“ดีแทค” วอน กสทช. ยืดเวลารอความชัดเจนคลื่น 3500 MHz ก่อน “ประมูล 5G” จี้ราคาแพงเกินจริง

  • พรุ่งนี้เปิดประชาพิจารณ์ “ประมูล 5G” ดีแทคร้อง กสทช. ชะลอประมูลคลื่น 2600 MHz เพื่อรอความชัดเจนเงื่อนไขคลื่น 3500 MHz ซึ่งจะใช้บริการ 5G ได้เช่นกัน อาจนำมาประมูลร่วมรอบเดียว
  • เรียกร้องปรับกติกา เกลี่ยช่วงคลื่นให้ทุกรายมีโอกาสได้ครอบครองสิทธิ พร้อมทวงถามการถือครอง 20 MHz ที่หายไปของคลื่น 2600 MHz จะบริหารจัดการอย่างไร
  • มองราคาเริ่มต้นประมูล 5G ยังสูงเกินไป โดยสูงเป็นอันดับ 3 เทียบระดับโลก
  • แนะปรับเงื่อนไขวางเงินประกันสูงขึ้น ป้องกันนักปั่นราคาป่วนการประมูล

“มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค นำร่องเปิดเผยข้อมูลเตรียมเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค. 62) ในการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz 26 GHz ซึ่งตามกำหนดการจะมีการประกาศร่างประกาศฯ ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 ธ.ค. 62 เพื่อเปิดประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 63 ต่อไป

มาร์คุสชี้เป้าว่า การประมูลครั้งนี้จุดสำคัญอยู่ที่คลื่น 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับใช้บริการ 5G แต่ดีแทคเชื่อว่าการประมูลคลื่น 26 GHz อาจจะเลื่อนออกไปก่อนเพราะระบบเน็ตเวิร์กรองรับยังไม่พร้อม ดังนั้นการแข่งขันสำคัญจะอยู่ที่คลื่น 2600 MHz

คลื่น 2600 MHz ตามที่ กสทช. ประกาศเบื้องต้น ออกเงื่อนไขกำหนดการถือครอง 190 MHz แบ่งการประมูลเป็น 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาประมูลขั้นต่ำรวม 35,370 ล้านบาท หรือคิดเป็นใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศอายุ 15 ปี ซึ่งให้ผู้ร่วมประมูลสามารถประมูลและถือใบอนุญาตได้สูงสุด 10 ใบต่อราย

ประมูล 5G DTAC
“มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค

วอน กสทช. รอย่าน 3500 MHz ประมูลรอบเดียว

สำหรับข้อเสนอของดีแทคมีทั้งหมด 6 ข้อ ที่จะยื่นต่อ กสทช. ในวันพรุ่งนี้ โดย Positioning สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ขอให้ กสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาประมูลร่วมด้วยกับคลื่นความถี่ 2600 MHz เนื่องจากคลื่น 3500 MHz สามารถนำมาให้บริการ 5G ได้เช่นกัน และคลื่น 3500 MHz ให้ถือครองได้ 300 MHz เมื่อรวมกันกับคลื่น 2600 MHz ที่ให้ถือครอง 190 MHz แล้ว จะทำให้การจัดสรรประมูลเพียงพอสำหรับผู้เล่นหลัก 3-4 รายในตลาด เนื่องจากดีแทคมองว่า การบริการ 5G ให้มีประสิทธิภาพนั้นแต่ละรายควรมีคลื่นความถี่อย่างน้อย 100 MHz

นอกจากนี้ ดีแทคชี้แจงข้อดีของคลื่นความถี่ 3500 MHz ว่าเป็นระบบหลักที่ประเทศอื่นๆ ในโลกใช้สำหรับบริการ 5G ขณะที่คลื่น 2600 MHz มีผู้ใช้งานเพียงสองค่ายคือ China Mobile ในจีน และ Sprint ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น คลื่นที่มีผู้ใช้งานมากกว่าทำให้ค่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์กต่างๆ ถูกกว่า เป็นประโยชน์ในแง่การลงทุนเน็ตเวิร์ก

ประมูล-5G-แผนที่คลื่น

ปัจจุบัน คลื่น 3500 MHz อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาเดือนก.ย.64 และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) มีแผนจะนำคลื่นมาประมูลล่วงหน้าช่วงเดือนส.ค.63 อยู่แล้ว ทำให้ดีแทคมองว่า การประมูลคลื่น 2600 MHz สามารถรอประมูลรวมกับคลื่น 3500 MHz หรืออย่างน้อยคือรอจนกว่าเงื่อนไขการประมูลคลื่น 3500 MHz จะชัดเจน เพื่อให้บริษัทคิดคำนวณวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

“เรามองว่าการยืดช่วงเวลาไม่ได้นานมาก เพียง 2-3 เดือนจากกำหนดเดิม เชื่อว่าจะทำให้การประมูลและลงทุนคลื่น 5G ยั่งยืนกว่าการรีบร้อนเปิดประมูล” มาร์คุสกล่าว

ทั้งนี้ การบริการ 5G เป็นสิ่งที่ทั้ง 3 ผู้เล่นหลักคือ ดีแทค ทรู เอไอเอส ต่างทดลองให้บริการสร้าง use case กันมาตลอด โดย กลุ่มทรู มีพันธมิตรสำคัญคือ China Mobile ซึ่งถือหุ้น 18% เป็นอันดับ 2 ในบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นเหมือนพี่เลี้ยง เนื่องจากให้บริการ 5G ในประเทศจีนอยู่แล้ว และบริการบนคลื่นความถี่ 2600 MHz ด้วย

 

เกลี่ยการจัดสรรใหม่ให้ได้ใบอนุญาตถ้วนหน้า

ข้อสอง ที่ดีแทคเสนอคือ ต้องการให้ กสทช. ปรับกติกาประมูลคลื่น 2600 MHz ให้มีเพดานต่ำลงจาก 100 MHz ต่อราย มิฉะนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้เล่นที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 2 ราย

“ต้องการให้กระจายการถือครองและป้องกันการบิดเบือนตลาด ถ้ามีรายใดรายหนึ่งไม่ได้คลื่น 5G ลูกค้าของบริษัทนั้นจะเสียประโยชน์” มาร์คุสกล่าว

ข้อสาม เป็นข้อเรียกร้องต่อความชัดเจนในการรบกวนคลื่น เนื่องจาก กสทช. ระบุว่า ในคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz มีผู้ใช้งานอยู่ 20 MHz ดีแทคจึงต้องการความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการดึงคลื่นคืนมาร่วมประมูล หรือมีแนวทางป้องกันการรบกวนกันอย่างไร

ดีแทคไม่ได้ระบุว่าเจ้าของคลื่นช่วง 2600-2620 MHz ปัจจุบันเป็นหน่วยงานใด แต่แหล่งข่าวรายหนึ่งจากหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 5G ครั้งนี้ระบุว่าอยู่ในความครอบครองของกองทัพบก

 

แพงเกินไป! เรียกร้องลดขั้นต่ำ “ประมูล 5G” ลง

ข้อสี่ อีกหนึ่งจุดสำคัญคือดีแทคมองว่า ราคาใบอนุญาตเริ่มต้นใบละ 1,862 ล้านบาทของคลื่น 2600 MHz สูงเกินไป แม้จะลดลงจากเมื่อครั้ง กสทช. เปิดประมูลคลื่น 1800 MHz แต่ก็ยังสูงมากเมื่อเทียบกับราคาของประเทศอื่นๆ ราคานี้จะทำให้ไทยมีคลื่น 2600 MHz ราคาสูงอันดับ 3 ของโลกรองจากสิงคโปร์และอินเดีย โดยประเทศส่วนใหญ่เปิดประมูลที่ราคาต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต เช่น ไต้หวัน เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย แอฟริกาใต้

ประมูล-5G-กราฟราคาคลื่น

ส่วน ข้อห้า และ ข้อหก นั้นเป็นเรื่องระเบียบวิธีประมูล สืบเนื่องจากข้อสามซึ่งมีผู้ใช้งานคลื่น 2600 MHz อยู่ 20 MHz ดีแทคจึงขอให้เปลี่ยนวิธีประมูลจากการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งอาจทำให้ผู้ประมูลได้ช่วงคลื่นที่มีการใช้งานอยู่ไป ขอให้จัดวิธีประมูลที่เหมาะสมกว่านี้ และประเด็น การวางหลักประกัน ซึ่งปัจจุบัน กสทช. ให้วางเงินประกัน 10% ของราคาเริ่มต้น มองว่าน้อยเกินไป เกรงว่าอาจไม่สามารถป้องกันผู้ประมูลที่ไม่มีความตั้งใจจริงเข้ามาปั่นราคาได้

ข้อเรียกร้องข้อสุดท้ายนั้นสอดคล้องกับทั้งเอไอเอสและทรู ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกร้องกับ กสทช. ให้ป้องกันการปั่นราคาประมูลให้รัดกุมขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 62 ว่า รัฐจะผลักดันให้การประมูล 5G เป็นไปตามกำหนดการ และไม่กังวลหากเอกชนไม่สนใจร่วมประมูล เพราะเตรียมให้ กสท โทรคมนาคม (CAT) และทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย