“CP” พร้อมเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูง 24 ต.ค. นี้

CP แจ้งพร้อมเซ็นสัญญา “รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน” 24 ต.ค. ขณะที่เร่งคณะทำงานฯ ทำแผนส่งมอบพื้นที่ และเตรียมเปิดเผยร่างสัญญาและเอกสารแนบท้าย ยันรัฐเริ่มจ่ายค่าร่วมทุนหลังสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่าจะมีการลงนามสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 24 ต.ค. 2562 เวลา 13.30 น. ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธาน

ทั้งนี้เร็วกว่ากำหนดเดิมวันที่ 25 ต.ค. 2562 เนื่องจากทางกลุ่ม CPH แจ้งว่ามีความพร้อมก่อน ซึ่งไม่มีปัญหาทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ การลงนามสัญญาเป็นการแจ้งว่าโครงการได้เริ่มต้นแล้ว ซึ่งคณะทำงานกำกับดูแลในการทำแผนส่งมอบพื้นที่ที่มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะมีแผนรายละเอียดในการส่งมอบพื้นที่ และเร่งรัดกระบวนการในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจน

นายศักดิ์สยามยืนยันว่า “การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมยึดหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งหลังลงนามสัญญาโครงการกับเอกชนแล้วจะนำรายละเอียดสัญญาทั้งหมด และเอกสารแนบท้ายให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ เพื่อช่วยกันตรวจสอบว่ามีอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ เพราะคิดว่าวันนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น ประเด็นการปรับร่างสัญญาหลัก หรือเขียนเงื่อนไขที่เอื้อเอกชนนั้นยืนยันว่าไม่มี ซึ่งก่อนที่จะกำหนดวันลงนามสัญญานั้นได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะกรรมการอีอีซี ในเรื่องแผนการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งช่วงนั้นกระทรวงคมนาคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่เอาเปรียบเอกชน แต่พอกำหนดวันลงนามสัญญาได้ข่าวก็เปลี่ยนเป็นเอื้อเอกชนอีก ซึ่งขอยืนยันว่าการดำเนินงานยึดความชัดเจนของเอกสารและเอกสารแนบท้าย ซึ่งได้กำชับไปยังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องยึดกฎหมายและเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal) ไม่ให้มีอะไรขาดหรือเกิน”

ส่วนการชำระเงินในส่วนที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 149,650 ล้านบาท โดยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐจะเริ่มจ่ายเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และเริ่มการให้บริการ อย่ากังวลทุกอย่างเป็นไปตาม RFP และกฎหมาย โครงการนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่อีอีซี

Source