ย้อนรอยคลื่นความถี่ รถไฟความเร็วสูง กสทช. เตรียมย้ายย่านคลื่นให้มือถือ ชงเงินส่งรัฐ

ปัญหาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังเป็น “เงื่อนปม” ที่ยังไม่ได้บทสรุป ล่าสุด กสทช.เตรียมชงเรื่องเสนอรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในย่าน 800-900 MHz ใหม่ เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลในกิจการโทรคมนาคม ที่จะมีมูลค่าสูงกว่า และสามารถนำเงินก้อนใหญ่ส่งรัฐบาลได้ชัดเจนมากกว่า หลังจากที่ล้มเหลวในการเปิดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz

เมื่อย้อนรอยดูการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการรถไฟความเร็วนั้น พบว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดทำแผนการใช้คลื่นความถี่ในย่าน 800-900 MHz โดยระบุว่า ย่านนี้จะเป็นย่านที่จัดสรรไว้สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญได้จัดสรรให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง ตามที่กระทรวงคมนาคมขอมาด้วย

โดยกิจการมือถือนั้น เดิมมี กสท.โทรคมนาคม หรือ CAT Telecom เป็นเจ้าของทั้งส่วนที่เป็นสัมปทานกับดีแทค ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2561 จำนวน 10 MHz และส่วนที่ CAT ให้กลุ่มทรูเป็นพาร์ตเนอร์ ทำเครือข่าย 3G จำนวน 15 MHz โดยจะสิ้นสุดการใช้คลื่นภายในปี 2568

ส่วนกิจการ PPDR นั้น กสทช.จัดสรรให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐไปใช้ในโครงการระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัล 4จี ของเครือข่ายตำรวจ ที่มีรายการข่าวก่อนหน้านี้ว่า สตช.ใช้งบประมาณลงทุนในโครงการนี้เฟสแรกถึง 3.5 พันล้านบาท

ในขณะที่กิจการ Trunked Radio นั้น มีการจัดสรรย่านคลื่น 806-814 MHz , 851-859 MHz  สำหรับกิจการนี้ และย่าน 920-925 MHz สำหรับกิจการ RFID และ Internet of Things (IoTs )

สำหรับกิจการรถไฟความเร็วสูงนั้น ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคมนั้น ช่วงแรก มีทั้งหมด 4 เส้นทาง คือ

  1. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีน
  2. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. จะใช้เทคโนโลยีรถไฟชินคันเซ็น ประเทศญี่ปุ่น
  3. กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม.
  4. กรุงเทพฯ-ระยอง 193.5 กม.

กสทช.ได้จัดทำแผนคลื่นสำหรับกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ตามคำขอของกระทรวงคมนาคม โดยมีการจัดสรรย่านคลื่นไว้ 2 ย่าน โดยเข้าที่ประชุมบอร์ดดีอีไปแล้วคือ

  • ย่านความถี่ 400 MHz สำหรับกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบญี่ปุ่น หรือชินคันเซ็น
  • ย่านความถี่ 800-900 MHz สำหรับกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบจีน

หลังจากจัดสรรย่านคลื่นเรียบร้อย กสทช.วางแผนเบื้องต้นว่า คลื่นที่เหลือจากการจัดสรรให้กับรถไฟฟ้าความเร็วสูงเหลือเพียง 5 MHz เท่านั้น จึงไม่เห็นสมควรนำมาเปิดประมูล

อย่างไรก็ตาม เมื่อกสทช.ล้มเหลวจากการเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่มีค่ายมือถือเข้าประมูล โดยเฉพาะ ดีแทค ที่ถูกคาดหมายว่าน่าจะเข้าประมูล แต่ดีแทคกลับไม่เข้าประมูล เพราะดีแทคนั้นต้องการคลื่นย่านต่ำ โดยเฉพาะย่าน 800-900 MHz ใช้ในการขยายพื้นที่การให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คลื่นย่านสูงที่เหมาะสำหรับในเมือง ซึ่งดีแทคมีคลื่น 2300 MHz อยู่แล้ว

กสทช.จึงเปลี่ยนใจ นำคลื่นย่าน 800-900 MHz ที่จะว่าง 5 MHz หลังดีแทคหมดสัมปทาน มาประมูลทันที เพราะคิดว่ายังไงดีแทคก็ต้องเข้าประมูล ประกอบกับราคาประมูลตั้งต้นที่กำหนดไว้ อยู่บนพื้นฐานราคาที่ทั้งเอไอเอสและทรูเคยประมูลมา น่าจะเป็นการการันตีรายได้อย่างน้อย 37,988 ล้านบาท ที่ กสทช.จะได้นำส่งรัฐบาลตามที่ผู้บริหารกสทช.ได้ตกปากรับคำกับรัฐบาลว่า กสทช.พร้อมสนับสนุนภาครัฐในการส่งเงินช่วยเหลืองบประมาณของรัฐ

แต่ กสทช.ก็ต้องผิดหวัง เมื่อดีแทคตัดสินใจไม่ยื่นประมูล เพราะยืนยันว่าไม่คุ้มกับการประมูล ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกมหาศาลในการติดระบบป้องกันการกวนสัญญานทั้งกิจการรถไฟความเร็วสูง และคลื่นที่ค่ายมือถืออื่นๆ ใช้อยู่ พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้ กสทช.ย้ายคลื่นกิจการรถไฟไปใช้คลื่นย่านอื่นแทน

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค ได้เสนอทางออกให้ กสทช.กับกรณีคลื่นย่านนี้ว่า เสนอให้การรถไฟย้ายย่านคลื่นในกิจการรถไฟความเร็วสูงออกไปอยู่ที่คลื่นย่าน 450 MHz ที่รองรับเทคโนโลยี LTE-R ที่เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า สำหรับกิจการรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะ เพื่อนำคลื่นจำนวน 10 MHz ที่เหลืออยู่มาใช้ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เหมือนกันทั้งหมด เพื่อไม่มีปัญหาการกวนกันอีกต่อไป

เมื่อดีแทคยื่นข้อเสนอมาเช่นนี้ ทำให้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.เร่งรีบหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คลื่น 900 MHz ขายออกทันที โดยเฉพาะแนวทางย้ายคลื่นรถไฟออกไป

เปิดเงื่อนไขใช้คลื่นรถไฟ หากไม่ใช้ภายในปี 2563 ถือว่าสิ้นสุด

ตามข้อตกลงของ กสทช.ทำไว้กับกระทรงคมนาคม ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าย่านคลื่น 800-900 MHz เป็นย่านคลื่นสำหรับเทคโนโลยี Global Systems for Mobile Communication – Railway หรือ GSM–R แต่หากกระทรวงคมนาคมยังไม่มีการลงนามในสัญญาดําเนินการใช้งานอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคม ขนส่งทางรางซึ่งใช้งานคลื่นความถี่ 885-890 / 930-935 MHz ภายในปี 2563 ให้ถือว่าการจัดสรรนี้สิ้นสุดลง ซึ่ง กสทช.จะจัดสรรคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมต่อไป

เมื่อ กสทช.สอบถามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปที่การรถไฟฯ ในฐานะที่รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง ก็พบว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากโครงการนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลผุดโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทาง EEC ขึ้นมาแทน และถือว่าคืบหน้าที่สุด

โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “คณะกรรมการ EEC” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท และมีการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาซื้อซองประกวดราคาไปแล้ว มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองทั้งหมดถึง 31 ราย ซึ่งจะให้เวลายื่นซองในวันที่ 12 พฤศจิกายน และเปิดซองหาผู้ชนะการประมูลในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ แต่เส้นทางนี้ยังไม่ได้มีการระบุเทคโนโลยีเช่นเส้นทางที่การรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ

จึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่การรถไฟจะไม่สามารถดำเนินโครงการนี้ได้ก่อนปี 2563 ที่เป็นข้อตกลงเบื้องต้น แต่ กสทช.ก็ไม่ต้องการใช้ระยะเวลารอให้ยาวเนิ่นนานไปกว่านั้น เพราะยิ่งช้า จะมีผลต่อรายได้จากการประมูลคลื่นที่ควรจะนำเข้ารัฐ จึงมีการประสานงานกับรัฐบาล ที่จะให้คมนาคมทำเรื่องยกเลิกการใช้งานคลื่นย่านนี้เข้ามา จนกว่าจะมีการศึกษาความคืบหน้าโครงการรถไฟ ซึ่งอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยกว่า ในคลื่นย่าน 450 MHz

นอกจากนี้ กสทช.พบว่า ตามประกาศ กสทช.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ในแผนการใช้คลื่นย่าน 450 -470 MHz พบว่าปัจจุบันนี้ มีการใช้งานแบบวิทยุสื่อสารหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ที่เป็นระบบ Trunked Radio โดยมีข้อตกลงว่าให้ทุกรายที่ใช้งานอยู่ต้องย้ายออกไปภายในปี 2563 กว่าการรถไฟจะได้ทำโครงการอีกที ก็คงพอดีกับการที่หน่วยงานต่างๆ ย้ายออกพอดี จึงไม่น่ามีปัญหาสำหรับการใช้งานบนคลื่นย่านนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ กสทช.เชื่อว่า หากเคลียร์ทุกอย่างลงตัวตามแผน ก็จะสามารถนำคลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz มาเปิดประมูลได้ อย่างเร็วที่สุดภายในปีหน้า โดยที่ กสทช.จะการันตีต่อรัฐบาลว่า จะมีเงินอีกอย่างน้อยเกือบ 4 หมื่นล้าน จากการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz หรือกว่า 7 หมื่นล้าน จากคลื่น 10 MHz โดยตั้งความหวังว่า ดีแทคจะเข้าร่วมประมูลด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ยังไม่เกิด อีกทั้งดีแทคเองก็ไม่ได้แสดงความชัดเจนว่าหาก กสทช.เคลียร์ทุกอย่างตามที่ดีแทคเสนอแล้ว ดีแทคจะเข้าร่วมประมูลด้วย เพราะจะต้องพิจารณาสถานการณ์ ณ ขณะนั้นประกอบด้วย

นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบของ กสทช. ว่าจะเล่นตามเกมเอกชน หรือจะสามารถพลิกกลับมาเป็นผู้คุมกฏจริงๆ ตามกฎหมายได้บ้างหรือไม่.