เปิดที่มา AIS – DTAC เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz

ในที่สุด กสทช.ก็ประสบความสำเร็จในการดึงให้ให้ค่ายมือถือเข้ามาร่วมประมูลคลื่นความถี่ หลังจากที่ กสทช.โดนเทไปแล้ว 1 รอบ ในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

โดยในวันที่ 8 สิงหาคม ดีแทคเป็นรายแรกที่เข้ามายื่นขอเข้าร่วมประมูลในเวลา 10.18 น. เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงเอไอเอส ที่ตามเข้ามายื่นในเวลา 13.09 น. โดยทั้ง 2 ค่ายเฉพาะเจาะจงว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เท่านั้น

ในขณะที่ค่ายทรู ได้ประกาศไปล่วงหน้าหนึ่งวันแล้วว่า ไม่ขอเข้าร่วมประมูล

วงการโทรคมนาคมคลื่นความถี่คืออาวุธสำคัญที่จะทำให้ค่ายใดค่ายหนึ่งนำหน้าอีกค่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนบริโภคคอนเทนต์ผ่านสื่อมือถือ ปริมาณความต้องการใช้คลื่นเพื่อนำมาให้บริการได้รวดเร็ว ดังนั้นทุกการเคลื่อนไหวของแต่ละค่ายต่อการประมูลคลื่นความถี่ ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งที่บ่งบอกกลยุทธ์ของแต่ละค่ายได้อย่างดีที่สุด

ดีแทค 5-10 เมก ขึ้นกับแผนปรับประมูลคลื่น 900 ใหม่

มีการคาดการณ์กันว่า ดีแทคจะประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวนตั้งแต่ 5-10 MHz จากราคาตั้งต้นที่ กสทช.ไว้ 5 เมกละ 12,486 ล้านบาท แต่จะต้องเคาะการประมูลอย่างน้อย 1 ครั้ง เคาะครั้งละ 25 ล้าน

หากดีแทค ประมูลหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 5 เมก จะต้องจ่ายวงเงินขั้นต่ำ 12,511 ล้านบาท หากประมูล 10 เมก วงเงินขั้นต่ำที่ กสทช.จะได้เท่ากับ 25,022 ล้านบาท รัฐบาลจะได้งวดแรก 50% จากวงเงินประมูลภายใน 90 วันหลังจากได้รับแจ้งให้เป็นผู้ชนะการประมูล

ที่สำคัญ ปัจจัยที่ดีแทคจะประมูลจำนวนเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการ กสทช.เกี่ยวกับคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.ต้องการนำออกมาประมูลด้วย ซึ่ง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า บอร์ด กสทช.จะประชุมในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เกี่ยวกับการจัดการย่านคลื่น 900 MHz เพื่อให้นำมาประมูลได้ โดยเป็นการรีบดำเนินการ ให้มีข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางก่อนที่จะมีการจัดการประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้

ดีแทค เป็นตัวละครสำคัญที่สุดของการประมูลคลื่นครั้งนี้ เพราะเป็นค่ายที่ขาดแคลนคลื่นย่านต่ำ 900 MHz และย่าน 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดอายุใช้งานในเดือนกันยายนนี้ ในขณะที่ยังมีลูกค้าอีกมากที่ยังต้องใช้งานบนคลื่น 1800 MHz

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งบอกว่า สำหรับคลื่น 1800 MHz นั้น ดีแทคจำเป็นต้องมี เพราะจำนวนลูกค้าที่ใช้งาน 4G มีมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยังมีมือถือที่รองรับการทำงานบนคลื่น 1800 MHz เท่านั้น โดยพบว่ามีประมาณ 41% เท่านั้นที่มีเครื่องที่รองรับคลื่น 2300 MHz ที่จะต้องกลายเป็นคลื่นหลักในการให้บริการ หากว่าไม่มีคลื่น 1800 MHz ให้บริการในสิ้นปีนี้

ดีแทคจึงจำเป็นต้องหาทางใช้คลื่น 1800 MHz อย่างต่อเนื่อง ด้วยการหวังว่าจะเข้าสู่มาตรการเยียวยา หากคลื่นยังไม่ได้มีการประมูล แต่เมื่อ กสทช.ออกมาประกาศว่าจะไม่ให้เข้าสู่มาตรการเยียวยาวอย่างเด็ดขาด พร้อมกับผ่อนปรนเงื่อนไข ซอยย่อยใบอนุญาต จากใบละ 15 เมก มาเป็น 5 เมก ดีแทคจึงตัดสินใจเข้าร่วมการประมูล พร้อมกับยื่นข้อเสนอขอให้ กสทช.พิจารณาให้เยียวยาการใช้งานบนคลื่น 850 MHz ที่มีลูกค้าใช้งานอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ดีแทค ยังต้องการคลื่น 900MHz ที่เป็นคลื่นย่านต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้กว้างไกล แต่ติดปัญหา ต้องลงทุนติดระบบป้องกันการกวนสัญญาณกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ขอสำรองการใช้คลื่นในย่านติดกันนี้เท่านั้น

ดังนี้ ดีแทค ได้ออกมาข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเงื่อนไขคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz 3 ข้อ ข้อแรก เสนอให้รถไฟฟ้าย้ายการใช้คลื่นความถี่จาก 900 MHz ไปอยู่ในย่านคลื่นความถี่ 450 MHz บนเทคโนโลยี LTE-R ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ใน 2 ปีข้างหน้า ดีกว่าใช้เทคโนโลยี GSM-R ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 450-470 MHz ของทีโอที ที่ครอบครองคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่

2.ให้รถไฟฟ้าใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ดังเดิม แต่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องรับผิดชอบติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่เอง (filter) ซึ่งอาจจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) หรือเงินที่ได้จากการประมูลแทน

3.หากต้องการใช้คลื่นย่าน 900 MHz ควรจะย้ายคลื่นความถี่ดังกล่าวไปอยู่ปลายสุดของช่วงคลื่นความถี่โดยไม่ให้ช่วงคลื่นความถี่ติดกับผู้ให้บริการรายใด

เอไอเอส 5 เมกขั้นต่ำ

เอไอเอส คลื่นที่ใช้งานอยู่จำนวน 55 เมก รองรับฐานลูกค้า 40 ล้านราย ในจำนวนนี้ คลื่น 1800 MHz อยู่ที่ 15 เมก เอไอเอสเองจึงไม่มีความจำเป็นมากเท่ากับดีแทค แต่เมื่อกสทช.เปลี่ยนกฎประมูลใหม่ ที่เอื้อให้กับเอไอเอส โดยจะให้ความคุ้มครองค่ายที่มีคลื่น 1800 MHz ที่ใช้งานอยู่แล้ว และมาร่วมประมูลในครั้งนี้ สามารถเลือกย่านคลื่นใหม่ในการประมูล ให้อยู่ติดกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นให้เป็นแถบเดียวกันได้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในทางเทคนิค เอไอเอสจึงต้องการคลื่นอีก 5 เมก รวมกับคลื่น 1800 MHz ที่มีอยูเดิม รวมเป็น 20 เมก ทำให้สามารถจับคลื่นคู่ ขยายแบนด์วิดท์ได้สูงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เอไอเอสสามารถเดินหน้าลุยโปรโมต คอนเทนต์บนมือถือได้อย่างเต็มที่

สอดคล้องกับที่วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กรของเอไอเอสได้บอกไว้ว่า สาเหตุที่เอไอเอสเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นอนาคตการเติบโตของตลาดโทรคมนาคม ในการใช้คลื่นความถี่ไปพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆเพื่อให้บริการลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกัน

โดยที่เอไอเอสประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเข้าร่วมประมูลต่อเมื่อดีแทคเข้าร่วมประมูลด้วย เพราะหากดีแทคไม่เข้าประมูล ก็มีแนวโน้มว่าราคาคลื่นอาจจะลดลงได้อีก เมื่อดีแทคส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าเข้าประมูลแน่ เอไอเอสจึงรีบจัดทำเอกสารเข้าร่วมการประมูลทันที

ทรู ภาระการเงินยังหนัก ไม่ประมูล

ทรูเป็นรายเดียวที่ไม่เข้าร่วมประมูล เพราะยังมีคลื่นพอเพียงจำนวน 55 เมก ในขณะที่มีลูกค้าอยู่ที่ประมาน 27 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังทรูได้พยายามเรียกร้องขอยืดชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่กำลังเป็นภาระหนักอึ้งของทรู ที่ประมูลมาในวงเงิน 76,298 ล้านบาท หากว่าทรูเข้าร่วมประมูลในรอบนี้ ก็อาจถูกมองว่า สามารถหาเงินมาประมูลได้ จะขัดกับข้อเสนอการขอยืดชำระงวดการประมูล ทรูจึงเลือกไม่เข้าประมูล พร้อมตั้งความหวังไว้กับการขอผ่อนผันการชำระค่าคลื่น 900 MHz ต่อไป

นักวิเคราะห์บอกว่า ปัญหาใหญ่ของทรูตอนนี้คือ Net debt to EBITDA สัดส่วนหนี้สินสุทธิ ต่อ กำไรในการดำเนินงานก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม ที่เป็นตัวชี้วัดถึงช่วงระยะเวลาการคืนหนี้ ที่ตอนนี้อยู่ที่ 3.3 เท่าแล้ว และคาดว่าจะขึ้นไปสูงถึง 4.5 เท่า ภายในปี 2563

นอกจากนี้ ทรูมีอยู่ทั้งหมด 55 เมก เป็นคลื่นย่านต่ำ 840-900 MHz ถึง 25 เมก มากกว่าคู่แข่ง และมีคลื่นย่านสูงที่ให้บริการอีก 30 เมก เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าที่ให้บริการอยู่ยังน้อยกว่าเอไอเอส ที่มีอยู่กว่า 40 ล้านราย จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นเพิ่มเติม

กลุ่มทรูได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการประมูลคลื่นครั้งนี้อย่างรอบคอบแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าไม่ควรเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้

กสทช.ได้เงินเข้ารัฐอย่างน้อย 25,022 ล้านบาท

ในขณะที่ กสทช.เอง ต้องการให้เกิดการประมูลเพื่อหาเงินส่งรัฐได้ตามที่มีการตกลงกับรัฐบาล เนื่องจากรายได้จากการประมูลคลื่นกลายเป็นรายได้หลักของประเทศไปแล้ว

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กสทช.มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่มาแล้ว 5 ครั้ง เป็นคลื่นโทรทัศน์ 1 ครั้ง และโทรคมนาคม 4 ครั้ง บนคลื่น 2100, 1800 และ 900 จำนวน 2 ครั้ง นำส่งรายได้เข้ารัฐไปแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่รวมรายได้จากการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 2559 และ 2558 อีกจำนวน กว่า 1.3 แสนล้านบาท ที่จะทยอยจ่ายในปี 2562-2563

ในการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบนี้ กสทช.จะได้เงินอย่างน้อยรวมกันที่ 25,022 ล้านบาท หากเอไอเอสและดีแทคประมูลรายละ 5 เมก.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง