“รถไฟความเร็วสูง” สายแรกของ “อินโดนีเซีย” เส้นทาง จาการ์ตา–บันดุง จ่อเข้าสู่ช่วงทดสอบเดินรถในเดือนสิงหาคมนี้ โดยรถไฟสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการ “หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน
PT KCIC กิจการร่วมค้าระหว่างบริษัทสัญชาติอินโดฯ กับบริษัทจีน ประกาศว่า รถไฟความเร็วสูงสาย จาการ์ตา-บันดุง กำลังจะเริ่มทดสอบเดินรถและเปิดให้ผู้โดยสารทั่วไปทดลองใช้ในวันที่ 18 สิงหาคม 2023 อย่างไรก็ตาม วันเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้กำหนดขึ้น
“นี่จะเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์การรถไฟของอินโดนีเซีย เมื่อเราเริ่มเดินรถไฟความเร็วสูง” Emir Monti โฆษกบริษัท PT KCIC กล่าวในแถลงการณ์ครั้งนี้
รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุงนั้นมีระยะทาง 142 กิโลเมตร ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงครึ่งหากนั่งรถไฟความเร็วปกติ แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงที่ทำความเร็วถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยย่นระเวลาเดินทางเหลือเพียง 34-45 นาทีเท่านั้น
การแถลงตอกย้ำวันเริ่มทดสอบเดินรถอีกครั้งของบริษัท คาดว่าเป็นการตอบโต้ข่าวลือ เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน Reuters รายงานข่าวอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า กระทรวงคมนาคมและที่ปรึกษา 3 รายได้ให้คำแนะนำกับกิจการร่วมค้ารายนี้ว่ายังไม่ควรเริ่มบริการรถไฟสายนี้ในเดือนสิงหาคม เพราะสถานีบางส่วนยังไม่เสร็จเรียบร้อยและยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้น
ในประเด็นนี้ Monti ระบุว่าบริษัทจะทำตามกฎระเบียบทั้งหมดของกระทรวงคมนาคม และระบุว่าบริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนขอใบรับรองจากกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ถือว่าล่าช้าจากกำหนดเดิมไปแล้วถึง 4 ปี และการก่อสร้างก็ใช้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้งบประมาณการลงทุนสูงขึ้นไปแตะ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
ความล่าช้าของโครงการนี้เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดิน การหาเงินทุน และปัญหาเชิงเทคนิคต่างๆ
ท่ามกลางข่าวลือแพร่สะพัดว่ารถไฟสายนี้จะยังไม่เสร็จเรียบร้อยทันกำหนด แต่ Luhut Pandjaitan รัฐมนตรีกระทรวงกิจการการเดินเรือและการลงทุน ได้ประกาศตอกย้ำในรัฐสภาไปแล้วว่า รถไฟพร้อมแล้วที่จะทดสอบที่ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขอให้สมาชิกรัฐสภาอย่าฟังข่าวลือ
เจรจาดอกเบี้ยและบุคลากรยังไม่จบ
รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุงถือเป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบาย “หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของรัฐบาลจีน ซึ่งตั้งงบประมาณไว้กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้เงินทุนสนับสนุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก
โครงการนี้จึงถือเป็น ‘โชว์เคส’ ของจีนในการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและช่วยแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียน โดยจีนจะต้องแข่งขันกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงมาเนิ่นนาน
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของโครงการและงบที่บานปลายก็ทำให้เกิดความยุ่งยากใหม่ขึ้นมา และส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์
เนื่องจากโครงการนี้มีการกู้เงินจาก China Development Bank ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลจีน โดยจีนคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3.4% แต่ทางรัฐบาลอินโดฯ ร้องขอให้จีนทบทวนดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เกินจากงบประมาณให้ลงมาเหลือ 2% ปัจจุบันการเจรจาเรื่องดอกเบี้ยยังคงไม่สิ้นสุด
ขณะที่ย้อนกลับไปในปี 2021 ประธานาธิบดี Joko Widodo แห่งอินโดนีเซีย ตัดสินใจที่จะอัดฉีดเงินจากรัฐบาล 200 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือเรื่องงบบานปลาย แม้ก่อนหน้านี้ Widodo เคยให้สัญญาว่าโครงการนี้จะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ
- จีนปั้นแผน 5 ปี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ทั้งทางด่วน รถไฟความเร็วสูง สนับสนุน GDP โตเพิ่ม
- ไม่ใช่แค่บาหลี! “อินโดนีเซีย” วางแผนโปรโมต 5 จุดหมายใหม่ ขยายเวลาเที่ยวต่อทริป
ด้าน AidData บริษัทวิจัยด้านการพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ มีการวิจัยเมื่อปี 2021 พบว่าอินโดนีเซียมี “หนี้ที่ซ่อนไว้” จากการกู้เงินรัฐบาลจีนประมาณ 17,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่กล่าวว่าซ่อนไว้เพราะการให้กู้ส่วนใหญ่ของจีน 70% จะให้กู้แก่รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน มิได้ให้กู้กับรัฐบาลกลางโดยตรง ดังนั้น หนี้ส่วนนี้จะไม่ปรากฏบนงบประมาณของรัฐบาล
ด้านบุคลากรที่ใช้ในโครงการนี้ Adhi Priyanto ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล KCIC กล่าวยืนยันว่าบริษัทได้ร้องขอให้รัฐบาลอินโดฯ พิจารณาอนุญาตให้เพิ่มจำนวนพนักงานจากต่างประเทศในโครงการนี้
โดย Adhi กล่าวว่า ทางจีนจะส่งพนักงานจีนมาบริการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา–บันดุงให้ก่อนในช่วงปีแรกที่เปิดบริการ เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ ก่อนที่จะทยอยส่งมอบตำแหน่งงานครึ่งหนึ่งให้ชาวอินโดนีเซียในปีที่สอง และตั้งแต่ปีที่สามเป็นต้นไปจะใช้บุคลากรอินโดนีเซียทั้งหมด เขาย้ำด้วยว่าการจัดการรูปแบบนี้ถือว่าดีขึ้นจากข้อเสนอเดิมที่จะต้องคงพนักงานชาวจีนไว้ทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปีหลังเริ่มเปิดบริการ