Adidas ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2018 เพิ่มขึ้น 20% เป็น 418 ล้านยูโร (1.6 หมื่นล้านบาท) ตัวเลขนี้สูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เบื้องต้น Adidas มั่นใจว่าจะสามารถเข็นให้ Reebok กลับมาทำกำไรได้ในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ส่งให้มูลค่าหุ้น Adidas เพิ่มขึ้นทันทีหลังการประกาศ
กำไรของ Adidas ในไตรมาสล่าสุดที่เพิ่งจบไปนั้นสูงกว่านักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 387 ล้านยูโร ที่น่าสนใจคือ Adidas แสดงความมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถเติบโตตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ แม้จะมีปัจจัยลบอย่างการแข่งขันและเสียค่าเสื่อมราคาในแบรนด์ Reebok ที่กำลังดิ้นรนสร้างจุดยืนในตลาด
Kasper Rorsted ซีอีโอ Adidas ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่าการทำให้ Reebok กลายเป็นธุรกิจที่ไม่ขาดทุนติดตัวแดงใน 2 ปีถือเป็นเป้าหมายหลักของบริษัท ซึ่งจะมีความหมายกับตลาดที่ Adidas มีการเติบโตช้า หรือมีรายได้ลดลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความมั่นใจนี้ทำให้หุ้น Adidas พุ่งขึ้นกว่า 9% หลังจากที่หุ้นขึ้น 14% ตลอดช่วงปีนี้
ยอดขายเพิ่มกว่าที่คาด
Adidas นั้นเป็นบริษัทเสื้อผ้ารองเท้ากีฬาสัญชาติเยอรมัน และเพิ่งเปลี่ยนตัวซีอีโอเป็น Kasper Rorsted เมื่อปี 2016 แม้ว่า Adidas จะถ่อมตัวเตือนผู้ถือหุ้นหลายครั้งว่าบริษัทอาจทำกำไรได้น้อยลง แต่ผลประกอบการล่าสุดสะท้อนว่า Adidas กำลังทำกำไรมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะในแง่ของยอดขายที่เพิ่มขึ้น
หากมองนอกเหนือจากกำไรสุทธิ 418 ล้านยูโร ที่เพิ่มขึ้น 20% ไตรมาสล่าสุด Adidas ระบุว่ายอดขายของบริษัทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่ามากกว่า 5.3 พันล้านยูโร สูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 5.2 พันล้านยูโร โดยยอดขาย 5.3 พันล้านยูโรนี้คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแล้ว ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 8%
อย่างไรก็ตาม ยอดขายนี้ยังถือว่าตามหลังคู่แข่งอย่าง Nike สัญชาติสหรัฐฯ ชัดเจน ขณะเดียวกัน Adidas ยังต้องรับภาระการด้อยค่าของสินทรัพย์แบรนด์ Reebok หลักร้อยล้านยูโร (ตัวเลข 3 หลัก) หลังจากที่คณะกรรมการกำกับดูแลรายงานทางการเงินของเยอรมัน German Financial Reporting Enforcement Panel ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคำนวณมูลค่าตามบัญชีของ Adidas ในอดีต
จุดนี้ Adidas ย้ำว่าการคำนวณบัญชีย้อนหลังนี้จะไม่มีผลต่อตัวเลขผลประกอบการตลอดปีนี้
ขายดีในจีน
เมื่อถามซีอีโอ Adidas ถึงความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซีอีโอ Rorsted ยอมรับว่าผลกระทบจะตกอยู่ที่ห่วงโซ่อุปทานของ Adidas ส่วนหนึ่ง แต่หากตัวเลขรายได้ของคอนซูเมอร์อเมริกันได้รับผลกระทบ จะถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่กว่ามาก หนึ่งในเหตุผลคือตลาดใหญ่ของ Adidas วันนี้คือจีนซึ่งมีสัดส่วนการเติบโต 27% สูงกว่าในภูมิภาคอเมริกาเหนือที่ Adidas ทำยอดขายเพิ่มขึ้น 16% เท่านั้น
ยอดขายเหล่านี้อาจเป็นผลจากการทำการตลาดช่วงบอลโลก เพราะ World Cup ดันให้การใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 13.5% ของยอดขาย จาก 12.3% จุดนี้ Rorsted ย้ำว่า Adidas สามารถขายบอลได้มากกว่า 8 ล้านชุดตลอดมหกรรมบอลโลก แม้ว่าประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจาก Nike จะเข้ารอบชิงแชมป์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จนทำให้ Adidas พลาดโอกาสที่จะทำกำไรเพิ่มขึ้น
การเติบโตของ Adidas ถือว่าเป็นไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับบริษัท สปอร์ตแวร์ บริษัทกลุ่มนี้ชี้ว่าได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยปลายเดือนที่แล้ว รายใหญ่อย่าง Under Armor ก็ประกาศรายได้ไตรมาส 2 ปี 2018 แข็งแกร่งเกินคาดเพราะยอดขายที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ (นอกสหรัฐฯ) ขณะที่ Nike ยังไม่มีคิวเปิดเผยตัวเลขรายได้ล่าสุด จนกว่าจะถึงปลายเดือนกันยายนที่จะถึงนี้.