายๆ กันนะครับ โดยได้มีการนำข้อมูลจาก 56 ประเทศที่สามารถเข้าสู่ฟุตบอลโลกได้ไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง มาศึกษาวิเคราะห์และพบว่าจำนวนประชากรไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับความสำเร็จในบอลโลก เพราะฉะนั้นประเด็นที่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีประชากรขนาดใหญ่เหมือนในหลายๆ ประเทศเลยไม่สามารถหานักกีฬาที่เก่งๆ ได้เหมือนประเทศอื่นเป็นอันตกไปนะครับ
ประเด็นที่สองคือเรื่องรายได้หรือเงินทุน จริงๆ แล้วเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากกว่าประเด็นแรกด้วยซ้ำไป ซึ่งคำตอบของประเด็นนี้ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนเหมือนประเด็นแรกสักทีเดียวนะครับ ถ้าเราย้อนกลับมาดูที่ประเทศจีนอีกครั้งเราจะพบว่า ในปีล่าสุดที่จีนไม่สามารถผ่านเข้าไปเป็น 1 ใน 32 ทีมได้ เพราะแพ้ให้กับประเทศซีเรียซึ่งไม่เพียงเป็นประเทศที่เล็กกว่าแต่ยังเป็นประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม อย่าว่าแต่สเตเดียมหรือทีมบอลเลยนะครับ หลายคนในประเทศซีเรียไม่มีแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยและอาหารด้วยซ้ำไป แต่จีนกลับแพ้ให้ประเทศนี้หลังจากทุ่มเงินกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การจะสรุปว่าเงินทุนไม่มีผลก็คงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากนัก เพราะหากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่าระหว่างช่วงปี 2012 – 2016 เม็ดเงินที่จีนลงกับกีฬาฟุตบอลเพิ่มขึ้น 785% ซึ่งในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อันดับของจีนเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่ 75 ในปีล่าสุดเทียบกับที่ 88 ในปี 2012
จริงๆ คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าประเทศที่พร้อม ที่มีเม็ดเงินพอที่จะสร้างสถานฝึกซ้อม สนามกีฬาแข่งขัน รวมถึงจ่ายเงินค่าจ้างในอัตราที่ดีแก่นักกีฬาได้ ประเทศๆ นั้นย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าประเทศที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย อย่างไรก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจว่าจริงอยู่ “จำนวน” เงินลงทุนมีผลในระดับหนึ่ง แต่ “คุณภาพ” ในการลงทุนต่างหากที่สำคัญกว่า การอัดฉีดเงินเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงว่าเงินจำนวนนั้นถูกใช้อย่างไร คงไม่ต่างจากการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลกับโครงการๆ หนึ่งโดยไม่มีแผนที่ชัดเจน ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะดำเนินโครงการเลยด้วยซ้ำ
“คุณภาพ” ที่กล่าวถึงอย่างหนึ่งคือการใช้มันสร้างวัฒนธรรมและความรักของประชาชนกับกีฬาชนิดนี้ ยกตัวอย่างนะครับ ประเทศอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และมีจำนวนประชากรไม่น้อยหน้าชาติไหนๆ หากแต่ฟุตบอลไม่เคยเป็นกีฬาที่ประชาชนหรือสื่อให้ความรักความสนใจ ทำให้ทีมของประเทศอเมริกาไม่เคยประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกแม้แต่ครั้งเดียว Pricewaterhousecoopers มีการทำการศึกษาโดยใช้จำนวนผู้ชมที่สนามเป็นตัวแปรว่าคนในประเทศนั้นรักหรือชอบกีฬาฟุตบอลแค่ไหน และพบว่าประเทศที่ประชาชนให้ความสนใจและความรักกับกีฬาฟุตบอลมักจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในกีฬานี้ อย่างเช่น อังกฤษ เยอรมัน หรือกระทั่งสเปน นอกจากนั้นผลการศึกษายังพบว่าการมีจำนวนนักกีฬาฟุตบอลที่มากยังมีความสัมพันธ์สูงกับความแข็งแกร่งของกีฬาฟุตบอลในประเทศนั้นๆ อย่างเยอรมันมีจำนวนนักฟุตบอลราว 6 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ในขณะที่อเมริกามีจำนวนนักกีฬาเพียง 4 ล้านคน แต่จำนวนประชากรจริงๆมากกว่าเยอรมันถึงหกเท่า
หันกลับมามองประเทศเรา รู้สึกมั้ยครับว่าถ้าเทียบกับประเทศด้านบนเหล่านี้ ประเทศไทยเราก็น่าจะไปเล่นบอลโลกกับเขาได้ อย่างน้อยๆ เราก็รวยกว่า 7-8 ประเทศที่ได้เข้าเล่นบอลโลกปีนี้นะครับ อีกอย่างปัจจุบันบ้านเราเริ่มมีไทยลีก มีสโมสร มีสปอนเซอร์ มีเงินทุนเพิ่มขึ้น ทีมชาติเราก็ควรจะแข็งแกร่งขึ้นใช่มั้ยครับ แต่น่าเสียดายที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะครับ
ในปี 1998 ไทยเราเคยไต่อันดับไปได้ถึงลำดับที่ 45 ไม่แย่นะครับสำหรับประเทศเรา อย่างไรก็ตาม ยี่สิบปีผ่านไป ปัจจุบันในปี 2018 เรากลับตกลงไปอยู่ลำดับที่ 122 ล่วงไปถึง 77 อันดับ ในขณะที่เซเนกัลซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดที่ติดบอลโลกในปีนี้ และมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทยเราเกือบหกเท่า สามารถไต่เต้าจากลำดับที่ 95 ในปี 1998 มาอยู่ลำดับที่ 27 ในปัจจุบันได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ? เกิดอะไรขึ้นกับฟุตบอลในบ้านเรา?
ถ้าถามผมว่าคนไทยเรารักหรือชอบฟุตบอลน้อยลงหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ใช่ เงินลงทุนเองผมก็เชื่อว่าเพิ่มมากกว่ายี่สิบปีที่แล้วและค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมากกว่าเซเนกัลแน่ๆ สองเหตุผลที่ผมพอนึกได้คือคำถามที่ว่าเราใช้เงินลงทุนของเราไปอย่างมี “ประสิทธิภาพ” และมี “คุณภาพ” หรือเปล่า? อย่าลืมนะครับว่าในความเป็นจริงการอัดเงินลงไปแล้วหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเกิดขึ้นได้ยากมากๆ จีนเองเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าการอัดเงินอย่างเดียวโดยไม่ได้มีการวางแผนหรือปฏิรูปไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีขนาดนั้น สุดท้ายคงเป็นจำนวนนักกีฬาที่ยังมีจำนวนน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับประเทศที่มีความแข็งแกร่งในกีฬาฟุตบอลอย่างเยอรมันหรือสเปน เราไม่เพียงจำเป็นต้องทำให้คนสนใจดูและรักฟุตบอล แต่ต้องทำให้คนไทยเราอยากเข้ามาเป็นนักกีฬา มาฝึกซ้อม มาพัฒนาทีมไปด้วยกัน
ผู้อ่านทุกท่านล่ะครับ คิดว่าทำไมฟุตบอลไทยเราถึงไม่ไปไหนสักที คิดว่าอีกกี่ปีกันครับที่เราจะได้เห็นบอลไทยเราไปบอลโลก?