ปั๊มน้ำมันเวลานี้ ไม่ได้ทำรายได้จากการขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังแปลงสภาพกลายเป็น “ศูนย์การค้า” ขนาดย่อม ทำเงินจากธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
เป็นการกระจายความเสี่ยง ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว
กว่า 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน จึงเลือกวางแพลตฟอร์มการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจผ่านโครงสร้างธุรกิจนอนออยล์ เป็นยุทธศาสตร์หลัก แล้วขับเคลื่อนอย่างหนัก จนสามารถเปลี่ยนจากรายได้เสริมมาถึงจุดที่เป็นรายได้หลักได้สบาย ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่มีอยู่เกือบทุกแบรนด์ในตอนนี้ ล้วนเลือกวางเป้าหมายที่จะผลักดันสัดส่วนรายได้ระหว่างออยล์และนอนออยล์ให้ถึงระดับ 50:50 เหมือนๆ กัน
รายได้กว่า 10,000 ล้านของคาเฟ่ อเมซอน ตัวจุดพลุศึกกาแฟปั๊ม
ร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มน้ำมันเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไรสูงสุด สะท้อนจากคาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟของ ปตท.ที่สามารถสร้างรายได้พุ่งขึ้นแตะระดับ 10,000 ล้านบาท ในปี 2560 พร้อมกับการขึ้นเป็นผู้นำในตลาดร้านกาแฟ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 40% และจากนี้ คาเฟ่ อเมซอนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันกลายเป็นแนวรบที่ร้อนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
คาเฟ่ อเมซอนทำธุรกิจเข้าสู่ปีที่16 สร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในปั๊มน้ำมันให้กับคนไทยเป็นที่สำเร็จ ด้วยราคากลางๆ เข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย และมีจำนวนสาขากว่า 2,000 แห่ง ตามจำนวนปั๊ม ปตท.ที่มีอยู่เกือบครบทุกปั๊ม
แต่ละสาขาออกแบบตกแต่งไปในทิศทาเดียวกัน เมื่อบวกกับจุดได้เปรียบในเรื่องทำเลที่อยู่ติดถนนใหญ่ การเข้าถึงทำได้โดยง่าย จากกลุ่มนักเดินทางขยายไปยังกลุ่มคนทั่วไป
ยิ่งจำนวนสถานีบริการของ ปตท.จากปี 2560 มีอยู่ประมาณ 1,640 แห่ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 2,560 แห่งภายในปี 2565 ซึ่งย่อมหมายถึงจำนวน คาเฟ่ อเมซอนที่จะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน
องค์ประกอบเหล่านี้เองที่ส่งให้คาเฟ่ อเมซอนได้เปรียบในแง่การเข้าถึงผู้บริโภค และสร้างให้แบรนด์เป็นที่จดจำและความคุ้นเคยในการใช้บริการ
กระทั่งเวลานี้คาเฟ่ อเมซอนสามารถต่อยอดจากร้านกาแฟในปั๊มไปสู่การสาขานอกปั๊ม ขยายสาขาในศูนย์การค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตตลอดจนย่านชุมชน ด้วยไซส์ขนาดเล็กห้องแถวเดียว ทำให้การขยายได้ง่ายขึ้นก้าวไปสู่การเป็นผู้เล่นในตลาดกาแฟนอกบ้านรวมทั้งกาแฟเทกโฮมซึ่งมีมูลค่าถึง 26,700 ล้านบาท เฉพาะตลาดร้านกาแฟ มีมูลค่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งคาเฟ่ อเมซอนได้กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ทางเลือกของผู้บริโภคที่ชื่นชอบกาแฟสดในราคาไม่สูงมาก
สตาร์บัคส์ “หยั่งเชิง” ธุรกิจร้านกาแฟในปั๊มไทย
การเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันอย่างที่มีนัยสำคัญเป็นการสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์การดื่มกาแฟของคนไทยที่ขยายวงกว้างขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับร้านกาแฟระดับพรีเมียมในปั๊มน้ำมันยังเป็นช่องว่างที่ไม่มีแบรนด์ใดครองตลาดได้เบ็ดเสร็จ
เหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สตาร์บัคส์ตัดสินใจเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าในปั๊มน้ำมันโดยร่วมมือกับเอสโซ่ เปิด 3 สาขาแรกที่เอสโซ่ สาขาบางบัวทอง นนทบุรี, วังมะนาวเพชรบุรี และกาญจนบุรี
นับเป็นความลงตัวในฐานะพันธมิตรระหว่างเอสโซ่กับสตาร์บัคส์แบรนด์อเมริกันที่มีจุดขายความ “พรีเมียม” เพื่อยกระดับธุรกิจให้อยู่เหนือการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งแผนการขยายปั๊มน้ำมันของเอสโซ่ปี 2561 จะเปิดเพิ่ม 80 แห่ง จากสิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวน 553 แห่ง 50 แห่งเป็นการเปลี่ยนจากเพียวมาเป็นเอสโซ่ ผ่านการควบรวมธุรกิจ และอีก 30 แห่งสถานีบริการใหม่
ปัจจุบันสตาร์บัคส์มีจำนวนสาขาประมาณ 321 แห่งทั่วประเทศ ในรูปแบบสาขามาตรฐานในห้างสรรพสินค้า สาขาเดี่ยว (Stan alone) ตามพื้นที่ชุมชน ย่านธุรกิจ ย่านเมือง และสาขาเป็นโมเดลพิเศษลักษณะ Unique ในทำเลที่โดดเด่นและมีเรื่องราว
ล่าสุดสตาร์บัคส์วางแผนเข้าเจาะช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการคอนโดมิเนียม และรวมถึงในปั๊มเอสโซ่ โดยมีเป้าหมายเดินหน้าตามแผนเปิดร้านสาขาให้ครบ 400 สาขาภายในปี 2562 โดยในปี 2560 สตาร์บัคส์มีรายได้รวม 7,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.78% ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี
สงคราม “ร้านกาแฟ” ที่ปั๊มน้ำมัน
สำหรับธุรกิจร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันขณะนี้ต้องถือว่า “ดุเดือด” จากบรรดาผู้ท้าชิงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่ละแบรนด์ต่างเร่งเติมแนวรุกกันอย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะแผนการขยายสาขาซึ่งถือเป็นความได้เปรียบของร้านกาแฟระดับกลาง ที่สัดส่วนกำไรต่อหน่วยไม่สูงจึงต้องสร้างวอลุ่มในการขาย
เริ่มที่ บางจาก ที่ปักหมุดร้านกาแฟอินทนิลขึ้นมาถึง 457 สาขา และเข้าแทรกในตลาดร้านกาแฟระดับพรีเมียมด้วยแบรนด์ “อินทนิล การ์เด้น” ได้อีกกว่า 40 สาขา ปัจจุบันอินทนิลสร้างรายได้ให้บางจากในกลุ่มนอนออยล์ถึง 70% และมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนภายในสิ้นปี 2561 ประมาณ 600 สาขา
พีทีจี เป็นอีกค่ายที่วางโรดแมปของธุรกิจกาแฟผ่านการสร้างแบรนด์ “พันธุ์ไทย” มีจำนวนสาขาขณะนี้ 150 แห่ง และวางแผนจะเปิดสาขาใหม่ปีละ 200 สาขา โดยจะรุกทั้งสาขาในและนอกปั๊ม
นอกจากนี้พีทีจีได้ซื้อกิจการของ คอฟฟี่เวิลด์ (Coffee World) ในประเทศไทยที่มี 100 สาขาผ่านบริษัทลูกอย่าง บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ปิดดีลที่ 205 ล้านบาท และตั้งเป้าจะขยายเป็น 140 สาขา ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นธุรกิจพรีเมียมเพื่อผลักดันรายได้ในส่วนของธุรกิจนอกปั๊มน้ำมัน
ส่วน เชลล์ พัฒนาร้านกาแฟ เดลี่ คาเฟ่ (delicafé) ซึ่งเชลล์ทั่วโลกจะมีร้านเดลี่ คาเฟ่ แต่ในไทยจะแตกต่างเพราะเป็นแห่งแรกของโลกที่ชูคอนเซ็ปต์ Breathing Space to Recharge ซึ่งลูกค้าสามารถพักผ่อน ดื่มกาแฟและขนมสูตรเฉพาะ โดยมีแผนจะเปิดร้านเดลี่ คาเฟ่ ปีละอย่างน้อย 30 สาขา จากตอนนี้มีอยู่ 55 สาขา
ในปีที่ผ่านมาเชลล์ลงทุนขยายร้านเดลี่ คาเฟ่ใหม่รวม 26 แห่ง จากที่ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นทำให้เชลล์จัดตั้งทีมเพื่อมาดูแลธุรกิจกาแฟโดยเฉพาะ และตั้งเป้า “สร้างแบรนด์” ให้เป็นที่รู้จักให้มากขึ้น ล่าสุดเดลี่ คาเฟ่ได้เพิ่มรูปแบบไดรฟ์ทรู เพื่อความสะดวกพร้อมกับขยายผลิตภัณฑ์กาแฟแบบขวดพร้อมดื่ม หรือ “เดลี่ทูดริ้งก์” (Deli to Drink) ออกมาทำตลาด ราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 45 บาท/ขวด โดยกาแฟเดลี่ทูดริ้งก์จะเน้นไปที่ความสดใหม่ ไม่ใส่สารกันบูดและได้รสชาติกาแฟที่แท้จริง
การวางเกมรุกเพื่อขยายฐานรายได้ของธุรกิจร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันขณะนี้ ได้ก้าวข้ามจากยุคของธุรกิจรองสู่ธุรกิจหลักในฐานะแม็กเนตที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการ เพราะทุกค่ายต่างพยายามเพิ่มจำนวนสาขา สร้างบรรยากาศให้สวยงามแตกต่าง พัฒนาเมนูหลักและรองให้มีความโดดเด่นไม่แพ้ร้านกาแฟแบรนด์ดัง
ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนถึงความดุเดือดทางธุรกิจแล้วยังบ่งชี้ถึงไลฟ์สไตล์และรสนิยมการดื่มกาแฟ รวมถึงการให้ความสำคัญกับแบรนด์ของคนไทยได้เป็นอย่างดี.