จะดีแค่ไหนถ้าทัมไดรฟ์ขนาดจิ๋วนอกจากบันทึกไฟล์ได้หลายขนาด และยังบรรจุหนัง หรือ เพลงที่โหลดมาได้ โดยไม่ต้องพกพาอุปกรณ์หลายชิ้นให้วุ่นวาย แนวคิดนี้เอง ได้กลายเป็นไอเดียพัฒนาทัมไดรฟ์อเนกประสงค์รูปแบบใหม่มีชื่อว่า port 3.0 ที่ทำให้ สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล, พรชนก โสภณเกียรติกุล และ ศศิรัตน์ กิตติจูงจิต นักศึกษาชั้นปี 2 เอกการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของทีม Varsity คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดยธนาคาร HSBC ซึ่งมีโจทย์ว่า ต้องเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นของใหม่ยังไม่มีใครคิด ช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลก สำคัญคือ ต้องมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
ทั้งสามเล่าว่า แรงบันดาลใจในการคิดนั้นมาจากเรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งสามสังเกตว่า ชีวิตประจำวันของวัยรุ่นที่ชอบโหลดหนัง โหลดเพลง แต่ยังขาดอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการใช้งานหลายอย่างพร้อมกัน
port 3.0 จึงเป็นทั้ง ทัมไดรฟ์ เก็บไฟล์ ด้วยความจุที่มีให้เลือกคือ 32 GB และ 64 GB อย่างที่สองเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย ใช้ได้ทั้ง Wi-Fi, Bluetooth ยังเป็นอุปกรณ์ถ่ายโอนข้อมูล ดาวน์โหลด และอัพโหลดได้ เช่น คนที่ชอบโหลดไฟล์จากเว็บ Bit Torrent สามารถใช้ port 3.0 โหลดไฟล์ทิ้งไว้ได้ทั้งคืน ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ชอบโหลดไฟล์ทางคอมพิวเตอร์แบบข้ามคืน โดยจะมาแทนที่ยูเอสบีพอร์ตในอนาคต
“เราออกแบบให้ส่งข้อมูลระหว่าง port 3.0 ได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เช่น ส่งไฟล์ให้เพื่อนโดยใช้สัญญาณบลูทูธ อาศัยหน้าจอโทรศัพท์มือถือในการออกคำสั่ง หรือถ้าจะใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ก็สั่งงานได้เหมือนกัน” สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล หรือปิงปอง อธิบายการใช้งานเบื้องต้น
แบตเตอรี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เมื่อโหลดบิตจะใช้เวลานานทำให้กินไฟ ทีม Varsity จึงแก้ปัญหา ตัดส่วนที่เป็นหน้าจอออก ทำให้เปิดทิ้งไว้ได้ 2 วัน โดยมีนาวิเกเตอร์บอกสถานะว่าแบตเต็ม แบตหมด หรือกำลังโหลด วิธีชาร์จแบตเหมือนโทรศัพท์มือถือ ขนาด และรูปลักษณ์ของ port 3.0 ถูกออกแบบให้มีขนาดใกล้เคียงกับโทรศัพท์มือถือ แต่บางกว่ามาก โดยมีให้เลือก 2 ขนาด ความจุ 32 GB ไว้ที่ 4,500 บาท ความจุ 64 GB 7,000 บาท
ทีม Varsity คาดการณ์ว่าปีแรกจะใช้เงินประมาณ 300,000 บาท ในด้านการจัดการและส่วนออฟฟิศ แต่ถ้ารวมค่า Operating Cost จะใช้เงินประมาณ 3,000,000 บาท ซึ่งปีแรกต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการพัฒนาโปรดักต์และการทำให้ตลาดรับรู้ ประมาณการไว้ต่ำที่สุดว่าเดือนแรกขายได้ 100 เครื่อง จากจำนวนการผลิต 400-500 เครื่อง
ลูกค้าเป้าหมายหลัก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ใช้งาน Social Networking และบล็อกเกอร์ เพราะกลุ่มนี้จะอัพโหลดรูปขึ้นเว็บเยอะมาก อุปกรณ์นี้ก็จะช่วยให้อัพโหลดรูปได้เร็วขึ้น กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ใช้ Bit Torrent ทำให้ไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์ไว้นานๆ และกลุ่มที่สี่ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งต้องมีการแชร์ไฟล์กันเยอะ และปัจจุบันก็นิยมส่งงานผ่านเว็บ
เมื่อตอบสนองการใช้งานออนไลน์ กลยุทธ์การตลาดของ port 3.0 ที่ทั้งสามวางไว้จะเน้นออนไลน์เป็นหลัก ให้ลูกค้าทดลองใช้ เพื่อให้เกิดกระแสบอกต่อ ในลักษณะของ Viral Marketing เพราะมองว่าโฆษณาแบบเดิมคนจะไม่ค่อยเชื่อ กิจกรรมทางการตลาดจะเน้นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ยูทูบ เพราะลูกค้าที่วางไว้ไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมไปถึงลูกค้าต่างประเทศ
“ที่สำคัญคือเรื่องการสร้างแบรนด์ port 3.0 ถ้าสร้างได้เร็ว สร้างได้ก่อน แบรนด์ก็จะติดตลาดก่อน โดยจะเจาะตลาดสิงคโปร์เป็นที่แรก เพราะที่นั่นคนรู้เทคโนโลยีเยอะ” พรชนกเล่าแผนการตลาดที่วางไว้ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในไทย แต่ยังมองถึงการส่งออก
“คาดว่าจะขายได้ต่ำสุด 100 เครื่อง ก็น่าจะมีกำไรอยู่ หลังจากนั้นจะทำให้เติบโตขึ้นปีละ 17% ตรงนี้คำนวณล่วงหน้าไว้แล้ว 5 ปี”
เจ้าของทีม Varsity เล่าว่า จุดเด่นที่ทำให้ได้รับคัดเลือกจากกรรมการ อยู่ที่การมีโอกาสทำธุรกิจได้จริง แม้จะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่เสียทีเดียว แต่ก็สามารถยอดผลิตภัณฑ์ได้ โดยได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นซีอีโอจากบริษัทไอที การตลาดว่า ต้องเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า และราคาไม่แพง
ไม่แน่ว่าเราอาจมี port 3.0 นวัตกรรมใหม่ ฝีมือนักศึกษาชาวไทยใช้งาน เพราะเร็วๆ นี้ ทั้งสามเตรียมนำ port 3.0 บินไปประกวดแผนฮ่องกงกันแล้ว หลังจากที่ได้โครงสร้างทางธุรกิจ และสินค้าให้รองรับการใช้งานได้เต็มรูปแบบตามคำแนะนำของกรรมการ
จุดสตาร์ทของ port 3.0
โครงการที่ส่งเข้าประกวด เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ ปีที่ 5
โจทย์ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นของใหม่ยังไม่มีใครคิด ช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลก สำคัญคือ ต้องมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
จำนวนผู้ส่ง 126 ทีม
Core Idea port 3.0 พัฒนาจาก ทัมไดรฟ์ ให้สามารถรองรับไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิยมดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ต
จุดเด่น ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่าง และมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
SWOT
Strength
-เป็นเจ้าแรกในตลาด
-มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
-มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมารวมกัน
-สินค้ามีแนวโน้มที่จะได้รับการแนะนำแบบปากต่อปากในระดับโลก (Global Buzz) ผ่านเว็บไซต์และบล็อก
Weakness
-ไม่สามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้
-สินค้ามีต้นทุนในการพัฒนาและมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงต้น
-ใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้างแบรนด์สูง
Opportunity
-ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
-ร่วมทุนวิจัยผลิตภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยของไทย
-เพิ่มไลน์สินค้าให้เป็นแบบ Mass Customization
Threat
-คู่แข่งที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีที่สูงกว่า
-สินค้าเทคโนโลยีมี Business Cycle สั้น หากไม่มีการวางแผนในระยะยาว